ปรากฏการณ์ "ช้างในห้อง” ของที่รู้แต่ไม่อยากพูด

ปรากฏการณ์ "ช้างในห้อง” ของที่รู้แต่ไม่อยากพูด

ปรากฏการณ์ “ช้างในห้อง” (Elephant in the room) หมายถึง ปัญหาหรือเรื่องสำคัญใหญ่โต ที่แม้ว่าคนจะเห็นตำตาอยู่ทุกวัน และรู้สึกอึดอัดกระอักกระอ่วนกับมัน แต่ทุกคนกลับละเลยทำเป็นมองไม่เห็น ใช้ชีวิตอยู่กับปัญหาอันใหญ่โตนั้นเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ไม่สบายใจแต่ก็ไม่อยากพูดไม่อยากตั้งคำถาม ทั้งที่ในใจร่ำร้องและคาดหวังการปรับปรุงแก้ไข เป็นที่มาของคำว่า “ช้างในห้อง” ที่ใหญ่โตยืนตระหง่านชัดเจนอยู่กลางห้อง แต่ทุกคนทำเป็นเหมือนมองไม่เห็น

ทำไมจึงเกิดปรากฏการณ์ “ช้างในห้อง” คำตอบคือ เรื่องบางเรื่องถือเป็นเรื่องต้องห้ามทางสังคม เช่น ในสังคมไทยไม่มีใครอยากวิพากษ์วิจารณ์พระสงฆ์ ทั้งที่รู้ว่ามีการวิ่งเต้นใช้เงินกับเรื่องยศตำแหน่ง มีผลประโยชน์จากเครื่องรางของขลัง อวดอุตริ และมีพฤติกรรมขัดต่อพระธรรมวินัย

บางเรื่องที่ไม่ใส่ใจเพราะกลัวผลกระทบที่จะติดตามมาด้วยทัศนะแบบไทยๆ ว่า “พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง” บางเรื่องเป็นเรื่องอ่อนไหวหรือต้องห้ามทางการเมือง บางเรื่องพูดแล้วจะบาดหมางเสียความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และบางเรื่องที่คนทำเฉยเพราะคิดว่าเดี๋ยวมันคงคลี่คลายไปเอง 

ในระดับองค์กร ปรากฏการณ์ “ช้างในห้อง” เป็นเรื่องที่เกิดได้เป็นปกติ องค์กรที่ให้น้ำหนักมากๆ กับวัฒนธรรมสร้างความกลมเกลียวเหนียวแน่น ประเภท “ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน” จะไม่มีใครกล้าพูดอะไรที่จะนำมาซึ่งความบาดหมาง ทุกอย่างก็เลยถูกซุกไว้ใต้พรมตลอดเวลา

ในองค์กรที่มีปัญหาเรื่องการสื่อสาร ขาดช่องทางการสื่อสารที่เหมาะสม ไม่ทำให้พนักงานรู้สึกสะดวกใจและได้รับการปกป้องเมื่อพูดอะไรที่เป็นปัญหาสำคัญๆ ออกมา “ช้างในห้อง” ก็จะคงอยู่ต่อไปเรื่อยๆ

บางองค์กรที่ผู้นำแสดงออกว่าไม่พร้อมเปลี่ยนหรือกลัวการเปลี่ยนแปลง ปรากฏการณ์นี้ก็จะคงอยู่ เพราะการลุกขึ้นมาพูดถึงปัญหาหลักหรือปัญหาสำคัญย่อมตามมาด้วยการเปลี่ยนแปลงโครสร้าง กระบวนการ วัฒนธรรมขององค์กรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แม้แต่ในองค์กรที่บูชาผู้นำหรือมองว่าผู้นำเป็นเทพ ก็อาจจะเกิดปรากฏการณ์นี้ได้ เพราะเชื่อมั่นในตัวผู้นำมากเกินไป เชื่อว่าผู้นำเห็นปัญหาและคงเอาอยู่ จึงไม่มีใครคิดจะส่งเสียงอะไรออกมา ความเชื่อมั่นอย่างเกินเบอร์นี้เองอาจทำให้ปัญหาลุกลามจนพาองค์กรเข้าสู่วิกฤตได้

ยุคสมัยที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงการมีคนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาทำงานในองค์กร ปรากฏการณ์ “ช้างในห้อง” ที่น่าอึดอัดไม่มีใครอยากพูดถึงสำหรับคนในรุ่นก่อน ควรได้รับการจัดการ ไม่เช่นนั้นจะทำให้คนรุ่นใหม่เกิดความท้อถอยไม่อยากร่วมมือ สร้างความขัดแย้ง

ยิ่งหากเจอกับคนทำงานเจนใหม่ๆ ที่บางครั้งไม่ชอบรอ ไม่ชอบเก็บงำความรู้สึกเมื่อเห็นปัญหา ก็อาจจะนำมาซึ่งการบาดหมางในทีมงานได้ ในขณะเดียวกันภาวะผู้นำของผู้บริหารจะถูกท้าทายและถดถอยลงในสายตาของลูกน้องด้วย

คำแนะนำที่จะจัดการกับปรากฏการณ์ช้างในห้องคือ ขั้นแรกผู้นำต้องแสดงออกว่ารับรู้ในปัญหา และกล้าหาญพอที่จะหยิบปัญหาที่อยู่ใต้พรมขึ้นมาวางบนโต๊ะ แล้วเปิดโอกาสให้พูดคุยสื่อสารกันอย่างเปิดเผย มีช่องทางเหมาะสมในการสื่อสาร

ทำให้ทุกคนในทีมรู้ทั่วกันว่าปัญหาอยู่บนโต๊ะที่ควรจะหาทางออกร่วมกัน ไม่ใช่ตำหนิกล่าวโทษกัน ขั้นตอนนี้ท้าทายและยากที่สุด หากผู้นำไม่กล้าหาญ ทุกอย่างก็เหมือนเดิม

ต้องสร้างบรรยากาศแห่งความปลอดภัย ทำให้พนักงานรู้สึกปลอดภัยที่จะสื่อสาร ไม่ต้องกังวลกับผลกระทบที่จะตามมา อาจใช้เครื่องมือสำรวจความเห็นโดยไม่เปิดเผยชื่อ การพูดคุยกับผู้บริหารโดยตรง หรือการสร้างทีมงานเฉพาะขึ้นมารับฟังปัญหาโดยไม่แพร่งพรายชื่อพนักงานที่ให้ข้อมูล

พยายามสร้างการมีส่วนร่วมของทุกคน มีการประชุมกันบ่อยครั้ง ร่วมกันสร้างทางเลือกที่สามารถนำไปใช้ได้จริง ซึ่งบางครั้งอาจต้องการคนจากข้างนอกองค์กรเข้ามาช่วยนำการประชุม เพื่อให้พนักงานลดความเกร็ง

ผู้นำต้องจริงจังที่จะขับเคลื่อน แสดงออกถึงความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลง ต้องติดตามความคืบหน้าในการแก้ปัญหา ประเมินผล และปรับแก้อย่างต่อเนื่อง บางเรื่องต้องอาศัยเวลา จะแก้กันเร็วๆ ไม่ได้ ก็ต้องแจ้งความก้าวหน้าและอุปสรรค เป็นระยะๆ 

หัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาช้างในห้องจึงอยู่ที่ความจริงใจจริงจังของผู้นำ และการสร้างวัฒนธรรมการสื่อสารที่เปิดเผยและโปร่งใส ซึ่งจะต้องทำให้เป็นสิ่งถาวรและยั่งยืนในองค์กร เพื่อป้องกันปรากฏการณ์ช้างในห้องที่จะเกิดใหม่ในอนาคตด้วย
 “ช้างในห้อง”

สำหรับองค์กรว่าใหญ่และเป็นปัญหายุ่งยากแล้ว ช้างในสังคมไทยมหึมายิ่งกว่าหลายเท่า และไม่ค่อยจะได้รับการพูดถึงหรือสะสางเท่าไร ทั้งช้างในรัฐบาล ช้างในพรรคการเมือง ช้างในสภา ช้างในกองทัพ ช้างในสำนักงานตำรวจ และช้างในทุกกระทรวง

ทุกคนเห็นปัญหาแต่ชินชากับช้างเหมือนคนน้ำท่วมปาก หรือไม่ก็มีผลประโยชน์ต่างตอบแทน เมื่อสมประโยชน์จึงเงียบงันกันไปหมด ยิ่งเผชิญกับสถานการณ์ที่มีผู้นำที่ไร้ภาวะผู้นำเข้าไปด้วย “ช้างในห้อง” จึงนับวันจะขยายใหญ่ขึ้น จนประชาชนอึดอัดแทบทนไม่ไหวแล้ว

หากรัฐบาลจะจัดการกับ “ช้างในห้อง” ให้จริงจังสัก 2-3 เรื่อง บางทีคะแนนนิยมจะกระเตื้องขึ้นได้ทันตาเห็น.