เตือน 9 จว. พื้นที่ภาคกลาง-ตอ.-ใต้ เฝ้าระวังภัย ดินถล่ม น้ำป่าหลาก 19-21 ต.ค.
ศปช. เตือน 9 จังหวัด เฝ้าระวังภัย ดินถล่ม - น้ำป่าไหลหลาก 19-21 ต.ค. 67 เหนือ-อีสาน เจอลมหนาว อากาศเย็นลง 1-3 องศาฯ
วันนี้ (19 ต.ค. 67) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. และ ศปช. ส่วนหน้า เตือนประชาชนในช่วงวันที่ 19 - 22 ต.ค.นี้ ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง รวมทั้งฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม
ส่วนในช่วงวันที่ 23 - 25 ต.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนยังคงปกคลุมภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และทะเลจีนใต้ ในขณะที่ร่องมรสุมเลื่อนลงไปพาดผ่านภาคใต้ตอนกลาง
ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นบางพื้นที่ ส่วนภาคใต้ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับภาคภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส ขอให้ดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในระยะนี้ไว้ด้วย
ศปช. แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ธรณีพิบัติภัย แผ่นดินถล่ม น้ำป่าไหลหลาก ช่วงวันที่ 19 - 21 ต.ค. 67 ดังนี้
ภาคกลาง
- จังหวัดราชบุรี : บ้านคา ปากท่อ
- จังหวัดเพชรบุรี : แก่งกระจาน ท่ายาง
ภาคตะวันออก
- จังหวัดตราด : เขาสมิง เกาะช้าง เกาะกูด คลองใหญ่ เมือง แหลมงอบ
- จังหวัดจันทบุรี : เขาคิชฌกูฎ มะขาม เมือง
- จังหวัดชลบุรี : บางละมุง ศรีราชา สัตหีบ บ้านบึง
- จังหวัดระยอง : เขาชะเมา แกลง เมือง
ภาคใต้
- จังหวัดระนอง : กะเปอร์ สุขสำราญ
- จังหวัดพังงา : กะปง ตะกั่วป่า
- จังหวัดภูเก็ต : ถลาง กะทู้ เมืองภูเก็ต
สำหรับความคืบหน้า ศปช.ส่วนหน้าจังหวัดเชียงราย พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กห. ที่ปรึกษา ศปช.ส่วนหน้า ตรวจความเรียบร้อยโดยลาดตระเวนทางเท้าและทางรถยนต์ การนำดินโคลนออกจากบ้านเรือนประชาชนเรียบร้อยแล้ว 99% เหลือการเก็บรายละเอียดพื้นที่ส่วนกลาง การนำกองดินออกจากถนน การขุดลอกท่อระบายน้ำหลัก และการเก็บขยะตกค้าง ฯลฯ ส่วนการฟื้นฟูพื้นที่อุทกภัย อ.แม่สาย จ.เชียงราย ฟื้นฟูครอบครัวที่ได้รับผลกระทบอุทกภัยน้ำท่วมแล้ว 807 หลังคาเรือน จากทั้งหมด 819 หลังคาเรือน ทั้งนี้ยังมีบางพื้นที่น้ำท่วมขัง เนื่องจากเป็นพื้นที่ต่ำ มีน้ำใต้ดินผุดขึ้นมาต่อเนื่อง ขณะที่ระดับน้ำในแม่น้ำสาย ยังอยู่ในระดับสูงกว่าภาวะปกติเล็กน้อย