เจอมรสุม ภาคใต้ฝนตกหนัก 14 จว.เสี่ยงท่วม ไทยตอนบนเย็น อุณหภูมิลดอีก 1-2 องศาฯ
เจอมรสุม! เตือน ภาคใต้ฝนตกหนักถึงหนักมาก เช็กชื่อ 14 จังหวัด เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ไทยตอนบนอากาศเย็นตอนเช้า ยอดดอย-ยอดภูหนาว เหนือ-อีสาน-กลาง-ตะวันออก อุณหภูมิลดลงอีก 1-2 องศาฯ
เช็ก สภาพอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ ฝนฟ้าคะนอง ฝนตกหนัก 24 ชั่วโมงข้างหน้า ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนล่าง ในขณะที่มีมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย
ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังปานกลาง โดยอ่าวไทยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย
สำหรับบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศเย็นในตอนเช้า และอุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ในขณะที่คลื่นกระแสลมตะวันตกจากประเทศเมียนมาเคลื่อนเข้าปกคลุมด้านตะวันตกของภาคเหนือ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองและมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย
กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 6 - 12 พฤศจิกายน 2567
คาดหมายอากาศทั่วไป ในช่วงวันที่ 6 - 11 พ.ย. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นในตอนเช้า กับมีลมแรง และอุณหภูมิลดลงอีก 1-2 องศาเซลเซียส
ในขณะที่ในช่วงวันที่ 6 - 8 พ.ย. 67 จะมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกเคลื่อนเข้าปกคลุมประเทศเมียนมาและด้านตะวันตกของภาคเหนือ ประกอบกับยังคงมีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ในระดับบนพัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝน ฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรง ลูกเห็บตกบางแห่ง และฝนตกหนักบางพื้นที่ในภาคเหนือตอนบน
สำหรับร่องมรสุมพาดผ่านอ่าวไทยตอนล่าง ภาคใต้ตอนล่าง และทะเลอันดามันตอนล่าง ประกอบกับในช่วงวันที่ 8 - 10 พ.ย. 67 จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างเคลื่อนตามแนวร่องมรสุมที่พาดผ่านในบริเวณดังกล่าว ในขณะที่มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางพัดปกคลุมอ่าวไทยตอนบน และภาคใต้ตอนบน ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
หลังจากนั้นในวันที่ 12 พ.ย. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้เริ่มมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส กับมีหมอกบางในตอนเช้า โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่งในภาคเหนือตอนบน สำหรับร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนล่าง และประเทศมาเลเซีย ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางที่พัดปกคลุมอ่าวไทยตอนบน และภาคใต้ตอนบนเริ่มมีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้มีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองทางตอนล่างของภาค ส่วนบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น "หยินซิ่ง" บริเวณด้านตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศฟิลิปปินส์ มีแนวโน้มเคลื่อนผ่านตอนบนของประเทศฟิลิปปินส์ลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบนในช่วงวันที่ 7 - 8 พ.ย. 67 และคาดว่าจะเคลื่อนเข้าใกล้ตอนใต้ของเกาะไหหลำ ประเทศจีน และชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลางในช่วงวันที่ 10 - 12 พ.ย. 67 โดยพายุนี้ไม่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยแต่มีแนวโน้มอ่อนกำลังลงเมื่อเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนาม เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นยังคงปกคลุมในบริเวณดังกล่าว ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางในช่วงวันดังกล่าวไว้ด้วย
ข้อควรระวัง : ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วง ส่วนในช่วงวันที่ 6 - 8 พ.ย. 67 ขอให้ประชาชนบริเวณภาคเหนือระวังอันตรายจากฝนตกหนัก ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง ส่วนเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตร และในช่วงวันที่ 8 - 10 พ.ย. 67 ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ตอนล่างระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย
พยากรณ์อากาศกรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศประเทศไทย 18:00 น. วันนี้ ถึง 18:00 น. วันพรุ่งนี้
ภาคเหนือ
อากาศเย็นในตอนเช้า กับอุณหภูมิลดลง 1-2 องศาเซลเซียส โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30 ของพื้นที่ และมีลมกระโชกแรงบางแห่ง บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย และตาก อุณหภูมิต่ำสุด 19-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-31 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 8-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
อากาศเย็นในตอนเช้ากับมีลมแรง และอุณหภูมิลดลง 1-2 องศาเซลเซียส โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 18-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-32 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 13-15 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.
ภาคกลาง
อากาศเย็นในตอนเช้า กับอุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และนครปฐม อุณหภูมิต่ำสุด 21-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.
ภาคตะวันออก
เมฆเป็นส่วนมาก กับอุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ภาคใต้(ฝั่งตะวันตก)
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดระนอง พังงา ตรัง และสตูล อุณหภูมิต่ำสุด 23-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
กรุงเทพและปริมณฑล
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.