'พลาสมา' ของคุณช่วยผู้ป่วยโควิดได้ รู้คุณสมบัติผู้บริจาคที่นี่
ชวนรู้ "พลาสมา" สามารถช่วยรักษาผู้ป่วยติดเชื้อ "โควิด-19" ได้อย่างไร? รวมถึงผู้ที่ประสงค์จะไปบริจาคพลาสมา (เคยเป็นผู้ป่วยโควิดแต่รักษาจนหายดีแล้ว) จะต้องมีคุณสมบัติทางร่างกายอย่างไรบ้าง? เช็คลิสต์ทางนี้
ก่อนหน้านี้ประเทศไทยมีการรณรงค์ให้ผู้ที่เคยป่วยด้วยโรค "โควิด-19" และรักษาตัวจนหายดีแล้ว สามารถไปบริจาค "พลาสมา" หรือน้ำเลือดได้ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เพื่อนำไปช่วยรักษาผู้ป่วยโควิดคนอื่นๆ เป็นการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
แม้วันนี้จะมียา "ฟาวิพิราเวียร์" ที่ใช้รักษาโรคโควิด-19 แล้ว แต่ "พลาสมา" ก็ยังมีความสำคัญในแง่ของการศึกษา และพัฒนาเพื่อนำมาใช้รักษาโรคโควิดได้อีกทางเช่นกัน และ นพ.ยง ภู่วรวรรณ ระบุว่ายังคงเปิดบริการรับบริจาคอย่างต่อเนื่อง กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ชวนรู้จักเรื่องราวของ "พลาสมา" กันอีกครั้ง
1. พลาสมา คืออะไร?
พลาสมา (plasma) คือ ของเหลวที่เป็นหนึ่งในส่วนประกอบของเลือด เรียกว่า "น้ำเลือด" มีสีเหลืองอ่อน ค่อนข้างใส มีปริมาณ 55% ของปริมาตรเลือดทั้งหมด (ส่วนประกอบหลักๆ ของเลือดคือ 1.พลาสมา 2.เกล็ดเลือด 3.เม็ดเลือดขาว/เม็ดเลือดแดง) โดยภายในพลาสมานี้มีส่วนประกอบแยกย่อยลงไปอีก ได้แก่
- น้ำ : เป็นส่วนประกอบหลักที่มีอยู่มากถึง 90%
- เกล็ดเลือด/เม็ดเลือด : เกล็ดเลือดและเซลล์เม็ดเลือดขาว 4% เซลล์เม็ดเลือดแดง 41%
- โปรตีน ที่ช่วยควบคุมความดันและความสมดุล : albumin globulin และ fibrinogen
- โปรตีน ที่ช่วยป้องกันสิ่งแปลกปลอม : แอนติบอดี (antibody), ฮอร์โมน และเอนไซม์
- สารอินทรีย์ สารอนินทรีย์ และก๊าซต่างๆ : NaCl, Ca, K, Bicabonate, ยูเรีย, กรดยูริก, แอมโมเนีย, กรดอะมิโน กลูโคส, ไขมัน, ออกซิเจน, คาร์บอนไดออกไซด์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
2. ทำไม "พลาสมา" สำคัญต่อผู้ป่วยโควิด?
ก่อนหน้านี้ หมอยง หรือ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาสื่อสารผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า มีการใช้พลาสมาไปแล้วในผู้ป่วยกว่า 100 ราย และยังมีผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้อีกมาก แต่ไม่สามารถจัดหาได้ในขณะนี้
นพ.ยง จึงเชิญชวนผู้ป่วยโควิดที่หายแล้วมาบริจาคพลาสมา โดยมีประกาศเป็นรอบที่ 2 เนื่องจากพลาสมาจากการบริจาคในรอบแรกถูกนำไปใช้หมดแล้ว ซึ่งหากรอบ 2 นี้มีผู้มาบริจาคพลาสมากันมาก โอกาสช่วยเหลือผู้อื่นก็มีมากขึ้นตามไปด้วย แต่ทั้งนี้ผู้บริจาคต้องมีร่างกายแข็งแรงผ่านคุณสมบัติตามเกณฑ์
ผู้สนใจบริจาค สามารถลงทะเบียนออนไลน์ ได้ที่ Facebook fanpage ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย โดยจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไปนัดหมายคัดกรองในรายละเอียดต่อไป สอบถามโทร. 0 2256 4300 หรือลงทะเบียนออนไลน์ได้ที่ : https://1th.me/ZJChu
3. คุณสมบัติของผู้ที่ต้องการบริจาค "พลาสมา"
ไม่ใช่ผู้ที่หายป่วยจากโควิดทุกคนจะสามารถบริจาคพลาสมาได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านสุขภาพของผู้บริจาคหลายอย่างที่ต้องเช็ค โดยผู้ที่อยากบริจาคต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
- ผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วพำนักอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลที่เดินทางได้สะดวก
- รักษาหายแล้ว ออกจากโรงพยาบาลอย่างน้อย 14 วัน และมีผลตรวจเป็นลบแล้ว
- รักษาหายแล้ว ออกจากโรงพยาบาลและกักตัวอยู่บ้านรวมกันแล้วครบ 28 วัน
- อายุ 18 ถึง 60 ปี
- น้ำหนักตัวไม่ต่ำกว่า 55 กก.
- สุขภาพแข็งแรงดี
พลาสมาของผู้ที่หายป่วยจากสโควิด พบว่ามี "ภูมิต้านทานสูง" ในปริมาณที่สามารถจะใช้ในการรักษาโรคโควิดให้ผู้ป่วยรายอื่นๆ ได้ ทั้งยังสามารถเก็บไว้ได้นาน 1 ปี ดังนั้นจึงเป็นประโยชน์มาก ซึ่ง นพ.ยง ระบุว่าการให้พลาสมากับผู้ป่วยตั้งแต่เริ่มมีอาการปอดบวมจะได้ผลดีที่สุด
ด้านองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ได้มีคำสั่งอนุมัติฉุกเฉินเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2563 ที่ผ่านมา อนุญาตให้คณะแพทย์นำพลาสมาของผู้ป่วยที่หายแล้ว มาทำการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้ โดยมีผลการศึกษายืนยันว่า การใช้พลาสมาผู้ที่หายป่วยมารักษาสามารถลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ (อ่านเพิ่ม : หยุดหรือไปต่อ 'หมอยง' ตอบชัด 'พลาสมา' ไทยไปถึงไหนแล้ว?)
---------------------------------
ที่มา : ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย, springnews