จับตา '2พรรค' เขย่าเก้าอี้ ลุ้นผลพวงคดีเก่า '3รมต.'
ในจังหวะที่ "ธรรมนัส" บารมีใหญ่คับพรรค เทียบชั้น "พล.อ.ประวิตร" ที่ได้เสียงโหวตไว้วางใจเท่ากัน หนำซ้ำยังได้มากกว่า "นายกรัฐมนตรี" เสียอีก สปอตไลท์จึงส่อง ว่าเตรียมนั่ง "รัฐมนตรีว่าการ" ต่างจาก3รัฐมนตรี ที่ต้องลุ้นกับคดีที่ศาลกำลังจะตัดสิน
เมื่อจบศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ชอตต่อไปที่ถูกจับตาก็คือการ “ปรับคณะรัฐมนตรี”
ถึงแม้ว่าคะแนนเสียงไว้วางใจรัฐมนตรีแต่ละคนจะเกินกึ่งหนึ่ง แต่ก็ไม่อาจการันตีความมั่นคงของเก้าอี้เสนาบดีได้แต่อย่างใด เพราะยังมีปัจจัยอื่นที่กดดันควบคู่กัน
ความเคลื่อนไหวของพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะ “พลังประชารัฐ” (พปชร.) และ“ประชาธิปัตย์” (ปชป.) ที่เนื้อในไม่มีความเป็นเอกภาพ ส.ส.บางกลุ่มบางก๊วน ก่อคลื่นใต้น้ำสร้างแรงกระเพื่อมกันเองเป็นระยะ
นาทีนี้ ดุลอำนาจใน “พปชร.” ปฏิเสธไม่ได้ว่าอยู่ในมือ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” รมช.เกษตรและสหกรณ์ ผู้คุมเสียง ส.ส.ในพรรค มากกว่า 40 เสียง และตั้งเป้าจะขยับขึ้นชั้น “รัฐมนตรีว่าการ” ให้สมฐานะผู้มากบารมี
ไม่เพียงแต่มีอำนาจเหนือกลุ่มอื่นใน พปชร. แต่ "ธรรมนัส" ยังขึ้นชื่อเรื่องการดูแลบรรดา“พรรคเล็ก” และ “ส.ส.งูเห่า” ในซีก “ฝ่ายค้าน” ถึงขนาดมีเสียงเล่าอ้างจากแนวร่วมในพรรคฝ่ายค้านว่าธรรมนัส ออกปากเองว่า ส.ส.ฝ่ายค้านบางพรรค ในจังหวัดนั้นจังหวัดนี้กี่คน เป็นคนของตัวเองบ้าง
จะเป็นเรื่องเกินจริงหรือไม่ วงในการเมืองก็ชี้ให้ดูจาก คะแนนเสียงในการลงมติไว้วางใจให้ธรรมนัส ที่พลิกกลับจากบ๊วยในศึกซักฟอกรอบแรก ขึ้นมาอยู่ระนาบหัวแถว 274 คะแนน เทียบเท่ากับหัวหน้าพรรค “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี และมากกว่าคะแนนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ที่ได้ 272 คะแนนเสียด้วยซ้ำ
ย้อนไปก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ช่วงตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งและช่วง “ปรับครม.” ครั้งที่ผ่านมา ชื่อของ ร.อ.ธรรมนัส โผล่คั่วเก้าอี้รัฐมนตรี ติดโผ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รมว.แรงงานหรือแม้แต่ รมช.มหาดไทย รหัส “มท.2” ในเงื่อนไขที่ “พล.อ.ประวิตร” เป็น “มท.1” แต่ที่สุดก็ยังไม่มีการขยับใดๆ
มาครั้งนี้จึงน่าติดตามว่าในวันที่บารมีคับพรรค พปชร.เขาหมายตาเก้าอี้ตัวไหน และจะอัพเกรดพาอีก 2 คน ในทีม "3 ช่วย” ทั้ง “สันติ พร้อมพัฒน์” รมช.คลัง และ “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” รมช.แรงงาน ขึ้นชั้นในคราวเดียวกันเลยหรือไม่
แต่เส้นทางของธรรมนัส ใช่จะสะดวกโยธิน เพราะมีกรณีที่ "ศาลรัฐธรรมนูญ” รับคำร้องวินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส.และความเป็นรัฐมนตรี สิ้นสุดลงหรือไม่ สืบเนื่องจากการที่ “ฝ่ายค้าน” อภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งก่อน จนมีวาทะเด็ด “มันคือแป้ง” หรือเรื่องที่ศาลออสเตรเลียตัดสินจำคุกในข้อหาขนยาเสพติดเข้าประเทศ
นอกจากนั้น รัฐมนตรีในสาย “กปปส.” อาจจะต้องลุ้นหนัก เมื่อศาลนัดอ่านคำพิพากษาในข้อหากบฎกับแกนนำชุดใหญ่ 39 คน โดยมี “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” รมว.ศึกษาธิการ “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” รมว.ดิจิทัลฯ และ “ถาวร เสนเนียม” รมช.คมนาคม รวมอยู่ด้วย ในวันที่ 24 ก.พ.นี้ จึงมีลุ้นว่าคดีที่ว่านี้จะเป็นเหตุให้ต้องหลุดจากตำแหน่งหรือไม่ และจุดนี้อาจสบช่องให้มีการเดินเกมปรับ ครม.ได้ไม่ยาก
ทางด้านพรรค ปชป.สถานการณ์ภายในก็ไม่ดีไปกว่ากัน “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค ยังถูกแรงต้านภายในอย่างหนัก เส้นทางข้างหน้าอาจไม่ราบรื่นสวยสดงดงาม เมื่อคนวงในระบุว่า “ผู้มากบารมีในพรรค” ดูจะไม่ปลื้มการทำงานของเขา ตั้งแต่เป็นรัฐมนตรีที่ทำตัวห่างเหิน ไม่ค่อยดูแล ส.ส.ลูกพรรคเท่าที่ควร
เห็นได้จากปฏิกิริยาของ ส.ส.ในสาย “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ทั้ง “พนิต วิกิตเศรษฐ์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ “อันวาร์ สาและ” ส.ส.ปัตตานี ที่ ลงมติงดออกเสียงให้ “จุรินทร์” ในศึกซักฟอก กรณีถูกกล่าวหาพัวพันทุจริตถุงมือยางหลายพันล้าน รวมถึง “อภิชัย เตชะอุบล” ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่อยู่ในกลุ่มไม่เอา “อภิสิทธิ์” ก็งดออกเสียงให้ “จุรินทร์” เช่นเดียวกัน
ไม่เฉพาะส.ส.ที่เปิดหน้าชัดเจน แต่ ส.ส.ปชป.ที่โหวตไว้วางใจ “จุรินทร์” ก็ใช่ว่าจะเห็นดีเห็นงามกับเขาก็หาไม่ หลายคนที่ยืนตรงข้ามหัวหน้าพรรค แต่จำเป็นต้องโหวตให้เพราะต้องยึดตามมติพรรค
ความเป็นไปในพรรคหลักขั้วรัฐบาล “พปชร.” และ “ปชป.” นับว่าเข้มข้น เพราะมีแนวโน้มจะ“เปลี่ยนม้ากลางศึก” โดยเฉพาะ ปชป.ที่ต้องเร่งกู้วิกฤติศรัทธา เตรียมสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า แต่ดูเหมือนคนในพรรคกลับมองว่า “จุรินทร์” อาจไม่ตอบโจทย์ภารกิจใหญ่ที่ว่านี้
ในโอกาสที่รัฐบาลกำลังจะครบรอบการทำงาน 2 ปี สถานการณ์ของ “จุรินทร์” ถือว่าไม่สู้ดีนักเก้าอี้หัวหน้าพรรคและรัฐมนตรีกำลังสั่นคลอน เผชิญช่วงเวลา“ขาลง”อย่างหนักหน่วง
ต่างจาก “ธรรมนัส” ที่เหมือนจะอยู่ในช่วงขาขึ้น สปอตไลท์กำลังจับ และเจ้าตัวก็ลุ้นและซุ่มแต่งตัวรอขึ้นแท่น “รัฐมนตรีว่าการ” คนต่อไป โดยเฉพาะเก้าอี้ “รมว.ดิจิทัลฯ” ที่ว่ากันว่าเป็นโควตาเดิมของธรรมนัส
ขณะที่ “สุชาติ ชมกลิ่น” รมว.แรงงาน อาจตกเป็นเป้าของ “ธรรมนัส” ที่ต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งนี้ด้วยเช่นเดียวกัน เพราะไม่ปลื้มกับความเป็นไม้เบื่อไม้เมากับ “จับกัง2” หรือ “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” นั่นเอง
ขุมกำลังของ “สุชาติ” ดูจะถดถอยอย่างรวดเร็ว ต้องวิ่งวุ่นขอความช่วยเหลือจาก “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะแกนนำกลุ่มสามมิตร เพื่อประคองตัวให้มีเสียงโหวตไม่เป็นที่โหล่ ชนิดที่ใครก็คิดไม่ถึง ว่ากันว่า มีการขอสนับสนุนข้ามพรรค ข้ามพวกกันเลยทีเดียว
ขณะที่พรรคภูมิใจไทย อีกพรรคร่วมรัฐบาลสำคัญ ถึงแม้รอบนี้ทั้ง “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรค และศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เลขาธิการพรรคจะถูกลากขึ้นเวทีซักฟอก แต่ผู้มีบารมีเหนือพรรค ก็มั่นใจว่าข้อกล่าวหาฝ่ายค้านไม่สามารถทำอะไรได้ และสถานการณ์ในพรรคก็ยังสงบราบรื่น จึงไม่มีสัญญาณจะเปลี่ยนตัวผู้เล่น หรือแลกกระทรวงใดๆ ในพรรคร่วม
เพียงแต่มีปัญหาคาใจพรรคแกนนำรัฐบาลอย่าง พปชร.ที่คุมเสียง ส.ส.บางกลุ่มไม่ได้ จนทำให้คะแนนโหวตของ “ศักดิ์สยาม” ออกมาแบบผิดข้อตกลง จึงทำให้ต้องประท้วงกลับไปเพื่อให้พปชร.แสดงความรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ และกำราบลูกพรรคไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก
การอภิปรายไม่ไว้วางใจแม้ฝ่ายค้านจะสั่นคลอนเสถียรรัฐบาลไม่ได้ แต่สถานการณ์ที่อาจเป็นผลกระทบตามมาคือคดีเก่าของ 3 รัฐมนตรี กปปส.ที่ว่า ขณะที่ฝ่ายค้านก็ลากจังหวะนี้ยื่นถอดถอนรัฐมนตรีต่อเนื่อง และหากมีการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีแม้เพียงรายหนึ่งรายใดใน 10 ตำแหน่งที่ถูกซักฟอก นั่นก็หมายถึง“ผลงาน” ที่ฝ่ายค้านถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว