งบประมาณกับเพศภาวะ | กิตติยา พรหมจันทร์

งบประมาณกับเพศภาวะ | กิตติยา พรหมจันทร์

24 ก.ย.67 มีการประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 หรือที่เรียกสั้น ๆ กันว่า กฎหมายสมรสเท่าเทียม ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว ที่ก่อตั้งขึ้นระหว่างบุคคลไม่ว่าจะมีเพศใด

นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันเริ่มต้นปีงบประมาณแผ่นดินของประเทศไทย ซึ่งตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ได้เริ่มบังคับใช้แล้ว โดยตั้งเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 3,752,700 ล้านบาท

เรื่องงบประมาณกับเรื่องเพศสภาพหรือเพศภาวะเกี่ยวข้องกันอย่างไร

บทความนี้ขอนำเสนอแนวความคิดเรื่องงบประมาณ (Budget) กับ เพศภาวะ (Gender) เพื่อส่งเสริมและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับงบประมาณในมุมมองของเพศภาวะ

อันหมายถึงการแสดงพฤติกรรม การปฏิบัติ หรือแสดงบทบาททางเพศของบุคคลซึ่งอาจตรงหรือไม่ตรงกับลักษณะเพศโดยกำเนิด (Sex) ก็ได้

ดังนั้น เพศภาวะจึงเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นทางสังคมและวัฒนธรรม สามารถเปลี่ยนแปลงและรื้อสร้างได้ตลอดตามกาลเวลา

แนวคิด Gender Responsive Budgeting (GRB) หรือ งบประมาณที่คำนึงถึงมิติเพศภาวะ ได้ริเริ่มทดลองใช้ขึ้นในประเทศออสเตรเลีย ในปี ค.ศ.1984 นอกจากนี้ยังมีประเทศอื่น ๆ ที่นำแนวคิดนี้มาใช้ในการพิจารณางบประมาณเพื่อการพัฒนาประเทศ

เช่น สหราชอาณาจักร แคนาดา แอฟริกาใต้ เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ อินเดีย เนปาล ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม เป็นต้น

ตัวอย่างในอินเดีย นโยบายเกษตรกรรมปี 2000 ให้ความสำคัญกับบทบาทผู้หญิงในภาคเกษตรกรรม ซึ่งรัฐได้มีมาตรการกระตุ้นโดยจัดสรรงบประมาณร้อยละ 30 แก่ผู้หญิงในภาคการเกษตร (สถาบันพระปกเกล้า, 2561: 94)

หรือในเวียดนาม พบว่าระบบขนส่งสาธารณะเป็นพื้นที่ที่เกิดปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศของสตรีมากที่สุด จึงจัดสรรงบประมาณเพื่อสร้างความตระหนักในการป้องกันเรื่องความรุนแรงและการล่วงละเมิดในรถโดยสารและระบบขนส่ง (กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว, 2565: 48)

แนวคิดในการจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงมิติเพศภาวะนี้ ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ผลกระทบด้านรายจ่ายและรายได้สาธารณะในมิติเพศภาวะในสังคม และจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดทำนโยบายและโครงการต่าง ๆ ที่จะทำให้สังคมมีความเสมอภาคมากขึ้น

ทั้งนี้ ช่วงริเริ่มของแนวคิดดังกล่าวนี้ได้เสนอให้มีการจัดทำงบประมาณในมิติเฉพาะของหญิงและชายเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม คู่มือการจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงมิติเพศภาวะของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวได้ขยายขอบเขตให้คลอบคลุมยิ่งขึ้นโดยใช้คำว่า “เพศภาวะ” เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลายด้วย

โดยนิยาม “การจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงเพศภาวะ คือ เครื่องมือในการจัดทำงบประมาณที่ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์และคำนึงถึงความต้องการ โอกาส สิทธิ และการเข้าถึงทรัพยากรที่แตกต่างหลากหลายของกลุ่มประชากรทั้งชายและหญิง กลุ่มบุคคลที่มีอัตลักษณ์ที่หลากหลาย

โดยกระบวนการวิเคราะห์ที่คำนึงถึงมิติดังกล่าวเข้าสู่วงจรงบประมาณ (budget cycle) ทั้งด้านรายรับและรายจ่าย

ตั้งแต่การบริหารจัดการงบประมาณ การกำหนดงบประมาณ การอนุมัติและจัดสรรงบประมาณ ไปจนถึงการตรวจสอบและติดตามประเมินผล เพื่อการตัดสินใจในการจัดสรรและการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผลอย่างสูงสุด

ตอบสนองต่อความต้องการของประชากรกลุ่มต่าง ๆ อย่างเป็นธรรมและทั่วถึงเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเสมอภาค”

แนวคิดนี้สอดคล้องกับพันธกรณีและข้อตกลงระหว่างประเทศ ส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ รวมทั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 71 วรรค 4 ได้กำหนดว่า

“ในการจัดสรรงบประมาณ รัฐพึงคำนึงถึงความจำเป็นและความต้องการที่แตกต่างกันของเพศ วัย และสภาพของบุคคล ทั้งนี้ เพื่อความเป็นธรรม”

ดังนั้น ในกระบวนการการจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงความจำเป็นและผลประโยชน์ที่แตกต่างกันของกลุ่มต่าง ๆ ของประชาชน ซึ่งจะส่งผลต่อเป้าหมายในการตัดสินใจและลำดับความสำคัญในการจัดสรรและกระจายทรัพยากรของรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ว่าตรงกับความจำเป็นและความต้องการหรือไม่

การจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงเพศภาวะจะทำให้เห็นถึงผลกระทบของงบประมาณรายรับรายจ่ายที่มีต่อสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจ มองทั้งแง่งบประมาณรายจ่าย (expenditure)

เช่น การจ่ายเงินสมทบในช่วงหยุดงานเพื่อดูแลบุตร การจัดสวัสดิการสังคมและบริการสาธารณะที่เหมาะสมกับเพศสภาวะ

และในแง่รายได้ (revenue) เช่น มาตรการทางภาษีในเรื่องภาษีผ้าอนามัย โดยการให้ยกเว้น ลดหย่อน หรือกำหนดอัตราภาษีเป็นร้อยละ 0 เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงมิติเพศภาวะไม่ได้มองว่าเพศหญิงหรือกลุ่มบุคคลเพศหลากหลายในฐานะกลุ่มที่ต้องได้รับการช่วยเหลือสงเคราะห์จากรัฐ แต่ในฐานะผู้ถือสิทธิอันชอบธรรมที่รัฐบาลมีพันธะต้องเสริมพลังและปกป้อง

ทั้งนี้ การจัดทำงบประมาณทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ควรคำนึงถึงการกำหนดนโยบายทางการเงิน ทั้งค่าใช้จ่ายและภาษีที่มีผลกระทบต่อความเท่าเทียมทางเพศ และเร่งการสร้างความรู้ความเข้าใจ

การทำความเข้าใจและสร้างความตระหนัก การเข้ามามีส่วนร่วมในการสะท้อนปัญหา และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เพราะงบประมาณเป็นเรื่องของประชาชนทุกคน.