กรมอนามัยบอก ร้านซ่อมจักรยานอันตรายต่อสุขภาพ
ก่อนจะเข้าเรื่องว่าร้านจักรยานเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพไหม ขอแจ้งข้อดีของจักรยานก่อนเลยว่าจักรยานนี้แหละที่เป็นอุปกรณ์ง่ายๆราคาไม่แพงที่ชาวบ้านเอามาใช้เพื่อทำกิจกรรมทางกายให้มีสุขภาพที่ดีได้
นอกจากนี้การใช้จักรยานในชีวิตประจำวันของชาวบ้านนั้นยังสามารถช่วยลดโลกร้อนได้ด้วย เรื่องจักรยานนี้ได้ไปไกลถึงเป็นระเบียบวาระของโลกไปแล้ว ถึงขนาดมีวันจักรยานโลก World Bicycle Day ที่องค์การสหประชาชาติให้การรับรองแล้วด้วย มีแต่ไทยนี่แหละที่ยังมีวิสัยทัศน์ไปไม่ถึง
จักรยานมีข้อดีมากมาย แต่ทำไมหลวงจึงบอกว่าร้านจักรยานเป็นกิจการที่เป็นอันตราย ที่มาที่ไปเป็นดังนี้
สำนักอนามัยของกรุงเทพมหานครได้สอบถามไปยังกรมอนามัย ว่า
1) ร้านจักรยานอยู่ในกลุ่มกิจการยานยนต์ใช่ไหม กรมฯตอบว่าจากประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยกลุ่มกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ๒๕๕๘ ก็ต้องถือว่าใช่ เพราะรถจักรยานเป็นยานพาหนะแบบหนึ่ง
2) ต่อคำถาม ร้านขายจักรยานรวมทั้งอะไหล่ เช่น ล้อ ยาง ขาตั้ง ฯลฯ แต่ไม่รับจ้างซ่อม ไม่มีเปลี่ยนหรือติดตั้งอะไหล่ นี้เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่
กรมฯตอบว่าหากไม่มีการซ่อม ไม่มีการเปลี่ยนหรือติดตั้งอะไหล่ ก็ไม่เข้าข่ายเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ฟังแล้วค่อยใจชื้นหน่อย
3) ถ้าเป็นร้านจักรยานเหมือนข้อ 2) แต่มีกิจกรรมอื่นด้วย คือมีการเปลี่ยนหรือติดตั้งอะไหล่ เช่น เปลี่ยนยาง เติมลม รวมถึงเปลี่ยนชิ้นส่วนเล็กๆแบบน็อต ถือว่าเข้าข่ายหรือไม่
กรมฯชี้แจงว่า กฎหมายของกระทรวง สธ. เป็นกฎหมายอาญา โทษแรง จึงต้องตีความอย่างเคร่งครัด และต้องดูด้วยว่าการทำร้านจักรยานที่มีการซ่อมด้วยนั้นมีความเสี่ยงต่อลูกจ้าง ลูกค้า ชุมชน เช่น ใกล้วัด ใกล้โรงเรียน และสิ่งแวดล้อม เช่น เสียงดัง ฝุ่น กลิ่น สารเคมี อุบัติเหตุ อัคคีภัย พาหะนำโรค หรือไม่
เมื่อกรมฯพิจารณาแล้วเห็นว่ากิจกรรมพวกนั้นมีความเสี่ยง ร้านพวกนั้นจึงเข้าข่ายเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
อ่านถึงตรงนี้แล้วตระหนกต่อผลกระทบที่จะตามมาขึ้นมาทันที แล้วร้านซ่อมจักรยานที่มีอยู่ทุกหัวระแหงทั่วประเทศนี้จะต้องทำอะไรต่อไปอย่างไร
4) สำหรับร้านตามข้อ 2 ที่ไม่เข้าข่ายแล้วนั้น หากเจ้าพนักงานท้องถิ่นไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม พบว่า มีการเปลี่ยนหรือติดตั้งอะไหล่ให้กับลูกค้าด้วย เช่น เปลี่ยนยาง เติมลม รวมถึงน็อตต่างๆ ก็จะเข้าข่ายด้วยเช่นกันทันที
ถ้าไปถามชาวบ้านว่ามีร้านขายอะไหล่จักรยานที่ไหนบ้างที่ไม่รับซ่อม เขาคงงง ตอบไม่ได้
5) มีอีกคำถามที่ยังกำกวม คือ ถามว่าถ้าร้านขายจักรยานและอะไหล่นั้น มีการปรับแต่งความสูงของอานหรือมือจับ (หมายถึงแฮนด์)ให้เข้ากับรูปร่างสูงเตี้ยของคน
เรื่องนี้ชาวบ้านทั่วไปคงงงเช่นกันเพราะไม่เคยมีประเด็นนี้ในความคิด แต่สำหรับนักจักรยานทั้งเพื่อการท่องเที่ยวและแข่งขัน เรื่องนี้สำคัญสำหรับเขา เขาเรียกว่าการ fitting ร้านพวกนี้จึงเป็นร้านขายสินค้าราคาแพง มิใช่ระดับชาวบ้าน
หากร้านเช่นว่านี้ทำดังว่า แต่บอกว่าไม่รับซ่อม แบบนี้ถือว่าเข้าข่ายหรือไม่ กรมฯไม่ได้ตอบชัดเจน แต่(ผม)อนุมานได้ว่าเข้าข่ายเพราะกรมฯคงอนุมานเช่นกันว่าเป็นการซ่อม
ทีนี้ก็มาถึงการวิเคราะห์ความเสี่ยงและความควรไม่ควรของเรื่องนี้ กระทรวงสาธารณสุขซึ่งรวมถึงกรมอนามัยด้วยได้แนะนำมาตลอดให้ประชาชนหันมาสนใจเรื่องสุขภาพเพื่อลดงบประมาณด้านการรักษาพยาบาล
การใช้จักรยานในวิถีชีวิตของชาวบ้านนอกจากสามารถทำให้สุขภาพดีได้แล้ว ยังลดค่าใช้จ่ายครัวเรือน เพิ่มระบบเศรษฐกิจชุมชน ลดมลพิษในละแวก ลดโลกร้อน ฯลฯ ได้อีกด้วย
หากทว่าหลวงไปตีความกฎหมายอย่างแคบ ๆ แล้วทำให้การใช้จักรยานเกิดปัญหาขึ้น เช่น ไม่รู้จะเอาจักรยานไปเปลี่ยนยางที่ไหน ไปซ่อมที่ไหน ไปสูบลมที่ไหน เกิดความไม่สะดวกนานับประการขึ้น ทำให้บางคนมีข้ออ้างที่จะหันไปใช้มอเตอร์ไซค์แทน ปัญหาสังคมสิ่งแวดล้อมนี้ก็จะแก้ไม่ได้
จึงอยากขอให้กรมอนามัยหันกลับไปตีความกฎหมายนี้อย่างกว้าง และทำความชัดเจนนี้ให้สังคมกระจ่างด้วย จะเป็นคุณต่อบ้านเมืองเป็นอย่างยิ่ง ขอขอบคุณในความกรุณานั้นล่วงหน้าไว้ ณ ที่นี้ครับ.