จิตสำนึกรักองค์กร พลังขับเคลื่อนที่สำคัญ
ตัวจักรสำคัญของการพัฒนาในทุกองค์กรคือ “บุคลากร” หรือ “คน” ในองค์กรนั้นๆ เพราะ คน คือ ปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนสิ่งต่าง ๆ ให้ก้าวไปข้างหน้าตามเป้าประสงค์ที่วางไว้ บุคลากรทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งที่สูงหรือต่ำกว่า ล้วนมีส่วนสำคัญในการร่วมพัฒนาองค์กรทั้งสิ้น
“ความรักและความภักดี” ต่อองค์กรถือเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานขององค์กรให้บรรลุตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผล
ในหลายองค์กร องค์ประกอบของบุคลากรมักประกอบไปด้วยความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของอายุ เพศ สาขาวิชาที่เรียนมา ประสบการณ์ชีวิตในด้านต่างๆ ฯลฯ ดังนั้น การยอมรับในความต่าง จึงเป็นหัวใจสำคัญของการอยู่ร่วมกันเพื่อพัฒนาองค์กร
ปัจจัยสำคัญของการยอมรับในความต่าง คือ “การมีทัศนคติในเชิงบวก” เพราะหากบุคคลหนึ่งบุคคลใดมีทัศนคติในเชิงลบต่อสิ่งรอบข้าง บุคคลนั้นย่อมหาความสุขที่แท้จริงให้กับตนเองได้ยากยิ่ง และเมื่อคนเราอยู่อย่างไม่มีความสุข ก็ยากนักที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต
ปัจจุบันหลายองค์กรต่างให้ความสำคัญกับบุคลากรของตนในมิติต่าง ๆ ทั้งในด้านของการพัฒนาสมรรถนะ การเพิ่มศักยภาพและแรงจูงใจ รวมไปถึงการสร้างจิตสำนึกที่ดีต่อองค์กร เพื่อให้องค์กรได้รับการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน
สุพัตรา สุภาพ (2543) ระบุว่า พฤติกรรมหลัก ๆ ที่แสดงถึงความรักองค์กร อาทิ การจงรักภักดีต่อองค์กร การไม่เอาความลับขององค์กรไปเปิดเผย การแจ้งข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กร การมีจิตที่จะบริการ
การคิดเสมอว่าเราทุกคนคือ ประชาสัมพันธ์ขององค์กร และที่สำคัญที่สุดคือ ต้องสร้างภาพพจน์ที่ดีแก่องค์กร ต้องสร้างและนำเสนอสิ่งดี ๆ ขององค์กรสู่สาธารณะ เป็นต้น
ในขณะที่ ไพรัช ศิลาศรี (2559) ให้ความหมายของ “ความจงรักภักดีต่อองค์กร” ไว้ว่า คือความรู้สึกและทัศนคติของบุคลากรที่ดีต่อองค์กร ปฏิบัติงานได้อย่างทุ่มเทและอุทิศตนให้กับองค์กร มีความพึงพอใจในการทำงาน พอใจในผลงาน วัฒนธรรม ตลอดจนรู้สึกรัก และมีความผูกพันต่อองค์กร และจะปฏิบัติงานอยู่ในองค์กรต่อไปด้วยความเต็มใจ และทุ่มเท
การสำรวจ “ความผูกพันขององค์กร” หรือที่เรียกว่า Workforce Engagement ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ถูกนำมาใช้ในหลายองค์กร คือ การสำรวจเพื่อวัดระดับความมุ่งมั่น ความผูกพันของบุคลากรทั้งด้านสติปัญญา และความรู้สึกที่มีต่อองค์กรในมิติต่าง ๆ
ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการองค์กร สภาพความเป็นอยู่ขององค์กร รวมไปถึงสวัสดิการต่าง ๆ เพื่อให้ทราบถึงปัญหา และนำประเด็นปัญหาเหล่านั้นมาบริหารจัดการ วางแผนปรับปรุงแก้ไขได้อย่างเป็นรูปธรรม
ดังนั้นเพื่อให้ผลการสำรวจสะท้อนถึงปัญหาขององค์กรอย่างแท้จริง บุคคลากรที่ให้ข้อมูลจำต้องเป็นผู้ที่มีทัศนคติในเชิงบวกตามที่กล่าวข้างต้น เหตุเพราะหากผู้ให้ข้อมูลเป็นผู้มีทัศนคติที่เป็นลบ มองสิ่งรอบข้างเป็นภัยคุกคามตน ข้อมูลที่ได้รับจะไม่ใช่ปัญหาที่แท้จริงขององค์กร แต่กลับกลายเป็นปัญหาส่วนตน ที่เกิดจากสภาพปัญหาทางจิตใจของผู้ให้ข้อมูล
ในส่วนของ “วัฒนธรรมองค์กร” ถือเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญในการดึงดูดบุคลากรใหม่ที่มีศักยภาพ เข้ามาร่วมงานกับองค์กร รวมทั้งยังสามารถถูกใช้เพื่อดึงรั้งบุคลากรเดิมที่มากความสามารถให้อยู่กับองค์กรต่อไป
วัฒนธรรมองค์กรยังช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพ ความคิดสร้างสรรค์ และผลกระทบทางบวกต่อองค์กร ดังนั้น การวางรากฐานและกำหนดทิศทางวัฒนธรรมองค์กรจึงเป็นเรื่องสำคัญ เช่นกัน
กล่าวได้ว่า องค์กรที่สามารถพัฒนาได้อย่างยั่งยืน บุคลากรถือเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อน บุคลากรที่ดี คือผู้ที่มีทัศนคติในเชิงบวกต่อองค์กรและเพื่อนร่วมงาน บุคลากรที่มีทัศนคติที่เป็นลบ รังแต่จะสร้างปัญหาให้กับองค์กร และตนเองในที่สุด
“หากเป็นบุคลากรที่มีจิตสำนึกรักองค์กร ดำเนินชีวิตด้วยทัศนคติที่ดี ที่สุดแล้วตนจะมีผลลัพธ์ของชีวิตที่เป็นบวก” ปราชญ์ท่านหนึ่งกล่าวไว้