กรมอุตุฯ คาด 20-22 พ.ค.นี้ เข้าสู่ฤดูฝน จับตา! พายุลูกใหม่อีก
อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าจะประกาศเข้าสู่ฤดูฝนได้ในช่วงปลายสัปดาห์นี้หรือต้นสัปดาห์หน้า จับตาเดือนกันยายนนี้ เจอพายุลูกใหม่อีก 1-2 ลูก ปลายปี 66 ประเมินสถานการณ์ “เอลนีโญ”
เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2566 ดร.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนต่อสถานการณ์ฤดูฝนปี 2566 ว่า ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ภาวะเอลนีโญระยะเวลา ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับตัวเป็นกลาง ก็คาดว่าจะเข้าสู่ฤดูฝนในปลายสัปดาห์นี้ (วันที่ 20 พ.ค.) หรือต้นสัปดาห์หน้า (วันที่ 22 พ.ค.) ขอดูปัจจัยที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจนอีกครั้งก่อนที่จะประกาศเข้าสู่ฤดูฝน ก็คือ ดูทิศทางลมว่าลมเปลี่ยนทิศจากตะวันตกไปทิศตะวันออกหรือไม่ หรือมีการกระจายของฝนตกในทุกพื้นที่หรือไม่ หรือระยะเวลาที่ฝนตกติดต่อกัน ซึ่งเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องที่อยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์ แต่คาดว่าจะประกาศเข้าสู่ฤดูฝนได้ในช่วงปลายสัปดาห์นี้หรือต้นสัปดาห์หน้า
“เมื่อมีการประกาศเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงที่บอกนั้น แต่พอเข้าสู่เดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคมจะเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง ซึ่งช่วงนี้จะทำให้มีฝนน้อยกว่าค่าปกติ ที่น่าเป็นห่วงก็คือ พอประกาศเข้าสู่ฤดูฝนแล้วชาวนาก็เตรียมที่จะลงมือทำนา ซึ่งเรื่องกรมอุตุฯ เองได้บูรณาการร่วมกับกรมชลประทาน มีการายงานผ่านกองอำนวยการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงกรมชลประทานได้ประชาสัมพันธ์ไปยังเกษตรกรให้วางแผนการเพาะปลูก การกักเก็บน้ำ การระบายน้ำเข้าสู่นาของตนเอง และต้องวางแผนการใช้น้ำอย่างประหยัด การสำรองน้ำไว้ใช้ช่วงที่ฝนอาจทิ้งช่วง” อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าว
ดร.ชมภารี กล่าวอีกว่า สำหรับช่วงเดือนสิงหาคม มีแนวโน้มว่าจะมีปริมาณฝนที่เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงเดือนกันยายน ตุลาคม จะมีฝนตกชุกเพิ่มมากขึ้น ช่วงนี้มีแนวโน้มที่จะมีพายุหมุนเขตร้อนเข้ามาในประเทศไทย 1 ถึง 2 ลูก เป็นการคาดการจากสถิติย้อนหลัง 30 ปี ก็จะเป็นช่วงการเติมน้ำให้กับประเทศ ต่อจากนั้นก็จะเข้าสู่ช่วงปลายฤดูฝนในช่วงกลางเดือนตุลาคมไปจนถึงปลายปี 2566 ประเทศไทยจะเข้าสู่สภาวะเอลนีโญ ซึ่งยังจะมีกำลังอ่อน และสถานการณ์เอลนีโญจะยาวไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2567
“ภาพรวมของฝนในปี 2566 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาจะน้อยกว่าราว ร้อยละ 5 แต่ว่าปีนี้สถานการณ์ยังไม่ถึงขั้นแล้ง และจากการหารือกับทางกรมชลประทานก็ทราบว่าในเขื่อนต่างๆ ยังมีปริมาณน้ำที่กักเก็บในเขื่อนเพียงพออยู่ ซึ่งปริมาณน้ำมีมากกว่าเมื่อปี 2559 ในปีนั้นอยู่ในสถานการณ์เอลนีโญกำลังแรง ตรงนี้ก็ต้องมีการวางแผนการใช้น้ำเพราะหากว่าปีหน้า (ปี 2567) เกิดสถานการณ์เอลนีโญกำลังแรงขึ้นและเกิดต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ปริมาณฝนมีน้อยกว่าค่าปกติมากๆ ก็จะต้องมีการวางแผนการใช้น้ำในปีหน้าว่าจะเอาน้ำจากที่ไหนมาใช้ ซึ่งสถานการณ์เอลนีโญในปีหน้าจะแรงหรือไม่นั้นทางกรมฯ จะประเมินอีกครั้งในช่วงปลายปี 2566 ขณะนี้เพียงคาดการณ์ได้ว่า เอลนีโญอาจจะยาวไปถึงกลางปีหรือปลายปีหน้า ส่วนจะรุนแรงหรือไม่ต้องประเมินอีกครั้งในช่วงปลายปี 66”