รู้จัก 'แบลงค์กัน' สิ่งเทียมอาวุธปืน ที่เด็ก 14 ใช้ยิงผู้บริสุทธิ์ในห้างดัง
'แบลงค์กัน' คืออะไร ทำไมใช้กระสุนจริงได้ หลัง 'เด็ก 14' ใช้ก่อเหตุอุกอาจยิงผู้บริสุทธิ์ในห้างพารากอน เสียชีวิต 2 และบาดเจ็บอีก 5
จากเหตุ 'กราดยิงพารากอน' ที่ 'เด็ก 14' นำ 'แบลงค์กัน' (Blank Guns) สิ่งเทียมอาวุธปืนมาดัดแปลงใช้กับกระสุนจริงก่อเหตุยิงผู้บริสุทธิ์ในห้างพารากอนเมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บ 5 ราย นั้น
วันนี้เราเลยจะพาไปทำความรู้จัก "แบลงค์กัน" คืออะไร ทำไมถึงสามารถดัดแปลงให้สามารถใช้กับกระสุนจริงได้
แบลงค์กัน (Blank Guns) คืออะไร?
แบลงค์กัน (Blank Guns) หรือ แบลงค์ฟายลิ่งกัน (Blank Firing Guns) คือ ปืนจำลอง หรือโมเดลปืนที่จำลองรูปแบบและหลักการทำงานมาจากปืนจริง แต่ไม่สามารถขับเครื่องกระสุนหรือเม็ดกระสุนใดๆออกมาจากลำกล้องได้ ปัจจุบันได้มีการพัฒนารูปลักษณ์ภายนอกและหลักการทำงานให้เหมือนอาวุธปืนของจริงเกือบ 100% เป็นอุปกรณ์จำลองที่ถูกพัฒนามาจาก 'บีบีกัน'
แต่ปัจจุบันได้มีการนำเอาโครงปืนแบลงค์กันไปดัดแปลงเพื่อให้ใช้กระสุนจริงยิงได้ และมีขายเกลื่อนตามเพจในโซเชียล ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย
ทั้งนี้ ตามรายงานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายกระทรวงมหาดไทย คณะที่ 1 ครั้งที่ 19/2565 เมื่อวันพุธที่ 7 กันยายน 2565 ในระเบียบวาระที่ 3 มีข้อหารือตีความสถานะของ ปืนแบลงค์กัน (Blank Guns)
โดย กองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี กองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) ได้มีหนังสือ ที่ ตช 0039.73/510 ลงวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2565 เรื่อง สอบถามรายละเอียดปืนแบลงค์กัน และเครื่องกระสุนปืนแบลงค์กัน จัดเป็นอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 หรือไม่ อย่างไร และบุคคลใดจะครอบครอง หรือนำเข้าเพื่อการค้าจะต้องมีการขออนุญาตแบบใด และมีขั้นตอนทางกฎหมายอย่างไร
โดย กรมการปกครอง (สำนักการสอบสวนและนิติการ) เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 4(1) กำหนดนิยามคำว่า 'อาวุธปืน' หมายความรวมตลอดถึงอาวุธทุกชนิดซึ่งใช้ส่งเครื่องกระสุนโดยวิธีระเบิดหรือกำลังดันของแก๊ส หรืออัดลม หรือเครื่องกลไกอย่างใด ซึ่งต้องอาศัยอำนาจของพลังงานและส่วนหนึ่งส่วนใดของอาวุธนั้นๆ ซึ่งรัฐมนตรีเห็นว่าสำคัญ และได้ระบุไว้ในกฎกระทรวง
แต่ปรากฏว่า 'ปืนแบลงค์กัน' คือ ปืนเลียนแบบ ปืนจำลอง หรือปืนโมเดล ที่จำลองรูปแบบและหลักการการทำงานมาจากอาวุธปืนจริง แต่ไม่สามารถขับเครื่องกระสุนปืนหรือเม็ดกระสุนใดๆออกมาจากลำกล้องได้ ในกระบวนการออกแบบและผลิตปืนแบลงค์กันจะป้องกันให้ปืนแบลงค์กันไม่สามารถใช้กระสุนปืนจริงได้
รูปแบบการทำงานปืนแบลงค์กันประเภทไฟออกจากปากกระบอก หรือที่เรียกว่า (Front Firing) คือ เมื่อบรรจุกระสุนของปืนแบลงค์กันแล้วทำการยิง จะทำให้เกิดเสียงดังลักษณะเช่นเดียวกับอาวุธปืน มีการคัดปลอกกระสุนในปืนแบลงค์กันรุ่นที่มีระบบสไลด์แบบกึ่งออโตเมติก และมีแสงแฟลชออกปลายกระบอกปืนโดยที่ไม่มีการขับเคลื่อนสิ่งใดออกมาจากปากกระบอก การออกแบบหลักการทำงานเช่นนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้สามารถใช้กับเครื่องกระสุนปืนจริงได้ จะมีเพียงรูระบายแก๊สขนาดเล็กออกปลายกระบอก และมีเหล็กแกนที่แข็งแรงปิดกั้นเอาไว้อีกด้วย
วัตถุประสงค์ของปืนแบลงค์กันส่วนใหญ่ใช้ในการถ่ายทำภาพยนต์ การกีฬา การปล่อยตัวนักกีฬา การสะสม การฝึกซ้อมก่อนการมีอาวุธปืนจริง และลดอัตราการครอบครองอาวุธปืนจริงโดยไม่จำเป็น
ดังนั้น 'ปืนแบลงค์กัน' จึงถือเป็น 'สิ่งเทียมอาวุธปืน' ตามมาตรา 4(5) แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ด้วยความที่เป็นสิ่งเทียมอาวุธปืนนั้น เวลาจะใช้ก็จะมีกฎหมายบังคับอยู่ด้วย เช่น เรื่องการพกพา การนำพา การใช้งาน ไม่สามารถพกพาไปโดยเปิดเผยหรือทำให้ผู้อื่นสามารถสังเกตเห็นได้ เพราะอาจจะมีความผิดฐานทำให้ผู้อื่นตกใจ และการนำพาไปยังสถานที่ต่างๆก็ควรจะเก็บไว้ในกล่องให้เรียบร้อย ห้ามพกเหน็บเอวเด็ดขาด
ทั้งนี้เมื่อ 'แบลงค์กัน ไม่ใช่อาวุธปืน' จึงไม่ต้องขออนุญาตก่อนซื้อ แต่เวลาที่ซื้อจำเป็นจะต้องให้สำเนาบัตรประชาชนกับร้านค้าไว้ด้วย เพื่อที่ทางร้านจะได้นำไปลงบันทึกว่ารายการนี้เป็นของผู้ใด
ผบ.ตร. ชง มหาดไทย แก้กฎหมายปืนแบลงค์กัน เป็นอาวุธผิดกฎหมาย
ขณะที่ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ระบุถึงมาตรการเกี่ยวกับปืนแบลงค์กันว่า ตอนนี้ได้มีการประสานงานกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) แล้วว่าต้องให้ปืนแบลงก์กันผิดกฎหมาย หรือถือว่าเป็นอาวุธ ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ซื้อไม่ผิดกฎหมาย แต่นำเข้าประเทศต้องแจ้ง และช่วงที่ผ่านมาพบว่ามีการนำเข้ามาเยอะมาก แม้ว่าจะมีการตรวจยึดปืนประเภทนี้ก็ไม่สามารถเอาผิดได้ เนื่องจากไม่ใช่อาวุธผิดกฎหมาย
'มีคดีที่ก่อเหตุจากปืนแบลงก์กันเกิดขึ้นเยอะมาก สำหรับความอันตรายของแบลงก์กันนั้นหากยิงแนบกับศีรษะก็อันตรายถึงแก่ชีวิตได้ แต่ปืนที่ผู้ก่อเหตุใช้นั้นมีการดัดแปลงแมกกาซีน ซึ่งสามารถศึกษาได้จากโลกออนไลน์ เมื่อดัดแปลงแล้วก็สามารถยิงกระสุนจริงได้ โดยเคสนี้จะนำมาสู่การป้องกันและการเฝ้าระวังเหตุกราดยิงในอนาคต เนื่องจากในต่างประเทศผู้ก่อเหตุมักถูกวิสามัญในที่เกิดเหตุทั้งสิ้น'