ควรใช้หรือไม่? 'ยาฟาวิพิราเวียร์' แก่ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวในรพ.สนาม
หลังจากที่ทาง "กทม." จะนำ "ยาฟาวิพิราเวียร์" มาใช้แก่ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวใน "รพ.สนาม" ก็ทำให้เกิดการตั้งคำถามขึ้นมาทันทีว่าควรใช้หรือไม่? เนื่องจากที่ผ่านมาการใช้ยาดังกล่าวจะใช้ในกลุ่มผู้ป่วยสีเหลือง
การแพร่ระบาดของ "โควิด-19" ในครั้งนี้ มีผู้ป่วยติดเชื้อที่มีอาการปานกลาง (กลุ่มสีเหลือง) และอาการรุนแรง (กลุ่มสีแดง) จำนวนเพิ่มขึ้นมาก คิดเป็น 14% ของ"ผู้ป่วยโควิด"ทั้งหมด ทำให้ในทุก ๆ วันที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นใน 100 คน จะมีผู้ป่วยอาการหนัก 14 คน ด้วยเหตุนี้ การเพิ่มจำนวนเตียงสำหรับการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางและอาการหนัก จึงเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน
- "กทม."ตั้งไอซียูสนาม แห่งแรกรับผู้ป่วย 432เตียง
ก่อนหน้านี้ "กทม."ได้เร่งขยายจำนวนเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการหนักใน รพ. กทม. ไปแล้ว 200 เตียง โดยได้นำผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยที่รักษาอยู่ในโรงพยาบาลออกไปรักษาต่อที่ "Hospitel"
แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดในขณะนี้ ที่มี "ผู้ป่วยอาการหนัก"มากขึ้นอย่างรวดเร็ว "กทม."จึงได้เร่งเพิ่มเตียงรองรับผู้ป่วยอาการหนักให้ได้มากกว่า 200 % โดยปรับพื้นที่อาคารของสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ เขตทุ่งครุ ให้เป็น ICU สนามแห่งแรกของไทย (โรงพยาบาลเอราวัณ 3) โดยจะเปิดในวันนี้ (4 พ.ค. 64) ที่สามารถรองรับผู้ป่วยได้มากถึง 432 เตียง
พร้อมจัดให้มีทีมบุคลากรทางการแพทย์จาก รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ คอยดูแลผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง มีเครื่องมือทางการแพทย์พร้อมสำหรับดูแลผู้ป่วย ทั้งเครื่องเอกซเรย์ปอด เครื่องวัดค่าออกซิเจนในปอด และระบบสอบถามอาการรักษาผ่านระบบ Telemedicine ที่สามารถพูดคุยกับทีมแพทย์ผ่านวีดีโอคอลได้ตลอดเวลา
- "กทม."หาข้อสรุปใช้ "ยาฟาวิพิราเวียร์"แก่ "รพ.สนาม"
นอกจากนั้น ทาง "กทม."ได้มีแผนในการนำ"ยาฟาวิพิราเวียร์" (Favipiravir)ยาต้านโควิด-19 แก่ "ผู้ป่วยโควิด" โดยเบื้องต้นกำหนดไว้ว่าจะใช้วิธีจ่ายยาให้แก่กลุ่มสีเขียวรายใหม่ กลุ่มที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อยที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสนามทันทีตั้งแต่วันแรก เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยโควิดเขียวติดเชื้อลุกลามหรือมีอาการรุนแรงขึ้น
แต่ทั้งนี้ โดยปกติยาฟาวิพิราเวียร์ทางการแพทย์จะเริ่มให้ผู้ป่วยเริ่มกินเมื่อการติดเชื้อแสดงอาการ(กลุ่มสีเหลือง)
ล่าสุด พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จึงได้มีกำหนดประชุมแนวทางการให้ "ยาฟาวิพิราเวียร์"แก่ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วน และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากหลายสถาบัน เช่น แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้แทนราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย อธิบดีกรมการแพทย์ พร้อมด้วยคณะแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มาร่วมหารือเพื่อหาข้อสรุปแนวทางที่เหมาะสมที่สุด
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ "กทม."ได้จัดซื้อมา 50,000 เม็ด และได้รับพระราชทานฯ อีก 50,000 เม็ด รวมเป็น 100,000 เม็ด เริ่มแจกผู้ป่วยที่เข้าสู่ "รพ.สนาม" คนละ 50 เม็ด (กินประมาณ 5 วัน) ส่วนระยะต่อไป กทม.จะซื้อ"ยาฟาวิพิราเวียร์"ผ่านทางมูลนิธิฯ อีก 500,000 เม็ด
- "ยาฟาวิพิราเวียร์"คงเหลืออีกว่า 1.6 ล้านเม็ด
ปัจจุบันปริมาณ"ยาฟาวิพิราเวียร์"คงเหลืออีกว่า 1.6 ล้านเม็ด และจะสั่งจากญี่ปุ่นอีก 2 ล้านเม็ดภายในวันที่ 12 พ.ค.นี้ โดยขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้มีการแจกจ่ายไปยังรพ. ทั้งในกรุงเทพมหานคร และภูมิภาคทุกเขตสุขภาพ มากกว่า 20 โรงพยาบาลทั่วประเทศ ซึ่ง ตั้งแต่วันที่ 26-30 เม.ย. 2564 มีการกระจายยาไปยังทุกจังหวัดที่มีผู้ป่วยทุกเขตสุขภาพแล้ว 765,600 เม็ด อาทิ โรงพยาบาลราชวิถี 190,500 เม็ด โรงพยาบาลนครพิงค์ 48,000 เม็ด
โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า 78,200 เม็ด โรงพยาบาลชลบุรี 70,000 เม็ด โรงพยาบาลหาดใหญ่ 18,500 เม็ด โรงเรียนแพทย์ แห่งละ 4,000 – 6,000 เม็ด และโรงพยาบาลภาคเอกชนกว่าแสนเม็ด รวมทั้ง มีการวางแผนจัดส่งยาฉุกเฉิน โดยองค์การเภสัชกรรม ผ่านทางสายการบินพาณิชย์ และรถโดยสารในจังหวัดที่ไม่มีสนามบินไว้ด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: เปิดแนวทางการใช้ 'ยาฟาวิพิราเวียร์' ตัวยาต้าน 'โควิด-19'
- หวั่นใช้ "ยาฟาวิพิราเวียร์" เกิดอาการดื้อยา
ขณะที่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า การให้"ยาฟาวิพิราเวียร์"คงเหลืออีกว่า 1.6 ล้านเม็ด แก่ผู้ป่วยที่เข้า รพ.สนามในพื้นที่กทม. ยังมีข้อสังเกตว่า การได้รับ"ยาฟาวิพิราเวียร์"คงเหลืออีกว่า 1.6 ล้านเม็ด จำเป็นต้องมีข้อบ่งชี้ หรือเฉพาะกลุ่มจริงๆ จะทำให้ 1.ประหยัด 2.ผลการรักษาจะดี และ3.ให้มากเกินไปอาจดื้อยาได้ เนื่องจากไวรัสเหล่านี้แปรเปลี่ยนได้ ดังนั้น ในเชิงการบริหารยาจำเป็นต้องได้รับความเชี่ยวชาญจากแพทย์ก่อน
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส "โควิด-19" ในระลอกนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการบริหารจัดการ "ยาฟาวิพิราเวียร์" อย่างมีประสิทธิภาพ และมีการกระจายไปตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศอย่างเพียงพอและทั่วถึง
สำหรับ "ยาฟาวิพิราเวียร์"เป็นยาที่ให้ในผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการ ตามแนวทางการรักษาภายใต้การดูแลของแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จึงพร้อมกระจายยาและสำรองยาให้กับทุกโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนที่รับผู้ป่วยมีอาการอย่างทันท่วงที และเพียงพอกับความต้องการใช้ เพื่อลดความรุนแรงและการเสียชีวิตจากโรค "โควิด-19"
- รัฐบาลเห็นความสำคัญ "ยาฟาวิพิราเวียร์"รักษาผู้ป่วย
ทั้งนี้ ในส่วนของนโยบายรัฐบาล ที่จะให้ไทยเป็นฐานการผลิต"ยาฟาวิพิราเวียร์" ในภูมิภาคนั้น ขณะนี้ได้ให้องค์การเภสัชกรรมเร่งดำเนินการตามขั้นตอน เพื่อเจรจากับผู้ขอรับสิทธิบัตร เพื่อให้ได้สิทธิผลิตยาชนิดนี้ในประเทศไทยได้เอง โดยองค์การเภสัชกรรมกำลังดำเนินการตามขั้นตอน เพื่อให้ได้สิทธิ "ยาฟาวิพิราเวียร์" เข้ามาผลิตในประเทศ โดยการพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตร"ยาฟาวิพิราเวียร์"นั้น
รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของ"ยาฟาวิพิราเวียร์"ที่สามารถใช้รักษา "ผู้ป่วยโควิด" ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนโยบายในการจัดหายาให้เพียงพอต่อความจำเป็นอย่างทันท่วงที ซึ่งทางกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ร่วมประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขอร่วมลงทุนผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ กับผู้ขอรับสิทธิบัตรในประเทศไทย เพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตในภูมิภาค
อีกทั้ง ยังมีการหารือถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาตำรับยาขึ้นใหม่จากสารออกฤทธิ์หลักของ"ยาฟาวิพิราเวียร์" ที่ไม่มีสิทธิบัตรในประเทศไทย ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันทีโดยไม่ต้องรอผลการพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตรใน"ยาฟาวิพิราเวียร์"ร์รูปแบบยาเม็ด ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญา ยืนยันว่า การดำเนินการทุกขั้นตอน เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย และมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ