'คลัง-เวิลด์แบงก์"เปิดแนวทาง ฟื้นเศรษฐกิจไทยฝ่าวิกฤติโควิด

'คลัง-เวิลด์แบงก์"เปิดแนวทาง ฟื้นเศรษฐกิจไทยฝ่าวิกฤติโควิด

“ธนาคารโลก” จัดสัมมนา THAILAND ECONOMIC MONITOR เส้นทางสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยมี“กูรู”ด้านเศรษฐกิจมาให้มุมมองแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย หลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีผู้ติดเชื้อรายวันอยู่ระดับสูงกว่า 9,000 คนต่อวัน

"อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลจะใช้ 3 แนวทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะต่อไป แนวทางแรก คือ มาตรการช่วยเหลือและเยียวยาภาคธุรกิจและประชาชนระยะสั้น มองว่ายังจำเป็น โดยเฉพาะมาตรการทางการเงินนั้น ได้ดำเนินการพักชำระหนี้ใน 10 จังหวัดล็อกดาวน์ระยะ 2 เดือน แต่คิดว่าเราจะยืดระยะเวลามาตรการนี้ให้ยาวออกไปอีก

แนวทางที่สอง คือ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจรองรับการฟื้นตัวยั่งยืน แนวทางที่สาม คือ การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค โดยจะดำเนินการผ่านการปฏิรูปโครงสร้างรายได้ เพื่อให้รัฐบาลมีรายได้ที่ยั่งยืนรองรับวิกฤติต่างๆ

อย่างไรก็ตามเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจปีนี้ คือ การส่งออก ในเดือนพ.ค.และมิ.ย.ถือว่าส่งออกได้ดี ดีกว่าหลายปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า ภาคการผลิตยังดำรงอยู่ได้

นอกจากนี้ ลงทุนเอกชน ดูได้จากการนำเข้าสินค้าทุนของประเทศ มีสัญญาณเป็นบวกมาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา อีกด้าน คือ เสถียรภาพเศรษฐกิจ ดูได้จากทุนสำรองที่มั่นคง หนี้สาธารณะยังอยู่ระดับต่ำกว่าเกณฑ์ ในเดือนพ.ค.อยู่ที่ 55%

"เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา" นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก กล่าวว่า มองเห็นสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากการส่งออกและนโยบายการคลังที่ประคองเศรษฐกิจระดับแมคโครและกลุ่มเป้าหมายผู้ยากจน ทั้งนี้ รัฐบาลได้ใช้นโยบายทางการคลังขนาดใหญ่มาดูแลเศรษฐกิจ งบประมาณที่ใช้ส่วนใหญ่นำไปเยียวยา ส่งผลให้ระดับการขาดดุลมีมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะรายได้ลดลง

อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอาจต้องใช้เวลากว่าที่จะกลับเข้าสู่ระดับเดิมในปี 2565 แต่หากโควิด-19 ยังระบาดต่อ อาจใช้เวลานานกว่านั้น ผลกระทบต่อสถานการณ์การคลังจะทำให้ระดับหนี้สาธารณะในปี 2565 ขยับเกินกรอบความยั่งยืนการคลัง โดยอยู่ที่ประมาณ 62% ต่อจีดีพี เป็นการเพิ่มขึ้นรวดเร็วเทียบก่อนเกิดโควิด-19 อยู่ที่ 43% ต่อจีดีพี แต่ภาพรวมการคลังถือว่า ยังยั่งยืน ถ้าระยะยาวมีมาตการทางด้านขยายฐานภาษีเข้ามาเพิ่มเติม หนึ่งในข้อเสนอ คือ การใช้นโยบายการคลังที่เจาะจงมากขึ้น เนื่องจาก ข้อจำกัดทางด้านการคลัง

"กุลยา ตันติเตมิท"ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลยังมีช่องทางที่จะกู้เงินเพื่อเยียวยาเศรษฐกิจได้อีก ่หากจำเป็นต้องขยายเพดานการก่อหนี้ ก็สามารถทำได้ โดยดูช่วงเวลาที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ในอนาคตก็จำเป็นต้องหารายได้จากภาษี เพื่อให้ฐานะการคลังของประเทศมีความยั่งยืนในระยะยาวได้ด้วย

"ดอน นาครทรรพ" ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า ในด้านการเงินเรายังเข้มแข็ง สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ได้มีการรายงานถึงระดับเงินกองทุนภายใต้เศรษฐกิจที่ติดลบของธนาคารพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์ และประกันว่ายังมีเพียงพอ โดยภาคการเงินยังเป็นเสาหลักของระบบเศรษฐกิจ

"นิพนธ์ พัวพงศกร" นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)กล่าวว่า เกรงว่าผลกระทบจากโควิด-19ในครั้งนี้ จะทำให้ประเทศไทย ติดกับดักความยากจนอีกครั้ง รวมถึงติดกับดักนโยบายประชานิยม โดยเฉพาะในภาคการเกษตรที่เราใช้เม็ดเงินอุดหนุนมากถึงปีละกว่าแสนล้านบาท