Upskill & Reskill สร้างแรงงานเข้มแข็ง
วิกฤติโควิด-19 ช่วยให้เกิดการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และการเรียนรู้แบบ e-Learning ซึ่งดิจิทัลแพลตฟอร์มพัฒนาทักษะแรงงานมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ดังนั้นมาตรการ Upskill Reskill และ New Skill ให้กับแรงงาน จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21
ตลาดแรงงานทั่วโลกเผชิญกับความท้าทายอย่างมาก ทั้งจากเทคโนโลยีดิสรัปชั่นและโควิด-19 ทำให้ในอนาคตหลายคนต้องทำงานในอาชีพที่ไม่เคยมีมาก่อน หลายคนต้องเปลี่ยนงานและอาชีพหลายครั้งในตลอดช่วงชีวิตการทำงาน การสร้างโอกาสเข้าถึงการยกระดับและการพัฒนาทักษะใหม่ๆ แก่แรงงานทุกกลุ่มทุกช่วงวัยในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ จึงมีความสำคัญต่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
บทความฉบับนี้จะนำเสนอถึงแพลตฟอร์มพัฒนาทักษะและการเรียนรู้ของทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อแรงงานและสาธารณชนทั่วไป
- ดิจิทัลแพลตฟอร์มภาครัฐ เป็นตาข่ายความปลอดภัยทางสังคมให้แรงงานได้ไปต่อ
จากรายงานภาวะการทำงาน ธ.ค.2563 ระบุว่า มีผู้ว่างงาน 5.9 แสนคน หรืออัตราการว่างงาน 1.5% และมีผู้เสมือนว่างงาน (ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน) สูงถึง 2.47 ล้านคน ซึ่งแม้ไม่ตกงานแต่มีรายได้น้อยลงมาก ย่อมไม่เพียงพอต่อการยังชีพ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการบริการ สาขาการค้า โรงแรมและภัตตาคาร เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าจากโควิด-19 ยังส่งผลกระทบต่อกลุ่มแรงงานตอนต้น (อายุ 15-29 ปี) ซึ่งมีมากถึงกว่า 3 ล้านคน โดยจะทำให้หางานทำได้ยากขึ้นด้วย
สำหรับนโยบายภาครัฐที่จะช่วยแก้ปัญหาด้านแรงงานสู้ภัยโควิด-19 ได้มีอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการรักษาการจ้างงาน อาทิ ช่วยสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการ การจ้างงานผ่านระบบออนไลน์ เช่น Smart Job Center ของกระทรวงแรงงาน และ M-Powered Thailand พอร์ทัลความร่วมมือระหว่างบริษัท ไมโครซอฟท์ จำกัด กับหน่วยงานภาครัฐ และมาตรการ Upskill Reskill และ New Skill ให้กับแรงงาน ให้มีทักษะตรงตามความต้องการของนายจ้าง และส่งเสริมการเรียนรู้ทางออนไลน์บนแพลตฟอร์มของภาครัฐ เช่น “ไทยมีงานทำ” และ Futureskill-newcareer.in.th ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นต้น
- แพลตฟอร์มพัฒนาทักษะ : สร้างโอกาสและอาชีพอย่างเสมอภาค
จากบทความฉบับที่แล้วชี้ว่าแรงงานไทยทั้งหมดต้องรีสกิล โดย 50% ต้องพัฒนาทักษะอย่างน้อย 3 เดือน และอีก 50% ต้องพัฒนาทักษะนาน 3 เดือนขึ้นไป นั่นหมายถึง Demand side จะมีความต้องการพัฒนาทักษะมากขึ้น คือให้แก่คนทำงานถึง 38.7 ล้านคน โดยกลุ่มแรงงานทักษะสูงไม่น่าเป็นกังวล ส่วนสองกลุ่มตรงกลางคือ แรงงานฝีมือและไม่ใช้ทักษะทำซ้ำ และกลุ่มแรงงานฝีมือและใช้ทักษะทำซ้ำ มีโอกาสสูงที่จะถูกแทนที่ด้วยเครื่องหุ่นยนต์อัตโนมัติ
ส่วน Supply side คาดว่าการพัฒนาทักษะของแรงงานในระบบทั้งที่จัดโดยภาคเอกชน (In-house training) หรือจัดโดยศูนย์ฝึกอบรมของภาครัฐน่าจะเพียงพอในระดับหนึ่ง โดยมีสถาบันแกนหลักของรัฐ คือ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดทั่วประเทศ สังกัดกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โรงเรียนฝึกอาชีพ 10 แห่งสังกัดกรุงเทพมหานคร หน่วยงานฝึกอาชีพสังกัดกระทรวงมหาดไทย การศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำ สังกัด กศน. สถาบันยานยนต์และสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ สังกัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น
- ดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้มุ่งสู่โลกออนไลน์
วิกฤติโควิด-19 ช่วยให้เกิดการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และการเรียนรู้แบบ e-Learning และดิจิทัลแพลตฟอร์มพัฒนาทักษะแรงงานมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด อาทิ Skilllane, Skooldio, CMU MOOC และสถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัล (DISDA) (ซึ่งตั้งใหม่เพื่อพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้แก่แรงงานผ่าน DSA app ของกระทรวงแรงงาน) ส่วนดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ได้รับความนิยมสูง อาทิ Skillshare, Coursera, Udemy และ LinkedinLearning
วิโรจน์ จิรพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ Skooldio กล่าวว่า ธุรกิจ Skooldio คือ “การเอาคนสร้างเทคโนโลยี และการเอาเทคโนโลยีสร้างคน” รวมทั้งได้ทำ In-house Workshop ให้บริษัทขนาดใหญ่ด้วยโควิด-19 ส่งผลให้คอร์สสอนออนไลน์เติบโตมาก และคาดว่าจะยังเติบโตต่อไปแม้ว่าจะคลายล็อกดาวน์แล้ว เป้าหมายสูงสุดคือส่งเสริมให้ Life-Long Learning เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตผู้คน มีเนื้อหาหลักสูตรที่ตอบโจทย์ทำให้คนทำงานได้เก่งขึ้น และต้องมีแพลตฟอร์มที่ดี ง่ายและสะดวก
เฉลิมพงษ์ บุญรอด กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ระบุว่า กรมฯ เปิดหลักสูตรพัฒนาอาชีพแบบออนไลน์ผ่าน DSD mLearning กว่า 30 หลักสูตรให้แก่ประชาชนทั่วไป ทั้งเพื่ออัพสกิลและรีสกิล โดยสามารถวัดผลได้และมีวุฒิบัตรรับรอง หากมาอบรมภาคปฏิบัติเพิ่ม ณ ศูนย์อบรม ส่วนการเรียนผ่านช่อง Youtube จะไม่สามารถวัดและประเมินผล
หลักสูตรที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ เทคนิคการสร้างร้านค้าและขายสินค้าออนไลน์ รองลงมาคือการใช้ Microsoft Excel Advance และภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร และยังจัดฝึกอบรมให้แก่สถานประกอบการที่หยุดชั่วคราวช่วงโควิด เช่น ธุรกิจสปาและธุรกิจโรงแรม นอกจากนี้ยังเร่งพัฒนาการฝึกอบรมผ่านออนไลน์โดยร่วมมือกับบริษัทหัวเว่ยในการนำสัญญาณ 5G เข้ามาใช้ในการฝึกอบรม รวมถึงร่วมมือกับภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาเฉพาะทางเข้ามาเป็นภาคีเครือข่ายจัดฝึกอบรมมากขึ้น
ในระยะข้างหน้า กรมฯ ยังมีความท้าทายในการพัฒนา/ปรับทักษะอาชีพใหม่ๆ ให้แก่พี่น้องแรงงานนอกระบบที่มีอยู่ถึง 20 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแรงงานรับจ้างทั่วไปและกลุ่มเกษตรกร ซึ่งต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐในการพัฒนาทักษะฝีมือเฉพาะสาขาอาชีพ รวมถึงด้านเทคโนโลยี พัฒนาอาชีพเสริม และการรวมกลุ่มอาชีพตลอดจนนำแพลตฟอร์มการพัฒนาทักษะต่างๆ ที่มีอยู่มารวบรวมอยู่บนแพลตฟอร์มหลักคล้ายกับของ skillsfuture ของสิงคโปร์ หรือ skills-and-training ของออสเตรเลีย เพื่อสะดวกต่อการค้นหาของแรงงาน และด้านการวางนโยบายในอนาคต
ที่สำคัญคือ แรงงานเองก็จะต้องมีทักษะสำคัญของศตวรรษที่ 21 คือ การเรียนรู้ทักษะใหม่ (the skill of learning new skills) ด้วยเช่นกัน
(บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย)