การไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับหุ้นส่วนบริษัท
ในการจัดตั้งและบริหารกิจการของห้างหุ้นส่วนบริษัท โดยเฉพาะบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด มักมีปัญหาข้อพิพาทเกิดขึ้นและเป็นคดีฟ้องร้องกันที่ศาล
ข้อพิพาทที่ พบมากจากคำพิพากษาคือ พิพาทกันเรื่องกรรมสิทธิ์ในหุ้น ประเด็นการโอนหุ้น และรายชื่อผู้ถือหุ้นในบัญชีที่ส่งต่อนายทะเบียนที่ถูกเปลี่ยนแปลง การประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเพื่อแต่งตั้งและถอดถอนกรรมการ อำนาจของกรรมการผูกพันบริษัทแค่ไหนเพียงใด
ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจนเป็นคดีฟ้องร้องกันในศาลที่สู้คดีกันถึงสามศาล บางคดีใช้เวลาเกือบสิบปี ระหว่างที่มีข้อพิพาทเกิดขึ้น ย่อมมีผลกระทบต่อการดำเนินกิจการของบริษัทที่อาจชงักลงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ปัจจุบันกฎหมายไทยมีวิวัฒนาการในการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาท ก้าวหน้าไปมาก โดยไม่ต้องรอจนเสร็จกระบวนการพิจารณาและมีคำพิพากษาของศาล
ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อคู่พิพาททั้งด้านการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย และยังเป็นประโยชน์ไม่ทำให้การดำเนินกิจการของบริษัทต้องหยุดชะงักเป็นเวลานาน คือ
การไกล่เกลี่ยตามกฎหมายการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
คือการไกล่เกลี่ยตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทพ.ศ.2562 แต่การไกล่เกลี่ยตามกฎหมายฉบับนี้ มีข้อจำกัด ข้อพิพาทที่ไกล่เกลี่ยได้อาจไม่ครอบคลุมข้อพิพาทเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนบริษัทครบทุกประเด็น
การไกล่เกลี่ยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
การไกล่เกลี่ยชั้นพิจารณาคดี
เมื่อปี พ.ศ.2542 มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เปิดช่องให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชั้นพิจารณาคดีได้โดยแก้ไขปรับปรุงมาตรา 20 และเพิ่มเติมมาตรา 20 ทวิ คือ
“มาตรา20ไม่ว่าการพิจารณาคดีจะได้ดำเนินการไปแล้วเพียงใด ให้ศาลมีอำนาจที่จะไกล่เกลี่ยให้คู่ความได้ตกลงกัน หรือประนีประนอมยอมความในข้อพิพาทนั้น
มาตรา 20 ทวิเพื่อประโยชน์ในการไกล่เกลี่ย เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอ ศาลจะสั่งให้ดำเนินการเป็นการลับเฉพาะ ต่อหน้าตัวความทุกฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยจะให้มีทนายความอยู่อยู่ด้วยหรือไม่ก็ได้
เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอ ศาลอาจแต่งตั้งบุคคลหรือคณะบุคคลเป็นผู้ประนีประนอม เพื่อช่วยเหลือศาลในการไกล่เกลี่ยให้คู่ความได้ประนีประนอมกัน
หลักเกณฑ์และวิธีการในการไกล่เกลี่ยของศาล การแต่งตั้งผู้ประนีประนอมรวมทั้งอำนาจหน้าที่ของผู้ประนีประนอม ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
ข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาตามวรรคสามเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้”
การไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง
เมื่อปี พ.ศ.2563 มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เปิดช่องให้มีการไกล่เกลี่ยก่อนยื่นฟ้องคดีได้ โดยการเพิ่มเติมมาตรา20 ตรี คือ
“มาตรา 20 ตรี ก่อนยื่นฟ้องคดี บุคคลที่จะเป็นเป็นคู่ความอาจยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจหากมีการฟ้องคดีนั้น เพื่อขอให้ศาลแต่งตั้งผู้ประนีประนอมทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยให้คู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้ตกลงหรือประนีประนอมยอมความกันในข้อพิพาท
โดยคำร้องนั้นให้ระบุชื่อและภูมิลำเนาของคู่กรณี รวมทั้งรายละเอียดของข้อพิพาท เมื่อศาลเห็นสมควรให้ศาลรับคำร้องนั้นไว้แล้วดำเนินการสอบถามความสมัครใจของคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งในการเข้าร่วมการไกล่เกลี่ยนั้น
หากคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งยินยอมเข้าร่วมในการไกล่เกลี่ย ให้ศาลมีอำนาจเรียกคู่กรณีที่เกี่ยวข้องมาศาลด้วยตนเอง โดยคู่กรณีจะมีทนายความมาด้วยหรือไม่ก็ได้ และแต่งตั้งผู้ประนีประนอมดำเนินการไกล่เกลี่ยต่อไปโดยให้นำความในมาตรา 20 ทวิมาใช้บังคับโดยอนุโลม
ถ้าคู่กรณีที่เกี่ยวข้องสามารถตกลงหรือประนอมยอมความกันได้ ให้ผู้ประนีประนอมเสนอข้อตกลงหรือสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาล
หากศาลพิจารณาและเห็นว่าข้อตกลงหรือสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นเป็นไปตามเจตนาของคู่กรณี หลักแห่งความสุจริตเป็นธรรมและไม่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ก็ให้คู่กรณีลงลายมือชื่อในข้อตกลงหรือสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น
ในวันทำข้อตกลงหรือสัญญาประนีประนอมยอมความตามวรรคหนึ่ง คู่สัญญาอาจร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาตามยอมพร้อมแสดงเหตุผลความจำเป็นต่อศาล
หากศาลเห็นว่ากรณีมีความจำเป็นที่สมควรจะมีคำพิพากษาไปในเวลานั้น ก็ให้ศาลมีคำพิพากษาไปตามความตกลงหรือสัญญายอมความดังกล่าวได้โดยให้นำความในมาตรา 138 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
การขอและดำเนินการตามมาตรานี้ไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาล คำสั่งของศาลที่ออกตามความในมาตรานี้ให้เป็นที่สุด”
ความเห็น เห็นได้ว่า บทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีความแพ่งที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม ที่เปิดช่องให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ทั้งชั้นพิจารณาคดี และก่อนยื่นฟ้อง จะเป็นประโยชน์ในการระงับข้อพิพาทให้ยุติได้เร็ว โดยเฉพาะการไกล่เกลี่ยก่อนยื่นฟ้อง สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลซึ่งจะประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในฐานะที่เป็นผู้มีหน้าที่ผิดชอบกฎหมายหุ้นส่วนบริษัท และกฎหมายบริษัทมหาชนจำกัด เป็นสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลาง มีบุคลากรเป็นนายทะเบียนรับจดทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทและบริษัทมหาชนจำกัด ใกล้ชิดกับข้อมูลและคู่กรณีที่พิพาทกัน
น่าจะให้คำแนะนำคู่กรณีให้ใช้การไกล่เกลี่ยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้น แทนการฟ้องคดีต่อศาลและรอจนเสร็จกระบวนการพิจารณาและมีคำพิพากษาของศาล
ซึ่งจะเป็นประโยชน์ ต่อคู่พิพาทและไม่ทำให้การดำเนินกิจการของบริษัทต้องชะงักลงนานเกินควร และยังเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของศาลไม่ให้มีคดีหุ้นส่วนบริษัทค้างอยู่ในศาลมาก
ทั้งนี้ หากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ประสานกับสำนักงานศาลยุติธรรม ในการให้ความรู้ความเข้าใจกับคู่พิพาทถึงขั้นตอนการดำเนินการไกล่เกลี่ยและประโยชน์ในการไกล่เกลี่ยทั้งในชั้นพิจารณาและก่อนยื่นฟ้อง ก็น่าจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง.