'ไทย' ชาติเดียวอาเซียน ไร้ชื่อโครงการ 'COVAX'

'ไทย' ชาติเดียวอาเซียน ไร้ชื่อโครงการ 'COVAX'

โครงการ "COVAX" เริ่มจัดส่งวัคซีนให้ประเทศที่เข้าร่วมตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา และโครงการนี้ได้ส่งมอบวัคซีนโควิด-19 ให้อาเซียนแล้วเป็นจำนวนประมาณ 33 ล้านโดส แต่ไม่มีไทย เพราะเหตุใด ติดตามได้จากรายงาน

ในเอกสารแผนประเมินการแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ของ COVAX (โคแวกซ์) ต้นปี 2564 ระบุว่า มีชาติสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศอยู่ในแผนที่คาดว่า จะได้รับวัคซีนโควิด-19 จากโคแวกซ์ โดยไม่ปรากฏประเทศไทยอยู่ในเอกสารฉบับนี้ โดยในกลุ่ม 9 ประเทศแบ่งเป็น

1.ประเทศที่สั่งซื้อวัคซีนด้วยเงินทุนของประเทศตนเอง (Self-financing participant: SFP) ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน

จะมีหลักประกันว่า อย่างน้อยจะมีวัคซีนเพียงพอสำหรับประชากรส่วนหนึ่งของประเทศ ขึ้นอยู่ว่าจะซื้อเท่าใด

2.ประเทศที่ทำสัญญาจองล่วงหน้า (Advance Market Commitment: AMC) ได้แก่ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว เมียนมา ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

ประเทศในกลุ่ม AMC จะมีบางประเทศได้รับเงินสนับสนุนจากโคแวกซ์ ในการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ด้วย ขึ้นอยู่กับสถานะของประเทศนั้นๆ ว่า เข้าเกณฑ์เป็น "ประเทศยากจน" ที่จะได้รับความช่วยเหลือหรือไม่ หากไม่เข้าเกณฑ์ก็ยังต้องใช้งบประมาณซื้อวัคซีนโควิด-19 ในราคาที่ตกลงไว้กับโคแวกซ์อยู่

   

  • แผนแจกจ่ายวัคซีนจากโคแวกซ์ให้อาเซียน

โคแวกซ์ ระบุว่า การจัดสรรวัคซีนโควิด-19 จะคำนวณตามสัดส่วนประชากรเป็นหลัก และคาดว่า สมาชิกอาเซียนทั้ง 9 ชาติจะได้รับวัคซีนโควิด-19 ตามจำนวนที่ระบุไว้ ได้แก่

- เมียนมา 4,224,000 โดส
- ลาว 564,000 โดส
- เวียดนาม 4,886,400 โดส
- กัมพูชา 1,296,000 โดส
- ฟิลิปปินส์ 5,617,800 โดส
- อินโดนีเซีย 13,708,800 โดส
- มาเลเซีย 1,624,800 โดส
- สิงคโปร์ 288,000 โดส และ
- บรูไน 100,800 โดส

ส่วนชนิดของวัคซีนโควิด-19 ที่โครงการโคแวกซ์แจกจ่ายให้กับประเทศที่เข้าร่วมมีอยู่ด้วยกัน 3 ยี่ห้อคือ โควิชิลด์ (Covishield) แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) และ ไฟเซอร์ (Pfizer)

นอกจากนี้ โครงการโคแวกซ์ยังเป็นตัวกลางในการแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ที่ "รัฐบาลสหรัฐบริจาค" โดยในขณะนี้ โครงการโคแวกซ์ได้จัดส่งวัคซีน "โมเดอร์นา" (Moderna) และ "จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน" (Johnson & Johnson) ให้กับอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนามและลาวแล้ว

   

  • ‘สิงคโปร์’ เล็งบริจาควัคซีนเข้า COVAX 

กรณีของสิงคโปร์นั้น เป็นประเทศที่สั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 ด้วยเงินทุนตัวเองผ่านโคแวกซ์ และมีแผนจะบริจาควัคซีนเข้าโคแวกซ์ เพื่อส่งต่อไปยังประเทศยากจนอื่นๆ โดยนายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ประกาศเตรียมบริจาควัคซีนโควิด-19 ส่วนเกินให้กับโครงการโคแวกซ์ หลังมีวัคซีนเพียงพอใช้งานในประเทศแล้ว

ในกรณีของเมียนมา ที่กำลังเผชิญสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในระดับรุนแรง รวมทั้งปัญหาความรุนแรงหลังเกิดรัฐประหารตั้งแต่เดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ล่าสุด คณะทำงานขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น)ประจำเมียนมาระบุว่า วัคซีนโควิด-19 ที่จัดสรรผ่านโคแวกซ์ จะถูกจัดส่งให้เมียนมาในเร็วๆ นี้ พร้อมยืนยันเป้าหมายการจัดส่งวัคซีนโควิด-19 ให้ครอบคลุมประชากรเมียนมา 20% ภายในปี 2564

  

  • ‘ไทย’ หนึ่งเดียวในอาเซียนไม่ร่วม COVAX

ส่วนประเทศไทย รัฐบาลไทยยืนยันตั้งแต่ช่วงต้นปีว่า ไทยไม่เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ ทำให้ไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ไม่เข้าร่วมโครงการนี้ ตามที่ก่อนหน้านี้ นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีสาธารณสุข ระบุว่า ไทยได้เจรจากับโคแวกซ์มาตลอด แต่ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ได้รับวัคซีนฟรี เนื่องจากโคแวกซ์ให้สิทธิแก่ประเทศยากจนที่องค์การอนามัยโลก และพันธมิตรวัคซีนกาวี (Gavi) ให้การสนับสนุนจำนวน 92 ประเทศ แต่ไทยเป็นประเทศฐานะปานกลาง หากจะร่วมกับโคแวกซ์ ไทยต้องซื้อราคาแพงกว่า และไม่สามารถเลือกวัคซีนจากผู้ผลิตรายใดได้ ทำให้เกิดความไม่แน่นอน ทั้งชนิด จำนวน และราคา รวมทั้งต้องจ่ายเงินล่วงหน้า

162691210722

ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงเหตุผลว่า รัฐบาลตัดสินใจอย่างรอบคอบ บนพื้นฐานระหว่างผลประโยชน์และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น โดยชี้ว่า ไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง ซึ่งเป็นประเทศในอาเซียนจัดอยู่ในระดับที่มีรายได้ปานกลางจนถึงระดับสูง ประกอบด้วย ไทย บรูไน สิงคโปร์ และมาเลเซีย จะไม่เข้าข่ายได้รับความช่วยเหลือให้ได้รับ “วัคซีนฟรี” หรือให้ซื้อได้ใน “ราคาถูก” จากโครงการโคแวกซ์ แต่มี 6 ประเทศในอาเซียนที่ได้รับวัคซีนฟรี ได้แก่กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว เมียนมา ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

ขณะที่นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ชี้ว่า โครงการโคแวกซ์มีหลากหลายความร่วมมือและหน้าที่ ทั้งการจัดสรรวัคซีนฟรีส่งให้กับประเทศรายได้ปานกลางและประเทศยากจน การแลกเปลี่ยนและหยิบยืมวัคซีนมาใช้ก่อน รวมทั้งความร่วมมือด้านการวิจัยพัฒนาวัคซีนระหว่างประเทศ

   

  • เพิ่มโอกาสไทยบริจาควัคซีนให้ชาติอื่น

แม้ไทยจะไม่ได้เข้าเป็นโครงการแบ่งปันวัคซีนโคแวกซ์ แต่ได้ร่วมบริจาคให้องค์การอนามัยโลกเป็นจำนวน 200,000 ดอลลาร์ เพื่อสร้างความเชื่อมโยงกับกลไกโคแวกซ์ (COVAX Facility) จึงทำให้ไทยสามารถแลกเปลี่ยน จำหน่าย หรือแจกจ่ายวัคซีนที่ไทยผลิตได้เองให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในอนาคตข้างหน้า

การเข้าร่วม COVAX Facility ประเทศสมาชิกไม่เพียงสามารถเข้าถึงเครือข่ายวัคซีนที่ใหญ่ที่สุดในโลกเท่านั้น แต่ COVAX Facility ยังสามารถติดตามและตรวจสอบผลจากการฉีดวัคซีน ด้วยการพิจารณาจากหลักวิทยาศาสตร์ รวมถึงประเมินความสามารถในการขยายการผลิต และทำงานร่วมกับผู้ผลิตเพื่อสร้างแรงจูงใจให้พวกเขาเพิ่มความสามารถในการผลิตวัคซีนด้วย