เรตติ้งทักษิณ vs มท.สีน้ำเงิน ‘อบจ.อีสาน’ ศึกวัดพลังพท.-ภท.
ศึกชิงนายกอบจ.และสมาชิกอบจ.ที่จะรู้ดำรู้แดงกันในวันที่ 1 ก.พ. ถึงวินาทีนี้ ต่างฝ่ายต่างเตรียมทุกองคาพยพ เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ ตุนแต้มไปถึงศึกเลือกตั้งใหญ่ในภายภาคหน้า
KEY
POINTS
- “ภาคอีสาน” ซึ่งเป็นฐานที่มั่นการเมืองที่ใหญ่ที่สุด รอบนี้ยังเป็นสนามขับเคี่ยวกันระหว่าง “พรรคภูมิใจไทย” และ “พรรคเพื่อไทย” ลุ้นเรติ้งทักษิณ vs มหาดไทยยุคสีน้ำเงิน
- "นายใหญ่" เพื่อไทยส่งสัญญาณเตรียมลงพื้นที่เพื่อช่วยผู้สมัครหาเสียง เปิดศักราชวันที่ 12 ม.ค.อดีตนายกฯจะลงพื้นที่ จ.นครพนมครั้งแรกในรอบ 20 ปี
- “นายใหญ่” ที่ประกาศเป้าหมายที่นั่งสส.รอบหน้า จะต้องทะยานไปถึง 200+ เฉพาะภาคอีสานต้องได้100+ ขณะที่ “พรรคสีน้ำเงิน” เวลานี้มีสส.ที่ทำหน้าที่ในสภาฯ 69คน เกินครึ่งล้วนเป็นสส.อีสาน
- เมื่อต่างฝ่ายต่างมองเกมยาวไปถึงจำนวนที่นั่งสส.ในอีกไม่เกิน 2 ปีข้างหน้า จุดยุทธศาสตร์สำคัญที่จะต้องตรึงพื้นที่เอาไว้ให้ได้ จึงอยู่ที่สนามนายกอบจ.
ศึกชิงนายกอบจ.และสมาชิกอบจ.ที่จะรู้ดำรู้แดงกันในวันที่ 1 ก.พ. ถึงวินาทีนี้ ต่างฝ่ายต่างเตรียมทุกองคาพยพ เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ ตุนแต้มไปถึงศึกเลือกตั้งใหญ่ในภายภาคหน้า
น่าสนใจตรงที่ ในวันที่“กระทรวงคลองหลอด” ซึ่งกุมอำนาจจัดการเลือกตั้ง ถูกกระชับอำนาจเบ็ดเสร็จโดย“ค่ายสีน้ำเงิน”
แน่นอนว่า การชิงจังหวะได้เปรียบย่อมมากขึ้นตามไปด้วย ตอกย้ำชัดจากผลการเลือกสว.เมื่อช่วงกลางปี 2567ที่ผ่านมา ซึ่งเกิดปรากฎการณ์สีน้ำเงินปกคลุมสภาสูง
ฉะนั้น แม้ก่อนหน้านี้ “มท.หนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยเคยประกาศว่าพรรคไม่มีนโยบายส่งคนลงสมัครเลือกตั้งท้องถิ่น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเลือกตั้งอบจ.ครั้งนี้ หลายจังหวัดถือเป็นขุมกำลังสำคัญของ “พรรคสีน้ำเงิน” หากกำชัยเอาไว้ได้ นั่นย่อมส่งผลไปถึงการเมืองสนามใหญ่ในอนาคต
โฟกัส “ภาคอีสาน” ซึ่งเป็นฐานที่มั่นการเมืองที่ใหญ่ที่สุด รอบนี้ยังเป็นสนามขับเคี่ยวกันระหว่าง “พรรคภูมิใจไทย” และ “พรรคเพื่อไทย”
เห็นชัดจากสัญญาณของนายใหญ่ทั้ง “2ค่าย” ฝั่ง “ทักษิณ ชินวัตร” นายใหญ่ค่ายแดง ยามนี้กำลังฮึกเหิมจากชัยชนะในศึกชิงนายกอบจ.“2 ธานี” ล่าสุด ทั้งอุดรธานี และอุบลราชธานี ย่อมหวังผลไปถึงจังหวัดอื่นๆ ที่เหลือ เพื่อตุนกำลังไปถึงการเมืองสนามใหญ่
ตอกย้ำจากการส่งสัญญาณเตรียมลงพื้นที่เพื่อช่วยผู้สมัครหาเสียง เปิดศักราชวันที่ 12 ม.ค.อดีตนายกฯจะลงพื้นที่ จ.นครพนมครั้งแรกในรอบ 20 ปี
ไม่ต่างจาก “พรรคสีน้ำเงิน”ที่ต้องยอมรับว่า การเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้ หลายจังหวัดภาคอีสาน ถือเป็นฐานที่มั่นของบ้านใหญ่สีน้ำเงินที่มีเดิมพัน แพ้ไม่ได้เช่นเดียวกัน
ส่องสมรภูมิเลือกตั้งนายกอบจ.ตั้งแต่ปี 2565-2567 ที่ทยอยลาออกก่อนครบวาระ มีการเลือกตั้งไปแล้ว 29 จังหวัด พบว่าพรรคเพื่อไทยและภูมิใจไทยกำชัยไปคนละ 10 จังหวัด ส่วนที่เหลือแบ่งเป็นพรรคพลังประชารัฐ 3 จังหวัด พรรครวมไทยสร้างชาติ 3 จังหวัด และพรรคกล้าธรรม 1 จังหวัด
หากโฟกัสเฉพาะพื้นที่ “ภาคอีสาน” ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคเพื่อไทยและภูมิใจไทย พบว่าเพื่อไทยชนะไป 6 จังหวัด ประกอบด้วย กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร ขอนแก่น อุดรธานี และอุบลราชธานี
ขณะที่ ภูมิใจไทย ชนะไป 3 จังหวัด ประกอบด้วย เลย ชัยภูมิ และสุรินทร์ เช่นนี้ต้องจับตาสนามอื่นๆ ที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 1 ก.พ.นี้
อาทิ จ.ศรีสะเกษ ฐานที่มั่นเดิมของพรรคภูมิใจไทย รอบนี้ วิชิต ไตรสรณกุล บิดา ไตรศุลี ไตรสรณกุลเลขาฯ รมว.มหาดไทย เจ้าของเก้าอี้เดิมที่ครองตำแหน่งมา 30 ปีลงชิงอีกหนึ่งสมัย
ขณะที่ “พรรคเพื่อไทย” ส่ง “วิวัฒน์ชัย โหตระไวศยะ” อดีต สส.เพื่อไทยลงสนามท้าชิง แถมยังมีสัญญาณมาจากนายใหญ่ประกาศท้าชนบ้านใหญ่ศรีสะเกษ หวังผลไปถึงการเมืองสนามใหญ่ที่จะต้องทวงคืนสส.ศรีษะเกษ ดินแดนที่เคยเปิดปฏิบัติการไล่หนูตีงูเห่าในรอบที่แล้วกลับมาให้ได้
อีกหนึ่งพื้นที่ ที่เป็นการแข่งขันระหว่างภูมิใจไทยและเพื่อไทยคือ จ.นครพนม พรรคเพื่อไทยส่ง "อนุชิต หงษาดี" ทีมงานของมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม ในฐานะ สส.นครพนม เขต 2 จากพรรคเพื่อไทย ชนกับ ศุภพานี โพธิ์สุ อดีตนายก อบจ.นครพนม ลูกสาว “สหายแสง”ศุภชัย โพธิ์สุ อดีต สส.นครพนม เขต 1 พรรคภูมิใจไทย
ศึกชิงนายกอบจ.รอบนี้ ต่างฝ่ายต่างมีแรงแค้น จากศึกเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ฝั่ง “สหายแสง” แพ้รัฐมนตรีเดือน จากการเลือกตั้งสนามใหญ่ ขณะที่“รมต.เดือน” ถือเดิมพันสูงลิบ หวังกู้ศักดิ์ศรี ศึก อบจ.รอบที่แล้วกลับคืนมา
ชั่วโมงนี้รัฐมนตรีมนพร ถือเป็นมือทำงานของนายใหญ่ และเป็นคู่คิดคู่ใจของ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รมว.คมนาคม
ยิ่งได้รับสัญญาณจากนายใหญ่ เตรียมลงพื้นที่นครพนมหลังเปิดศักราชปี 2568 ด้วยแล้ว จุดนี้เอง อาจทำให้พกความมั่นอกมั่นใจเป็นเท่าทวีคูณ
ขณะที่ฝั่ง"ภูมิใจไทย" อนุทิน ชิงลงพื้นที่ไปตั้งแต่เมื่อวัน21ธ.ค.ที่ผ่านมา แน่นอนว่าย่อมเป็นการส่งสัญญาณจาก2ค่ายที่เชื่อได้เลยว่าสู้กันมันหยดแน่นอน
อีกหนึ่งจังหวัดที่มองข้ามไม่ได้ คือ จ.อำนาจเจริญ “สมหญิง บัวบุตร” อดีต สส.เพื่อไทย สายเกรียง กัลป์ตินันท์ เก็บแรงแค้น หลังแพ้ “เจ๊รวย” สุขสมรวย วันทนียกุล สายตรงเนวิน จากพรรคภูมิใจไทย ในการเมืองสนามใหญ่ที่ชนะยกจังหวัด อยู่ในลิสต์มีลุ้นโควตารัฐมนตรี
รอบนี้อดีต สส.สมหญิง ประกาศหนุน “ดะนัย มะหิพันธ์” ชิงเก้าอี้นายกอบจ.ในนามพรรคเพื่อไทย
ขณะที่ภูมิใจไทย ส่ง “พนัส พันธุ์วรรณ” กลุ่ม “ภูมิใจไทอำนาจ” ลงชิง นับเป็นอีกสนามที่เรียกได้ว่า “เพื่อไทย” ต้องกู้ศักดิ์ศรีคืนให้ได้
หากมองเกมยาวไปถึงการเมืองสนามใหญ่ในภายภาคหน้า ปฎิเสธไม่ได้ว่า ทั้ง “พรรคเพื่อไทย” และ “พรรคภูมิใจไทย” ในฐานะพรรคอันดับหนึ่งและอันดับสองในขั้วรัฐบาล ยังถือเป็นคู่แข่งสำคัญในสนามภาคอีสาน
โดยเฉพาะฝั่ง “นายใหญ่” ที่ประกาศเป้าหมายที่นั่งสส.รอบหน้า จะต้องทะยานไปถึง 200+ เฉพาะภาคอีสานต้องได้100+
ภายใต้โจทย์ใหญ่นี้ นอกจากภาคเหนือซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์แล้ว ยังมีภาคอีสานที่จำเป็นต้องรักษาฐานที่มั่นเอาไว้ให้ได้เช่นกัน
ไม่ต่างจาก “พรรคสีน้ำเงิน” เวลานี้มีสส.ที่ทำหน้าที่ในสภาฯ 69คน (ทั้งหมด 71 คน 2 คนหยุดปฏิบัติหน้าที่) เกินครึ่งล้วนเป็นสส.อีสาน
ย้อนผลการเลือกตั้งสส.ปี 2566 พบว่า ภาคอีสานมีสส.133 คน แบ่งเป็นพรรคเพื่อไทย 73 ภูมิใจไทย 35 พลังประชารัฐ 7 ก้าวไกล 7 คน ไทยสร้างไทย 5 เพื่อไทรวมพลัง 2 ประชาธิปัตย์ 2 และชาติไทยพัฒนา 1
เมื่อต่างฝ่ายต่างมองเกมยาวไปถึงจำนวนที่นั่งสส.ในอีกไม่เกิน 2 ปีข้างหน้า จุดยุทธศาสตร์สำคัญที่จะต้องตรึงพื้นที่เอาไว้ให้ได้ จึงอยู่ที่สนามนายกอบจ.และสมาชิกอบจ.ที่จะมีการเลือกตั้งแบบเต็มรูปแบบ 1 ก.พ.นี้!