'กระทรวงการคลัง' หนุน 2 แสนล้าน ช่วย SME รับมือ 'โควิด-19'
"กระทรวงการคลัง" เคาะมาตรการ ช่วยผู้ประกอบการ รับมือ "โควิด-19" พร้อมสนับสนุนสินเชื่อ 2.5 แสนล้าน และพักหนี้ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพ ย้ำพร้อมให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่
ผู้สื่อข่าวรายงาน ความเคลื่อนไหวในการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล วันอังคารที่ 23 มีนาคม 2564 ในการแถลงข่าวมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 นั้น อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้รายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการความช่วยเหลือดังกล่าว
ช่วงการระบาดโควิด-19 ภาคการท่องเที่ยวกระทบกับเศรษฐกิจของไทย ได้รับผลกระทบมากที่สุด คิดเป็น 11.5% ของจีดีพี ซึ่งที่ผ่านมามาตรการกระทรวงการคลัง ได้ดำเนินการ โครงการพักชำระหนี้ หรือยืดเวลาชำระหนี้ ปรับโครงงสร้างหนี้ ซึ่งโครงการทั้งหลายเหล่านี้ อาจยังไม่เพียงพอ ล่าสุดจึงมีการหารือเกี่ยวกับมาตรการ ระหว่างกระทรวงการคลัง และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยสามารถแจกแจงเป็นประเด็นต่างๆ ดังนี้
- ความร่วมมือระหว่างกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทยช่วยรับมือ โควิด-19
1. มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อทั้งขนาดใหญ่ และ SME จำนวน 2.5 แสนล้านบาท ผู้ประกอบธุรกิจพื้นฐานดี แต่ไม่ได้รับเงินดูแลอย่างเหมาะสม โดยสิ่งที่เพิ่มขึ้นมาคือ การค้ำประกันสินเชื่อ โดยในครั้งนี้ กระทรวงการคลังขอ บสย. มาค้ำประกันธุรกิจที่ใหญ่กว่าเอสเอ็มอีได้เป็นการชั่วคราว
2. พักหนี้ มีวงเงิน 1 แสนล้านบาท ช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพ แต่ติดขัด ธุรกิจที่ยังไม่สามารถประกอบกิจการได้ปกติ แต่เป็นหนี้กับการเงิน เอาทรัพย์สินมาวางกับสถาบันการเงินได้ ผู้ประกอบธุรกิจ ยังอยากทำก็สามารถเช่าทรัพย์สินตรงนี้มาทำธุรกิจต่อได้ โดยเงื่อนไขสำคัญ เมื่อเอาทรัพย์มาวางแล้ว ในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวก็มาซื้อคืนได้โดยไม่คิดกำไร
ส่วนกรณีที่มีหนี้เสียเกิดขึ้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า ภาครัฐก็จะรับการชดเชยให้ โยงไปถึงเรื่องอัตราดอกเบี้ย 6 เดือนแรก โดยรัฐจะให้การสนับสนุน ชดเชยให้ ไม่คิดดอกเบี้ย ส่วนใน 6 เดือนต่อมา ให้กินในอัตราเฉลี่ย 2% และไม่เกิน 5%
นอกจากนี้ยังมีการยกเว้น ลดหย่อนภาษีประเภทต่างๆ เช่น ภาษีที่ดิน โรงเรือน โดยมีการประสานกับทางมหาดไทย ลดภาษีเหลือ 0.01% ภาษีเงินได้ เงินได้นิติบุคคล ก็จะยกเว้นและลดหย่อนให้ด้วย
สำหรับ ความคืบหน้ามหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ ได้มีการจัดตั้งเวที เจ้าหนี้และลูกหนี้ มาไกล่เกลี่ยกัน โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนในศาล เพื่อลดเวลา และแก้ปัญหา เจรจากันได้รวดเร็ว ก็จะมีความคล่องตัวขึ้น ยืดหยุ่นขึ้น และช่วยให้ลูกหนี้ไม่ต้องถูกบังคับคดี อีกทั้งมีช่องทางอื่น เช่น ทางด่วนแก้หนี้ คลินิกแก้หนี้ เช่นลูกหนี้บัตรเครดิตต่างๆ ก็สามารถเข้ามาคุย เจรจาหนี้ได้อย่างรวบรัดทีเดียวกเลย