‘หรีดหนังสือ’ เมื่อบั้นปลายกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการให้

‘หรีดหนังสือ’ เมื่อบั้นปลายกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการให้

เปลี่ยนการแสดงความอาลัยเป็นการให้ที่ส่งต่อความรู้ไม่สิ้นสุด ด้วย “หรีดหนังสือ” ทางเลือกใหม่ของ “พวงหรีด” ในยุคที่สังคมต้องอุดมปัญญา

ธรรมเนียมการมอบ พวงหรีด เพื่อแสดงความอาลัยแด่ผู้วายชนม์มีมาช้านาน และการแสดงออกผ่านสัญญะแบบนี้ค่อยๆ ปรับ ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสิ่งต่างๆ มากกว่าดอกไม้และป้ายชื่อ ที่เห็นและเป็นมามีตั้งแต่พัดลม ผ้าขนหนู จักรยาน ฯลฯ หลายอย่างถูกนำไปใช้ตามอรรถประโยชน์หลังจากการไว้อาลัยสิ้นสุดลง

แต่ “พวงหรีด” หรือ “หรีด” ที่สร้างประโยชน์ด้านความรู้ เสริมสร้างปัญญา อาจเรียกได้ว่าเพิ่งจะมีไม่กี่ปีมานี้เอง หนึ่งในนั้นคือ ปันการดี หรีดหนังสือ ซึ่งเกิดจากแนวคิดของสามเกลอ มุก - ไข่มุกข์ ปั้นแตง, ชื่น - ชื่นกมล ศรีสมโภชน์ และ ดีเจเฟี้ยต - ธัชนนท์ จารุพัชนี ที่ปรารถนาให้การจากไปของใครสักคนเกิดประโยชน์กับคนอื่นๆ ต่อไปไม่สิ้นสุด แน่นอนว่าการสร้างประโยชน์วงกว้างที่ยั่งยืน หนีไม่พ้นการให้ความรู้ ปัญญา จากการอ่านหนังสือ

  • ต้นทาง ปันการดีฯ

“เราอยากทำธุรกิจเพื่อสังคม แต่ว่าตอนแรกไม่รู้จะทำอะไรดี แล้วเห็นพี่มุกจะทำอันนี้พอดี เลยบอกพี่มุกว่าทำด้วยเพราะยังคิดของตัวเองไม่ออก คือจริงๆ แล้วเป็นอาสาสมัครมาตั้งแต่เด็ก และทำงานที่ Green Wave ซึ่งเป็นคลื่นวิทยุที่ตรงกับ passion คือมีดนตรี มีความรัก มีสังคม ซึ่ง Green Wave มีโปรเจคเพื่อสังคมค่อนข้างเยอะ เลยไปทางเดียวกัน แล้วพอคุย concept กันแล้ว เราเข้าใจตรงกันว่า หนึ่งได้ช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นทางเลย สองคือสนับสนุนการศึกษาซึ่งก็เป็นทางเหมือนกัน” ดีเจเฟี้ยต เล่าถึงการตัดสินใจจับมือกับพาร์ทเนอร์สองสาว

จากการทำงานในแวดวงหนังสือทำให้ ชื่นกมล มีประสบการณ์ตรง “ปันการดี หรีดหนังสือ” ไม่ใช่หรีดหนังสือแรกที่เกิดขึ้น เธอเคยทำหรีดหนังสือของสำนักพิมพ์ On Art มาก่อน แต่ไม่ได้ทำขาย ทำเวลาที่มีใครจากไปก็ส่งหนังสือไปร้านดอกไม้ที่สนิท เอาหนังสือประมาณ 7-8 เล่มของสำนักพิมพ์ On Art ประดับดอกไม้ ส่งไปที่งานศพ ปรากฏว่ามีพี่น้องๆ ที่ใกล้ชิดอยากให้ทำบ้าง ทว่าเมื่อทำจริงกลับพบปัญหา คือ หนังสือไม่ตรงความต้องการ

“กลายเป็นว่าพอหรีดไปถึงวัดแล้ว เราอยากให้แต่วัดไม่รู้จะทำอย่างไรกับหนังสือ ถ้าโชคดีพระคุณเจ้าอยากอ่านท่านก็เก็บไว้ หรือให้โรงเรียน แต่หลายครั้งไม่รู้ว่าจะเอาไปไว้ไหน ก็เลยเอาเรื่องนี้มาแชร์กับพี่มุกพี่เฟี้ยต ซึ่งกลายเป็นว่าหรีดปันการดีก็จะเริ่มต้นด้วย คนที่เราเอาหนังสือไปให้อยากจะอ่านหนังสืออะไร เราใช้วิธีกลับหัวเอา เรากำหนดกลุ่มเป้าหมายก่อนว่า เป็นกลุ่มคนที่ต้องการหนังสือจริงๆ ให้เขาเลือกหนังสือที่อยากได้ร้อยเล่ม เราก็เอารายชื่อนั้นมาหาซื้อหนังสือให้เขาโดยเอาเงินจากการขายหรีด หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว ตามราคาหนังสือที่ต้องซื้อ ไปซื้อแล้วเอาไปให้เขา ข้อดีของการเป็นคนในวงการหนังสือคือเราก็จะมีเครือข่ายเพื่อนๆ พี่น้อง สำนักพิมพ์ส่งรายการหนังสือมาให้เลือก แล้วให้ซื้อในราคามิตรภาพ เราก็จะเอารายการหนังสือทั้งหมดไปให้เขาเลือก ว่าหมวดที่เรามีอยู่ตอนนี้มีอยู่เท่านี้ เขาเลือกได้ร้อยเล่ม หรือ ถ้าเขามีหนังสือในใจที่ไม่อยู่ในรายการที่เรามี ขอให้ระบุมา เราจะได้ไปประสานสำนักพิมพ์นั้นๆ เพื่อซื้อให้เขาได้”

ความพยายามที่จะสร้างวัฒนธรรมใหม่ในการบริจาคหนังสือ มุก อธิบายว่า ต้องให้หนังสือที่คนรับอยากรับ พอทุกอย่างตรงกันก็มาจับคู่กัน หนังสือก็เหมือนอาหาร เราอยากกินอาหารรสชาติใด คนอ่านหนังสือก็เหมือนกัน

“เราบอกว่าหนังสือปรัชญานี่ดีที่สุดสำหรับเรา มันวิเศษมาก แต่ถ้าเอาไปให้คนที่อยู่บนดอย หนังสือปรัชญาก็จะเป็นหนังสือที่อยู่ในตู้ของเขาไม่ได้หยิบมาใช้ แต่ถ้าเอาหนังสือการเลี้ยงไก่เบื้องต้น การทำไข่ไก่อย่างไรให้ใหญ่ขึ้นไปให้เขา โอกาสที่หนังสือจะถูกหยิบออกมาก็จะมากขึ้น นี่คือวิธีคิดกลับกัน เราก็เลยอยากให้หนังสือที่คนอ่านอยากอ่าน”

“ปันการดี หรีดหนังสือ” แรกๆ จึงเริ่มกับมูลนิธิเล็กๆ อย่าง มูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท (มยช.) เพราะ มยช. เป็นหน่วยงานที่ดูแลเด็กที่อยู่นอกระบบจริงๆ เด็กที่มูลนิธิ มยช.คือเด็กที่ไม่มีความคุ้มครองในสวัสดิการสังคมใดๆ เช่น เด็กกลุ่มชาติพันธุ์ที่พ่อแม่เป็นแรงงานต่างชาติ หรือครอบคลุมไปถึงผู้ใหญ่ด้วยเพราะมูลนิธิดูแลเรื่องของการศึกษาเป็นหลัก กลุ่มเป้าหมายที่นี่จึงเป็นเด็กตั้งแต่เตรียมอนุบาลไปจนถึงผู้ใหญ่ ทาง “ปันการดี หรีดหนังสือ” เห็นศักยภาพว่าหนังสือที่ให้ไป จะไปใช้ได้จริง และพัฒนาคนได้จริง

หลังจากจบโครงการแรกไปแล้ว ล่าสุด “หรีดหนังสือ” กำลังจะเคลื่อนที่ไปยังอีกแห่ง คือ ศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กในโรงพยาบาลพระมงกุฎ เป็นโปรเจคที่ 2 เพิ่งปิดไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา คือได้หนังสือครบร้อยเล่ม

“ทำไมเราถึงเลือกที่นี่ โรงพยาบาลพระมงกุฎนี่ มีแผนกเด็กที่ไม่ค่อยมีใครรู้ว่าเด็กที่ป่วยเรื้อรัง ป่วยเข้าออกโรงพยาบาลบ่อยๆ ป่วยจนไม่สามารถใช้ชีวิตแบบเด็กทั่วไปได้ เขาก็มีการให้เรียนหนังสือที่โรงพยาบาล มีครูมาสอน มีอาสาสมัครที่เป็นหมอ เป็นพยาบาล บุคคลทั่วไปสมัครมาสอนหนังสือที่นี่ด้วย และเด็กบางคนแอดมิดนานมาก หลายเดือน บางคนครึ่งปี เด็กรู้สึกโดนตัดขาดทางสังคม วันๆ อยู่แต่เตียง เข็มฉีดยา เข็มน้ำเกลือ หลายคนเป็นมะเร็ง เขาก็ต้องการให้กำลังใจไม่ว่าจะเป็นศิลปะบำบัด หาการศึกษา เด็กๆ ก็จะ connect กับเพื่อน หายป่วยแล้วก็กลับไปเรียนกับเพื่อนๆ ก็ยังรู้เรื่อง ยังคำนวณเป็น รู้เบสิก โดยที่ห้องสมุดนี่หนังสือยังมีน้อยอยู่ เราก็ไปเพิ่มศักยภาพให้กับน้องๆ นอกจากสร้างความเพลิดเพลินให้เขาแล้วเขาก็ได้ความรู้เพิ่มเข้าไปด้วย เราก็ไม่รู้ว่าน้องจะมีอายุอยู่นานขนาดไหน แต่ว่าอย่างน้อยก็มีกำลังใจช่วงเวลาที่อยู่มีความสุข นั่นคือสิ่งที่เราให้” มุก เล่า

“ที่มาของที่นี่คือ น้องคนหนึ่งที่ทำงานกับเรา ลูกสาวเขาป่วยเป็นมะเร็ง เข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาล ก็เลยคุยกับเขา น้องเรียนหนังสืออย่างไร ก็เลยได้รู้จักแผนกนี้ วันหนึ่งเขาให้ดูรูป ครูมาสอนที่เตียง ถามว่ามีเฉพาะที่โรงพยาบาลพระมงกุฎไหมก็ไม่ อย่างโรงเรียนแพทย์ใหญ่ๆ เราก็เห็นว่าเด็กเป็นโรคแปลกๆ เยอะแยะ สิ่งที่น่าสงสารคือว่า เด็กพวกนี้หลายคนมาจากครอบครัวที่รายได้น้อย ครอบครัวที่ไม่ได้มีสถานภาพทางสังคมที่สนับสนุนได้

เราเห็นครูเขาทำงานแล้วเขาตั้งใจ สิ่งที่เขาขาดแคลน เช่น งบประมาณจำกัด คือภาครัฐสนับสนุนนะ แต่นี่คือการศึกษาพิเศษจริงๆ ซึ่งมันไม่ได้ตอบสนองคนกลุ่มใหญ่ เพราะฉะนั้นงบประมาณมันจำกัดอยู่แล้วละ มันก็มีช่องให้เราสนับสนุนเขาได้ เขาก็ต้องการพวกคู่มือการสอน คู่มือการเรียน วิชาต่างๆ เหมือนเป็นทางลัด มันเรียนโดยตรงไม่ได้หรอก มันเรียนไม่ทันเพื่อน ก็เอาพวกนี้ไปช่วย หรือหนังสือนิทาน ซึ่งความเก๋ ความน่ารักคือเวลาเด็กกลับบ้านไป เขาให้เอาหนังสือนิทานกลับไป กลับมาตรวจปุ๊บให้เอามาแลก แล้วเอาหนังสือเล่มใหม่กลับไป มันคือสันทนาการระหว่างครอบครัวด้วย แทนที่พ่อแม่จะมาเฝ้าเฉยๆ คุณครูมาบอกพี่เองว่าอยากจะได้หนังสืออะไรที่ให้พ่อแม่เขาได้อ่านมากกว่าการมานอนเฝ้าลูกทั้งวัน โดยที่ไม่ได้อะไรเลย”

161527663090

  • การให้ไม่ใช่การเอาของเก่าไปทิ้ง

ความใจบุญสุนทานของคนไทยหลายคนที่อยากเป็นผู้ให้ กลับกลายเป็นช่องโหว่ขนาดใหญ่ เมื่อการบริจาคของที่ตัวเองไม่ใช้แล้ว ไม่ต้องการแล้ว เปรียบได้กับการทิ้งของไปยังผู้รับ แนวคิดของ “ปันการดี หรีดหนังสือ” จึงอุดรอยรั่วนี้

“คนไทยใจดีอยากทำบุญ เพียงแต่ว่า เราก็อยากให้ความรู้สึกอยากทำบุญของเขาได้ประโยชน์สูงสุด ไม่อยากให้มันเสียเปล่า เราไม่ได้ดูถูกการที่เขาทำบุญ แต่เสียดายมากกว่า ถ้าการที่เขาอยากทำบุญแล้วไม่ได้บุญอย่างที่เขาอยากได้ เหมือนเคสที่พีคมาก คือ หนังสือพระไตรปิฎกหนึ่งตู้ ซึ่งมันอลังการมากสำหรับคุณลุงคุณป้าที่ได้เอาไปให้ แต่ถ้ามันอยู่ห้องสมุดนักเรียนมัธยมมันก็อยู่อย่างนั้นแหละ เพราะเด็กไม่หยิบออกมาอ่าน นี่ขนาดเป็นของใหม่นะ ยังไม่พูดถึงหนังสือเก่าที่ออกจากบ้านคุณเพราะคุณอยากหาที่ไปให้มัน คือจริงๆ มันมีทางออกเยอะแยะ ถ้าคุณมีหนังสือสัก 10 เล่มแล้วบอกใครอยากได้จะยกให้ โพสต์ขึ้น มันก็จะถึงกลุ่มเป้าหมายจริงๆ เพราะคนที่เขาไม่อยากอ่านก็จะไม่ยุ่งกับมัน คนที่อยากอ่านก็จะส่งซองจดหมายติดแสตมป์สิบบาทมาเพื่อให้คุณส่งไปให้เขา มันก็จะจบงาน แต่กลายเป็นว่า พอมีทางลัดให้มีคนรับบริจาคหนังสือ 80 เปอร์เซ็นต์ คือทิ้ง ใช้ไม่ได้ แล้วแรงงานคนรับหนังสือเหนื่อยกับการคัดแยกหนังสือมากกว่าอีก” ชื่นกมล กล่าว

นี่จึงนำมาสู่วิธีการที่ “ปันการดี หรีดหนังสือ” ทำหน้าที่ไปหาหนังสือมาวางรวมๆ กัน จากลิสต์รายการหนังสือที่แต่ละสำนักพิมพ์พร้อมจะขายให้ แบ่งเป็นหมวดๆ แล้วเอาลิสต์นี้ให้กลุ่มเป้าหมายเลือก เมื่อเป็นอย่างนี้ ต่างคนต่างต้องเรียนรู้กัน ชื่นกมลบอกว่าอย่างของพระมงกุฎ ครูจะบอกว่าสิ่งที่เขาขาดมีอะไรบ้าง เขาอยากได้หนังสือแบบเรียน อยากได้หนังสือคู่มือการเรียนการสอน ซึ่งคนอาจจะนึกไม่ถึง เธอก็มีเพื่อนทำสำนักพิมพ์ที่ทำคู่มือการเรียนการสอนพอดี ก็ตรงในสิ่งที่เขาอยากได้

“คือไม่ใช่แค่ให้เด็กที่อยู่ในโรงพยาบาลอ่าน คนที่มาหน้าที่สอนเด็กก็อยากได้ไกด์ไลน์ในการที่จะสอนเด็กด้วย เอาไปเป็นคู่มือการสอน คู่มือการเรียนของเด็ก มีแบบฝึกหัดโน่นนี่นั่น เป็นคุณครูจาก กศน.ที่ส่งมาประจำ และมีอาสาสมัครที่เข้ามาช่วยด้วย”

161527662959

  • หรีดหนังสือ คือเงาสะท้อนลมหายใจหนังสือ

จากวันนั้นจนวันนี้ กราฟของธุรกิจเพื่อสังคมนี้พุ่งขึ้นอย่างไม่ช้าไม่เร็ว แต่การพูดถึงแบบปากต่อปากถึงคุณูปการที่เปลี่ยนการจากลาครั้งสุดท้ายเป็นการให้โอกาสทางการศึกษา สร้างสังคมการเรียนรู้ หลายครั้งที่ “หรีดหนังสือ” ไปถึงวัด แขกที่งานเดินรอบหรีดแล้วโทรไปสั่งหรีดของตัวเอง เพราะหรีดตัวเองยังมาไม่ถึง ก็มี

ความนิยมดังกล่าวนอกจากจะหล่อเลี้ยงให้ธุรกิจดำเนินไปได้ ยังเป็นเงาสะท้อนว่าหนังสือยังมีคนสนใจและมีทางไปต่อได้

ชื่นกมล บอกว่า “เราสามคนเชื่อนะว่า หนังสือและหรีดหนังสือมันไปต่อได้ มันเท่ากับว่าแค่ยังมีคนไม่รู้ แต่พอเขารู้แล้วทุกคนยอมรับ ไม่มีใครปฏิเสธเราหลังจากที่รู้ว่าเราทำอะไร

คำที่เราถูกฝังไว้ในหัวหลายๆ คนว่าคนไทยไม่อ่านหนังสือ แต่ลืมไปว่า ถ้าไม่อ่านหนังสือแล้วคนไทยจะมีความรู้อย่างไรล่ะ กับสิ่งที่คิดคือว่า หรือคนไทยไม่มีหนังสือที่ดีอ่าน มันมีหนังสือไม่เพียงพอหรือเปล่า เนื้อหาที่เราอ่านทุกวันนี้เราอ่านอะไร เรายังเห็นว่าทุกคนยังก้มหน้าอยู่กับ Smartphone แสดงว่าก็ยังอ่านไม่ใช่เหรอ แต่ในพื้นที่ที่ห่างออกไปมันไม่ได้ทุกคนที่เข้าถึง บางคนยังไม่มีโทรศัพท์เลย หรือบางคนไม่มี Smartphone แล้วมันจะไปอ่านอะไรล่ะ ก็ยังต้องอ่านหนังสือธรรมดาอยู่ เพราะฉะนั้นความรู้มันอยู่ในหนังสือ เพียงแต่ถามกลับไปว่า แล้วหนังสือที่ดีพอ ไม่รู้จะจำกัดความว่าอะไรคือหนังสือที่ดีพอ หรือมีหนังสือที่เหมาะกับกลุ่มต่างๆ มันมีจำนวนมากพอหรือยังที่จะอ่านมากกว่า เราเลยเชื่อว่าธุรกิจเรายังไปได้ แล้วถ้าคนยังมีความเชื่อเกี่ยวกับการแบ่งปันความรู้ใส่เข้าไป”

ตราบใดที่หนังสือยังจำเป็น โปรเจคที่สามของ “ปันการดี หรีดหนังสือ” กำลังดำเนินการเพื่อห้องสมุดคนตาบอด ซึ่งหลักๆ คือหนังสือเสียง ด้วยเหตุผลว่ากระบวนการทำหนังสือเป็นหนังสือเบรลล์ ไม่ค่อยทำแล้วเพราะไม่ค่อยสะดวก ขั้นตอนมีค่าใช้จ่ายมาก เพราะต้องใช้กระดาษพิเศษ ถ้ากระดาษทั่วไปตัวหนังสือจะยุบเร็วและต้องมีเครื่องทำ หนังสือเล่มหนึ่งจะหนักมาก ไปยืมลำบาก และการเดินทางในช่วงโควิด-19 นี้ผู้พิการทางสายตาจะลำบากมาก เพราะเขาใช้ชีวิตด้วยการสัมผัสและเสียง เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมาก

161527662999

“หรีดหนังสือ” จึงเลือกที่จะมอบหนังสือต้นฉบับเพื่อไปส่งมอบให้ห้องสมุดคนตาบอดเพื่อทำหนังสือเสียง เพราะที่ผ่านมามีคนตาบอดโทรเข้าไปใช้บริการฟังเสียงค่อนข้างมาก เกิดค่าใช้จ่ายทั้งเพื่อการแปลงจากหนังสือเป็นหนังสือเสียง ค่าใช้จ่าย server ค่าคู่สายต่างๆ นานา มีข้อมูลว่าปัจจุบันนี้มีคนโทรเข้าไปมากถึง 2 แสนสายต่อเดือน มีผู้ใช้บริการเปลี่ยนไปทางเว็บและแอพพลิเคชั่นประมาณหลักพันต่อเดือน และจะมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

“ตอนนี้คนที่เข้าถึงห้องสมุดคนตาบอดได้จะต้องเป็นคนพิการที่ลงทะเบียนในระบบเท่านั้น คือรัฐยอมรับว่านี่คือผู้พิการทางสายตา แต่มันจะมีอีกกลุ่มหนึ่งนอกจากผู้สูงอายุ คือคนที่มีปัญหาทางสายตา สายตาเลือนรางหรือไม่ได้บอด 100 เปอร์เซ็นต์ เขาก็มีความจำเป็นที่จะต้องใช้หนังสือแบบนี้ แต่ปรากฏว่าโอกาสในการเข้าถึงยังไม่มี เมื่อก่อนตอนที่ปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ยังไม่รุนแรง กลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ที่มีปัญหาทางสายตาเข้าถึงหนังสือเสียงได้ แต่ตอนนี้หลังจากที่ปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ร้อนแรงขึ้นมาเลยทำให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงหนังสือไม่ได้

เพราะฉะนั้นห้องสมุดนี้กำลังพยายามผลักดันให้กลุ่มพวกนี้เข้ามาใช้ได้ในอนาคต เนื่องจากว่าตอนนี้มีห้องสมุดและหน่วยงานประมาณ 14 แห่งในประเทศไทยที่ได้รับอนุญาตให้ทำหนังสือเสียง โดยแค่แจ้งกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาว่าจะทำหนังสือเสียง จากผลงานหนังสือเล่มนี้เล่มนี้ แล้วกรมทรัพย์สินทางปัญญาก็จะไปเคลียร์กับสำนักพิมพ์และนักเขียน ว่าหนังสือเล่มนี้จะถูกนำไปเป็นหนังสือเสียง คือมันเป็นการพบกันครึ่งทางเพราะถ้าปล่อยให้ทำอิสระ ก็ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิ์นักเขียนกับสำนักพิมพ์ ฝั่งนั้นก็ต้องให้พื้นที่ลิขสิทธิ์ทางปัญญาเขาด้วย เป็นการพบกันครึ่งทางคือให้ได้แต่ให้เฉพาะผู้พิการเท่านั้นนะ เพราะฉะนั้นทางฝั่งผู้ดูแลก็ต้องคิดว่าเฉพาะผู้พิการเท่านั้นที่จะเข้าถึงสื่อเหล่านี้ได้” มุก อธิบายเพิ่มเติม

นอกจากนี้เธอยังกล่าวต่อว่า หลายคนนึกว่าผู้พิการไม่ได้สนใจหนังสือ แต่จริงๆ แล้วเขาสนใจตัวเล่มในการที่เขาอ่านจากรีวิวต่างๆ จากรีวิวของคนปกติที่อ่านนี่แหละ แล้วเขาก็เอาไปโพส ไป inbox ให้กับห้องสมุดว่าอยากได้หนังสือเล่มนี้ ห้องสมุดก็จะมีลิสต์ยาวซึ่งหนังสือไม่ได้มีเฉพาะหนังสือบันเทิง หนังสือการเมืองก็มี หนังสือคู่มือเทคโนโลยีหลากหลายมาก

“เราไปคุยกับเจ้าหน้าที่ห้องสมุด ตอนนี้มี youtube ก็ได้ความรู้นะ ไม่เห็นต้องฟังหนังสือเสียงเลย เขาบอกว่าไม่เหมือนกัน เพราะใน youtube ใส่ opinion เยอะ ความคิดเห็นส่วนตัวเยอะและก็ไม่มีการจัดเรียงความรู้อย่างเป็นระบบ อย่างที่ผู้เขียนต้องการเขียน หมายถึงสื่อแค่นี้แต่ไปนั่งอธิบาย เหมือนกับอ่านข่าวและเล่าข่าวก็ไม่เหมือนกัน อย่างที่บอกไปตอนแรกว่าการอ่านหนังสือหรือฟังหนังสือจะไม่มี notification ไม่มีโฆษณาใดๆ มากวน การเรียบเรียงความรู้อย่างเป็นระบบ การที่เขาสามารถได้อ่านหรือได้ฟังหนังสือเสียงตามที่ผู้เขียนเขียนอย่างแท้จริง โดยไม่ผ่านการตีความ และเขาสามารถต่อเติมจินตนาการได้เองมันสำคัญมากกว่า เหมือนกับอ่านนิยายแล้วแปลงเป็นละครมันคนละเรื่องกัน บางทีบางคนยังบอกว่าตัวเล่มสนุกกว่าอีก หรือบางครั้งเป็นหนังสือวิชาการที่มีการเรียบเรียงความรู้เป็นบทๆ บางทีมี 10 บท เขาอยากรู้บทที่ 9 เลย แต่ถ้าไปใน youtube การเรียบเรียงความรู้ไม่เป็นหมวดหมู่ มันเจาะเข้าไปตรงนั้นเลยไม่ได้ อย่างเวลาที่เราอ่านข่าว ต้อง play back ไปมาไม่ถูกจัดเป็น chapter ปกติแล้วนักเขียนเขียนเรียงมาเป็นตามลำดับเพราะต้องการปูพื้นอะไรบางอย่างก่อน ตรงนั้นคือสิ่งที่ขาดไป เขาเลยบอกว่าหนังสือเสียงยังไงก็ไม่เหมือน youtube หรือ podcast

และหนังสือที่เราจะเอาไปให้เขา เขาเปิดรับบริจาคหนังสือทั่วไปด้วยนะ คนจะไปซื้อหนังสือเล่มใหม่ให้เขาก็ได้ สำนักพิมพ์จะเอามาให้ก็ได้ แต่ที่เราจะเอาให้เขาก็เหมือนกันคือหนังสือจะถูกไปทำหนังสือเสียง ส่วนตัวหนังสือเล่มจริงคือต้นฉบับจะถูกเอาบริจาคต่อให้ที่ที่มีความจำเป็นต้องการ เพราะฉะนั้นโปรเจคนี้ซื้อพวงหลีดกับเราได้บุญสองต่อ”

“หรีดหนังสือ” จึงไม่ใช่แค่สัญลักษณ์แทนความอาลัย และ “หนังสือ” ไม่ใช่แค่เรื่องการอ่าน แต่ทั้งสามคนมองว่านี่คือการออกแบบอนาคตของประเทศชาติทางหนึ่ง

“เราสามคนเชื่อเหมือนกัน ว่าความรู้คือการสร้างคนและคนจะไปสร้างสังคมที่ดีขึ้น แล้วอะไรเป็นเครื่องมือในการสร้างความรู้ก็คือหนังสือ และถ้าวันหนึ่งตายไปแล้ว คนไม่ต้องจำเราก็ได้นะ แต่ถ้าพูดถึงเราในทางที่ดีก็คงดี และนี่คือวิธีการที่คนตายสร้างคนเป็น คือแม้เขาจะไม่อยู่แล้ว เขาจากไปแล้ว ครั้งสุดท้ายของเขาก็สามารถที่จะให้ได้ เราเชื่อว่าถ้าตายไปแล้วเราอยากเห็นความตายของเรายังเป็นประโยชน์ให้คนอื่นได้อีก”