มอง "โดนัลด์ ทรัมป์" เห็นประเทศไทย | ไสว บุญมา

มอง "โดนัลด์ ทรัมป์" เห็นประเทศไทย | ไสว บุญมา

นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากแสดงความวิตกทันที เมื่ออดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ พูดกับผู้สื่อข่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า “ในหลายๆ กรณี ผมมีสัญชาตญาณเหนือกว่าคนที่จะมาเป็นกรรมการ หรือประธานคณะกรรมการของธนาคารกลาง”

คำพูดและความวิตกนั้นอาจมองได้จากหลากมุม เช่น จากมุมกว้าง แสดงให้เห็นว่าจุดยืนของนายทรัมป์ตั้งแต่ครั้งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐสมัยแรกยังคงเดิม กล่าวคือ ประธานาธิบดีควรมีอำนาจในด้านการดำเนินนโยบายการเงินมากกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ 

ในปัจจุบันประธานาธิบดีมีหน้าที่แต่งตั้งประธานและกรรมการของธนาคารกลาง แต่ไม่อาจเข้าไปก้าวก่ายการดำเนินนโยบายรายวัน รวมทั้งการกำหนดอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการ 

กฎหมายนั้นสะท้อนแนวคิดพื้นฐานของการบริหารจัดการเศรษฐกิจระบบตลาดเสรีในปัจจุบัน นั่นคือ ธนาคารกลางต้องมีอิสระในด้านการดำเนินนโยบายการเงินจากฝ่ายการเมือง ซึ่งมักยึดผลประโยชน์ทางการเมืองในระยะสั้นเหนือความมั่นคงของเศรษฐกิจในระยะยาว

มองจากมุมแคบกว่านั้น อันเป็นเรื่องพฤติกรรมของนายทรัมป์เอง คำพูดของเขาสะท้อนการยกตัวเองเหนือผู้อื่นซึ่งเขาทำอย่างต่อเนื่องมานาน รวมทั้งการมีสัญชาตญาณในด้านเศรษฐกิจเหนือความรู้ของผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้

พฤติกรรมของนายทรัมป์ในช่วงที่เขาเป็นประธานาธิบดี มีผลพวงมากมายจากในสังคมอเมริกันไปถึงสังคมโลก เนื่องจากสหรัฐเป็นมหาอำนาจทั้งทางทหารและทางเศรษฐกิจ ในขณะนี้ มีคดีอาญาหลายคดีที่นายทรัมป์เป็นจำเลยอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล

 ภาวการณ์นี้มีผู้ชี้ว่าเกิดจากนายทรัมป์ล้มละลายทางศีลธรรมจรรยามานาน หากเขาได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีอีกสมัย เขาจะทำให้เกิดความวุ่นวาย ไม่เฉพาะในด้านเศรษฐกิจในสหรัฐเท่านั้นหากเป็นหลายด้านทั่วโลก

อนึ่ง การบริหารจัดการเศรษฐกิจของชาวโลกส่วนใหญ่ในปัจจุบันวางอยู่บนฐานของระบบตลาดเสรีที่ “อดัม สมิธ” วางไว้ในตำราพิมพ์ออกมาเมื่อปี 2319 ชื่อ The Wealth of Nations ตำราเล่มนี้มีสมมติฐานอันสำคัญยิ่งที่ผู้แต่งมิได้แจงไว้เป็นลายลักษณ์อักษรทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ตระหนัก นั่นคือ ระบบตลาดเสรีจะทำงานได้ดีตามที่เขาเสนอก็ต่อเมื่อผู้นำมาใช้มีคุณธรรม

คุณธรรมในที่นี้เราอาจมองว่ามี 2 ด้าน นั่นคือ ความรู้อันเป็นส่วนประกอบสำคัญของปัญญาและสัมมาเจตนา ในกรณีของนายทรัมป์

ความวิตกของนักเศรษฐศาสตร์ดังกล่าวและของชาวโลก มาจากการอวดดีว่าตนมีความรู้และปัญญาเหนือกว่าผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดเสรี พร้อมกันนั้นอาจมองได้ว่า เขาไร้สัมมาเจตนาเนื่องจากเป็นผู้ล้มละลายทางศีลธรรมจรรยาแล้ว

หากเรานำกรณีของนายทรัมป์มามองเมืองไทย เราอาจเห็นอะไรหลายอย่าง เมืองไทยโชคดีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีประวัติยาวนานในด้านการมีอิสระจากการก้าวก่ายของฝ่ายการเมือง แม้จะมีความพยายามเป็นครั้งคราวจากฝ่ายการเมืองที่จะทำตามแนวคิดของนายทรัมป์ก็ตาม

 นอกจากนั้น คณะกรรมการ ผู้บริหารและพนักงานเองยังแสดงให้เห็นถึงการมีความรู้และสัมมาเจตนามาเป็นเวลานานอีกด้วย อย่างไรก็ดีเกี่ยวกับเรื่องนี้อาจมีข้อยกเว้นอยู่บ้าง หากมองจากมุมของวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัยดังมีรายละเอียดอยู่ในหนังสือชื่อ “บันทึกประวัติศาสตร์ รายงาน ศปร. มูลเหตุเศรษฐกิจไทยเกือบล้มละลาย”

ข้อยกเว้นเกิดจากความสงสัยในบทบาทของธนาคารทางด้านการนำเข้าทุนต่างชาติจำนวนมหาศาล เพื่อใช้ในการเก็งกำไรและการนำเงินสำรองของชาติเพียง 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์ไปต่อกรกับนักโจมตีค่าเงินระดับโลกจนเงินสำรองสูญไปเกือบทั้งหมด

เช่นเดียวกับเรื่องจุดยืนของนายทรัมป์ ในช่วงนี้มีการกล่าวถึงฝ่ายการเมืองของไทยต้องการเข้าไปก้าวก่ายในการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทยอีกครั้ง

สืบเนื่องมาจากการคัดค้านของธนาคารเรื่องการแจกเงินดิจิทัลให้แก่คนไทยหลายสิบล้านคน คนละ 1 หมื่นบาท โดยมีเหตุผลหลายด้านที่คัดค้านการแจกเงินดังกล่าว 

ประชานิยมแบบเลวร้ายเป็นด้านที่มีความสำคัญไม่ต่ำกว่าด้านอื่น หากมองจากมุมของเรื่องราวในอาร์เจนตินาซึ่งทำให้ประชาชนเสพติดการแจกของภาครัฐ การแจกต้องใช้งบประมาณ

เมื่อรัฐบาลปิดงบประมาณด้วยการใช้เงินสำรองของชาติและการพิมพ์ธนบัตรแบบเสรีประเทศก็ล้มละลาย หากรัฐบาลไทยยังแจกต่อไป ในวันหนึ่งข้างหน้าจะต้องใช้วิธีเดียวกัน วันล้มละลายรออยู่