จะทำอย่างไรให้มนุษย์หลังพวงมาลัย ไม่ขับรถเร็วจนอันตรายถึงชีวิต

จะทำอย่างไรให้มนุษย์หลังพวงมาลัย ไม่ขับรถเร็วจนอันตรายถึงชีวิต

จะทำอย่างไรให้มนุษย์หลังพวงมาลัย ไม่ขับรถเร็วจนอันตรายถึงชีวิต...สำหรับคำถามนี้เชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะตอบว่า ต้องมีกฎหมายว่าด้วยความเร็วสูงสุดของยานพาหนะ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายนั้นอย่างเคร่งครัด

แต่เราทุกคนก็รู้ว่าคำตอบนั้นเป็นคำตอบกำปั้นทุบดินตามตัวหนังสือ ซึ่งไม่สามารถครอบคลุมพฤติกรรมของมนุษย์หลังพวงมาลัยได้ 

ดังที่เราเห็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งจนไทยมีสถิติตัวเลขคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากเป็นลำดับ 2 ของโลก และอันดับ 1 ของอาเซียน คือ เสียชีวิตมากถึง 36 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน หรือเท่ากับประมาณ 24,000 คนในแต่ละปี ก่อให้เกิดความเสียหายถึงมากกว่า 200,000 ล้านบาท (www.nso.go.th)

การที่จะทำให้คนเหล่านั้นขับรถช้าลง นอกจากการเปลี่ยนความชอบและนิสัยส่วนตัวแล้ว ก็มีเรื่องของข้อมูลและข้อเท็จจริงว่า การขับรถเร็วเกินไปนั้นนอกจากเกิดอันตรายอย่างมากแล้วก็ไม่ได้ช่วยทำให้ประหยัดเวลาได้มากอย่างที่คิด

ผมเคยนั่งรถบนทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์จากสามเหลี่ยมดินแดงมุ่งหน้าไปทางรังสิตกับเจ้าหน้าที่ขององค์กรแห่งหนึ่ง เมื่อผมเห็นเขาขับรถเร็วเกินไปผมก็ลองให้เจ้าหน้าที่อีกคนที่นั่งอยู่ข้างๆ ลองคำนวณตัวเลขให้คนขับรถดูว่าแท้จริงแล้วที่ขับรถเร็วมากๆ นั้นมันเร็วขึ้นมากจริงหรือ ประหยัดเวลาได้มากจริงหรือ หรือแค่เพื่อตอบสนองความคะนองของตน

ดอนเมืองโทลเวย์จากดินแดงไปจนถึงทางลงก่อนถึงรังสิตนั้นมีระยะทางรวม 28 กิโลเมตร ผมลองให้เขาคำนวณดูว่าถ้าขับรถด้วยความเร็ว 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในระยะทางนั้นเราจะใช้เวลาเท่าไร

ผลออกมาคือ 16.8 นาที แต่ถ้าขับให้เร็วขึ้นเป็น 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงจะใช้เวลา 14 นาที นั่นคือเร็วขึ้นเพียง 2.8 นาทีเท่านั้น และถ้าขับรถเร็วขึ้นไปอีกจนถึงสปีด 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมงซึ่งอันตรายมากกว่ามาก จะใช้เวลา 11.2 นาที ซึ่งก็ลดลงไปอีกเพียง 2.8 นาทีเช่นกัน

ผมอธิบายให้เขาฟังว่า ถ้าประหยัดหรือลดเวลาได้เพียง 2 ถึง 3 นาทีเท่านี้แล้วเขาจะเสี่ยงตายไปทำไม ตายก็อาจไม่ได้ตายคนเดียวจะพาคนอื่นตายไปด้วย ลูกเมียเขาและของคนร่วมเดินทางก็จะประสบปัญหา ลูกไม่มีค่าอุปกรณ์การเรียน บ้านขาดการผ่อนชำระ ฯลฯ

นอกจากนี้เมื่อไปถึงปลายทาง ลงมาที่ถนนที่พื้นราบก็จะเจอสภาพจราจรที่ติดขัด สมมุติจะขับต่อไปจนถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงตรงนั้นเขาอาจจะเสียเวลาจากการจราจรติดขัดมากกว่า 10 นาทีก็ได้ มากกว่า 2-3 นาทีที่ลดลงมาได้เสียอีก

น่าดีใจที่คนขับรถคนนั้นเมื่อได้รับรู้ข้อเท็จจริงแล้วก็ได้ผ่อนความเร็วลงตามข้อมูลตัวเลขที่แจงไป 

ผมคิดว่าด้วยข้อมูลตัวเลขเชิงประจักษ์เช่นนี้ ถ้าเราพยายามอธิบายให้คนทั่วไปได้รู้ได้เห็น เขาก็จะเกิดจิตสำนึกได้ง่ายขึ้นว่ามันไม่คุ้มเลยที่จะขับเร็วขนาดนั้น

การขับรถที่ความเร็ว 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนั้นเวลาตัดสินใจเป็นแค่เสี้ยววินาที ซึ่งมันอาจไม่ทันการแล้วก็ได้

ตัวเลขพวกนี้ผมเชื่อว่าถ้าเรา โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐและอินฟลูเอนเซอร์ทั้งหลาย เผยแพร่ให้ทุกคนได้รู้กันมากๆ มันจะเป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนอีกหลายคนไปจนถึงระดับสังคมโดยรวมได้สักวันหนึ่งในอนาคต

ซึ่งนั่นหมายถึงว่าเราจะรักษาชีวิตคนได้ปีหนึ่งหลายหมื่นคน ช่วยแบ่งเบาภาระทางเศรษฐกิจสังคมของครอบครัวได้อีกหลายหมื่นครอบครัว

กรมการขนส่งทางบกจึงน่าจะมีแผนการประชาสัมพันธ์ในเรื่องข้อมูลเชิงประจักษ์นี้ให้ทุกคนรู้ โดยหวังว่าเราจะสามารถเปลี่ยนวิธีคิดและเปลี่ยนพฤติกรรมเขาได้ ซึ่งน่าจะดีกว่าการที่จะทำแบบเดิมและหวังให้มีการเปลี่ยนแปลง.