"พิธา"ชี้ เบื้องหลังญัตติขวางแก้รัฐธรรมนูญ เพราะ รักษาอำนาจ "คสช." หวั่นเกิดวิกฤต

"พิธา"ชี้ เบื้องหลังญัตติขวางแก้รัฐธรรมนูญ เพราะ รักษาอำนาจ "คสช." หวั่นเกิดวิกฤต

ฝ่ายค้าน และส.ส.ร่วมรัฐบาล ชี้ญัตติส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพื่อรักษาอำนาจคสช. หวั่นเกิดขัดแย้ง และกลายเป็นวิกฤตรัฐธรรมนูญอีกรอบ

     ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภา ซึ่งพิจารณาญัตติด่วน เพื่อขอมติจากรัฐสภา ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2)  ซึ่งนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และนายสมชาย แสวงการ ส.ว. พร้อมคณะเสนอ ว่า การอภิปรายของสมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะ ฝั่งส.ส. คัดค้านการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เป็นที่สังเกตว่า การเข้าชื่อของสมาชิกรัฐสภา เพื่ออภิปรายญัตติ พบการปรับเปลี่ยน 

     โดยนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภ ฐานะประธานที่ประชุม แจ้งว่า ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ที่แจ้งชื่อเพื่ออภิปราย 7 คนได้ถอนชื่อ จึงเหลือ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ทั้งนี้ก่อนหน้านั้นนายสมชาย แสวงการ ส.ว.​แจ้งว่าส.ว.จะไม่อภิปรายแต่พบว่ามีการเสนอชื่อจำนวน 2 คน ทำให้ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน เสนอชื่อส.ส.เพื่ออภิปราย จำนวน 5 คน

     ทั้งนี้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายตั้งข้อสังเกตต่อการเสนอญัตติดังกล่าวว่าต้องการตัดทอนอำนาจของรัฐสภา เพื่อรักษารัฐธรรมนูญฉบับของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวมถึงอำนาจของคสช. และพวกพ้องตามกติกาที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ส่วนที่ระบุว่าอำนาจของรัฐสภาไม่สามารถทำใหม่ทั้งฉบับ และมีอำนาจเพียงแก้ไขรายมาตรานั้น จึงควรส่งศาลรัฐธรรมนูญ เท่ากับเป็นการกระทำที่ขยายอำนาจของตุลาการให้วินิจฉัยหน้าที่และอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ โดยส่วนตัวเชื่อว่าญัตติดังกล่าวนั้นคือความพยายามกินรวบอำนาจและจะทำให้บ้านเมืองถึงทางตัน

      ขณะที่นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา อภิปรายไม่เห็นชอบกับญัตติที่เสนอ เพราะคือการชักนำองค์กรอื่นให้วินิจฉัยในอำนาจของรัฐสภา ที่ทำหน้าที่โดยสุจริต ทั้งนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ​ที่รัฐสภาดำเนินการมีเหตุผลสำคัญคือเพื่อแก้วิกฤตการเมือง และความขัดแย้งที่มาจากที่มาและเนื้อหาไม่เป็นประชาธิปไตย รวมถึงไม่ตอบสนองปัญหาของประชาชน ในรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการปฏิบัติตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ดังนั้นควรปฏิบัติตามสัญญาที่ให้กับประชาชน อย่างไรก็ตามตนในฐานะเลขานุการกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 และเพิ่มหมวดว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  รัฐสภา  ยืนยันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่แล้วเสร็จและเตรียมเสนอต่อรัฐสภา ไม่มีประเด็นแอบแฝง หรือ ต้องการล้มล้างการปกครอง

161284538839

     “ผมมองว่าญัตติดังกล่าวสุ่มเสี่ยงจะทำให้เกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญ และทำให้เกิดการขัดขวางการตัดสินใจของประชาชนที่จะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามที่ขั้นตอนของรัฐธรรมนูญกำหนดให้ทำประชามติหลังจากผ่านวาระสาม อย่างไรก็ดีผมขอเสนอทางเลือก ว่ากรณีมีข้อสงสัยในรัฐธรรมนูญ ควรใช้กลไกมาตรา 256(9) คือก่อนการทูลเกล้าฯ สมาชิกรัฐสภามีสิทธิเข้าชื่อเพื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ไม่จำเป็นต้องเสนอญัตติให้ลงมติ หรือเอาเกียรติภูมิของสภาฯ ไปแลก“ นายนิกร กล่าว

       ทางด้านนายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว. อภิปรายสนับสนุนให้เสนอญัตติดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยได้ข้อยุติในความเห็นที่ขัดแย้งกัน ทั้งนี้ถือว่าเป็นเจตนาดี และเชื่อว่าเมื่อส่งญัตติดังกล่าวไม่ทำให้เกิดความเสียเปล่า หรือเสียหายจากความไม่แน่ใจ.

161284538836