ปี 2564 ประเทศไทยเตรียมรับมือ 'น้ำท่วม' พร้อมจับตาพื้นที่เสี่ยง
ปี 2564 ประเทศไทยเตรียมรับมือ "น้ำท่วม" ปริมาณน้ำฝนมีแนวโน้มสูงกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี พร้อมจับตาพื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่งครอบคลุม 32 จังหวัด
“น้ำท่วม” หนึ่งในวิกฤติที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทยที่เผชิญกันมาบ่อยครั้ง อีกมุมก็สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งช่วงที่ผ่านมามีกระแสข่าวออกมาว่า ปี 2564 นี้ ประเทศไทยจะต้องเจอกับฝนที่มากขึ้น ปริมาณน้ำฝนมีแนวโน้มสูงกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี
ขณะเดียวกันก็มีคาดการณ์ออกมาว่า ปีนี้ก็ยังต้องเจอกับภาวะฝนทิ้งช่วงเช่นกัน ซึ่งสร้างความกังวลอย่างมากว่า ปีนี้ประเทศไทยจะ “น้ำท่วม” หรือไม่? หรือจะกลับกลายเป็น “ภัยแล้ง” กันแน่? ในประเด็นนี้ “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ได้รวบรวมข้อมูล และได้คำตอบที่น่าสนใจอย่างมาก
- จับตาปริมาณ “ฝน” สูงกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี
หากตั้งต้นจากปริมาณ “ฝน” ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดน้ำท่วม หรือภัยแล้ง “สุกันยาณี ยะวิญชาญ” รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา อธิบายไว้ว่า ปี 2564 ปริมาณน้ำฝนมีแนวโน้มสูงกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี ซึ่งจะคล้ายกับสถานการณ์ในปี 2551 ปริมาณฝนสะสมทั้งประเทศสูงกว่าปกติ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคกลางบน
โดยฤดูฝนเริ่มต้นตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และปีนี้ฤดูฝนจะสิ้นสุดช่วงกลางเดือนตุลาคม 2564
ช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.2564 ปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องประมาณ 40-60% ของพื้นที่ และตกหนักในบางพื้นที่ ขณะที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีฝน 60-80% กับมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่และหนักมากในบางแห่ง
ส่วนช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.2564 ฝนจะตกชุกหนาแน่น 60-80% ของพื้นที่ กับมีฝนหนักในหลายพื้นที่ และหนักมากในบางแห่ง อาจเกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งในหลายพื้นที่
- ครึ่งแรกเดือน ก.ค.2564 ปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง อาจทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรในบางแห่ง โดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน
- เดือน ส.ค. หรือ ก.ย. คาดว่าพายุหมุนเขตร้อนจะเข้าสู่ประเทศไทย 2-3 ลูก โดยอาจมีโอกาสสูงที่จะเคลื่อนผ่านบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ
- เดือน ต.ค.2564 ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีฝนลดลง และเริ่มมีอากาศหนาวเย็นในตอนเช้า ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ จะมีฝนตกชุกหนาแน่น กับมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และหนักมากในบางแห่ง
- คาดเกิดน้ำท่วม จับตาพื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศ
ฟากของ “ทีมกรุ๊ป” (TEAMG) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำของประเทศ “ชวลิต จันทรรัตน์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ ก็ได้วิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำฝนปี 2564 เป็นไปในแนวทางเดียวกันว่า หลังจากที่ไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการตามเกณฑ์ทางอุตุนิยมวิทยา จะมีฝนตกชุกต่อเนื่อง และจะเพิ่มขึ้นช่วงปลายเดือนพฤษภาคม แต่พอเข้าสู่เดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม จะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง กระทบต่อภาคการเกษตรนอกเขตชลประทาน
หลังจากนั้นสิงหาคมและกันยายน ฝนจะเริ่มกลับมาชุก และมีฝนตกหนักถึงหนักบางแห่ง อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำยม ตั้งแต่ จ.สุโขทัย ถึง จ.พิจิตร และ จ.นครสวรรค์ ซึ่งในพื้นที่นั้นไม่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีเพียงแก้มลิงหนองหลวง สุโขทัย และแก้มลิงบางระกำ พิษณุโลก ซึ่งไม่เพียงพอต่อการรองรับประมาณน้ำฝนพื้นที่ท้ายเขื่อน ปัจจัยนี้จึงทำให้ทั้ง 3 จังหวัดเกิดน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี
นอกจากนี้ ทีมกรุ๊ป ยังวิเคราะห์ว่า ในเดือนกันยายนและตุลาคม ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ฝนจะตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง จากอิทธิพลร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่าน
และหากมีพายุก่อตัวขึ้นในมหาสมุทร แปซิฟิก หรือทะเลจีนใต้ พัดผ่านเข้า มาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในลักษณะพายุไต้ฝุ่น พายุโซนร้อน พายุดีเปรสชั่น หรือหย่อมความกดอากาศต่ำ จะทำให้เกิดฝนตกหนักเป็นบริเวณกว้าง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยใน จ.นครราชสีมา ศรีสะเกษ ยโสธร และอุบลราชธานี ขณะเดียวกัน ปีนี้ก็ต้องเฝ้าระวังที่มีความเป็นได้ที่จะมีพายุหมุนเขตร้อนเหมือนกับปีที่ผ่านมา
สำหรับพื้นที่ภาคกลาง จ.สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา ยังมีพื้นที่ลุ่มต่ำที่เป็นจุดอ่อนที่จะเกิดน้ำท่วม ต้องระวังฝนตกหนักต่อเนื่อง และมวลน้ำหลากจากภาคเหนือตลอดเดือนตุลาคมอย่างใกล้ชิด
ภาคตะวันออก และภาคใต้ ยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่น และฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ช่วงปลายฤดูฝน จ.ชลบุรี ระยอง และจันทบุรี จะเกิดน้ำจะท่วมจากการระบายน้ำฝนที่ตกหนักนานติดกันหลายชั่วโมงลงสู่คลองและทะเลไม่ทัน
อ.ปราณบุรี จ.เพชรบุรี และ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ น้ำจะหลากท่วมพื้นที่ช่วงเดือนตุลาคมต่อเนื่องถึงพฤศจิกายน และเดือนธันวาคม น้ำอาจจะท่วมส่งท้ายปีที่ จ.นครศรีธรรมราช พัทลุง และ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
“จากการประมวลวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์น้ำปี 2564 แม้ฝนจะมาเร็ว และคาดการณ์ปริมาณฝนช่วงก่อนมรสุมจะมีฝนตกมาก แต่ยังไม่พบสัญญาณความเสี่ยงน้ำท่วมใหญ่คล้ายกับปี 2554 ประกอบกับความสามารถของอ่างเก็บน้ำเขื่อนใหญ่ทั้ง 4 ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ยังมีน้ำอยู่น้อยสามารถรองรับน้ำได้มากกว่าปี 2554 ซึ่งปัจจุบันอ่างเก็บน้ำเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 4 มีน้ำรวมกัน 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าน้อย และมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคจนสิ้นฤดูแล้งเท่านั้น และสภาพพื้นที่รับน้ำก็เปลี่ยนแปลงแตกต่างจากเมื่อ 10 ปีที่แล้วเป็นอย่างมาก” นายชวลิต กล่าว
- “กรมชลประทาน” เตือน 32 จังหวัด ระวังน้ำล้นตลิ่ง
ขณะที่ในมุมของการเตรียมการรับมือและบริการจัดการน้ำ อย่างกรมชลประทาน “ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล” รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้ตอกย้ำว่า ปีนี้สภาพฝนคล้ายปี 2551 และคาดการณ์ว่า จะมีพื้นที่ที่ต้องการน้ำประมาณ 30,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) โดยแบ่งเป็นพื้นที่เพื่อการเกษตร 2.16 ล้าน ลบ.ม. อุปโภคบริโภค 2.67 ล้าน ลบ.ม. อุตสาหกรรม 849 ล้าน ลบ.ม. ระบบนิเวศและอื่นๆ 5,200 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้กรมชลประทานได้เตรียมพร้อมรับมือแล้ว โดยได้วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซาก พื้นที่เกษตรเสี่ยงน้ำท่วม กำหนดให้มีผู้รับผิดชอบในพื้นที่ต่างๆ ที่จะได้รับผลกระทบ เบื้องต้นที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ด้วยการได้รับการสนับสนุนให้พื้นที่ทุ่งบางระกำทำนาปีตั้งแต่เมษายน ขณะที่ปริมาณน้ำฝนที่เกิดขึ้นคล้ายกับปี 2551 จะส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่งครอบคลุม 32 จังหวัด
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นการคาดการณ์และการวิเคราะห์ล่วงหน้า ยังคงต้องจับตาและเฝ้าระวังต่อไป รวมถึงเตรียมรับมือหากเกิดสถานการณ์ “น้ำท่วม” ขึ้นจริง
ที่มา : bangkokbiznews1, bangkokbiznews2