AQUA รุกฟินเทค เป้าสินเชื่อ P2P ปีแรก 3 พันล้าน

AQUA รุกฟินเทค เป้าสินเชื่อ P2P ปีแรก 3 พันล้าน

AQUA รุกฟินเทค เป้าสินเชื่อ P2P ปีแรก 3 พันล้าน อควา คอร์เปอเรชั่น หรือ AQUA เปิดแผนปี 66 ตั้งเป้ารายได้เพิ่ม 5-10% เร่งรุกธุรกิจฟินเทคผ่าน แพลตฟอร์ม “NestiFly” ปล่อยกู้ P2P

โดยวางหุ้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน พร้อมเปิดดำเนินการได้มี.ค. ตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อ ปี 66 ระดับ 2-3 พันล้านบาท และภายใน 5 ปีจะเพิ่มเป็น 3 หมื่นล้านบาท เป็นแหล่งรายได้หลักของ AQUA ในอนาคต

 

นายชัยพิพัฒน์ แก้วไตรรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อควา คอร์เปอเรชั่น หรือ AQUA กล่าวว่า ปัจจุบัน AQUA ประกอบธุรกิจ โฮลดิ้งคอมปานี เข้าลงทุนใน 5 ธุรกิจ ประกอบด้วย คลังสินค้าบนพื้นที่ 1 แสนตารางเมตร มีบริษัทยูนิลีเวอร์เป็นผู้เช่า ซึ่งทำรายได้ให้บริษัทประมาณปีละ 250-300 ล้านบาท คิดเป็น 80% ของรายได้บริษัททั้งหมด ส่วนธุรกิจอื่นๆ สัดส่วนรายได้กระจายกัน ไป อาทิ อสังหาริมทรัพย์ให้เช่า, ธุรกิจฟินเทค, ธุรกิจขนส่ง และธุรกิจอาหาร

 

นายชัยพิพัฒน์ กล่าวว่า ในปี 66 ตั้งเป้ารายได้จากการดำเนินธุรกิจปกติเพิ่มขึ้นจากปี 65 ประมาณ 5-10% โดยบริษัทมีแผนรุกธุรกิจฟินเทคอย่างเต็มที่ภายใต้ บริษัท เนสท์ติฟลาย หรือ NestiFly ผู้ให้บริการสินเชื่อระบบ Peer-to-Peer Lending Platform เป็นรายแรกของประเทศไทยที่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลัง และอยู่ภายใต้การกำกับโดยธนาคารแห่ง ประเทศไทย (ธปท.)

 

ลักษณะธุรกิจ NestiFly จะเป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างผู้ต้องการกู้เงิน และผู้ต้องการให้กู้เงิน ผู้ต้องการกู้เงินต้องมีหุ้นเพื่อใช้ เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ดอกเบี้ย 6-7% ระยะเวลาการกู้ 3 เดือนถึง 1 ปี วงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อราย ส่วนผู้ต้องการให้กู้ เงินจะเป็นกลุ่มลูกค้าที่ต้องการผลตอบแทนที่ดีความเสี่ยงต่ำ มีหุ้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้คําจํากัดความว่า Peer-to-Peer Lending Platform คือ ผู้ให้บริการระบบหรือเครือข่าย อิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นตัวกลางสนับสนุนการก่อให้เกิดการกู้ยืมระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้ โดยจับคู่ระหว่างผู้ที่ต้องการกู้เงินและผู้ที่ต้องการให้กู้ รวมถึงอํานวยความสะดวกในการทำสัญญาสินเชื่อ การนําส่งและจ่ายคืนเงินกู้ และการติดตามหนี้ ซึ่งเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้สะดวกยิ่งขึ้น ด้วยต้นทุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงของผู้กู้ และเพิ่มทางเลือกใน การลงทุน โดย ธปท. กําหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจต้องทดสอบการให้บริการในวงจํากัดภายใต้ Regulatory Sandbox จนประสบความสำเร็จ เพื่อให้มั่นใจว่ามีการบริหารความเสี่ยงและการดูแลผู้ใช้บริการอย่างเหมาะสม จึงจะสามารถยื่นขอใบอนุญาตจากกระทรวงการคลังเพื่อประกอบธุรกิจในวงกว้าง

 

นายชัยพิพัฒน์กล่าวว่า ธุรกิจฟินเทคมีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วมากจากตัวอย่างในต่างประเทศ ทางบริษัทวางงบการตลาดไว้ 30-40 ล้านบาท ตั้งเป้าไว้ว่า ในปีแรกของการดำเนินธุรกิจจะมีพอร์ตสินเชื่อประมาณ 2-3 พันล้านบาท และภายในระยะเวลา 5 ปี คาดว่าพอร์ตสินเชื่อจะเพิ่มเป็น 3-4 หมื่นล้านบาท โดยบริษัทมีแผนออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ใช้หลักทรัพย์วางค้ำประกันได้ หลากหลายรูปแบบมากขึ้น ขยายสู่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายในวงกว้าง รวมไปถึงมองการขยายสู่การทำ Virtual Bank จะส่งผลให้ รายได้ที่มาจากกลุ่มธุรกิจฟินเทคจะเป็นสัดส่วนรายได้หลักของ AQUA ในอนาคต

 

สำหรับบริษัท ไทยพาร์เซิล หรือ TP ผู้ประกอบธุรกิจด้านโลจิสติกส์ (Logistic) รูปแบบพิเศษ รับจ้างขนส่งพัสดุขนาดใหญ่ ซึ่ง เป็นบริษัทลูกของ AQUA มีแผนจะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ได้ยื่นไฟลิ่งแล้ว คาดว่าจะขายหุ้น IPO ได้ ในเดือน พ.ค. และเริ่มเทรดได้ในเดือน มิ.ย. ซึ่งบริษัท ไทยพาร์เซิล มีแผนจะปรับเปลี่ยนรถบรรทุกที่ใช้น้ำมันดีเซลอยู่ให้เป็นรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนเรื่องการทำ Solar Charging จากบริษัท อีสเทิร์น เพาเวอร์ กรุ๊ป ซึ่งเป็นอีก บริษัทหนึ่งที่ AQUA เข้าไปลงทุนถือหุ้นไว้ นอกจาก TP แล้ว AQUA ยังมีแผนลงทุนในธุรกิจโลจิสติกส์เพิ่มอีก 1 บริษัท ซึ่งจะได้ ข้อสรุปในปลายเดือนมี.ค.นี้

ทางด้านธุรกิจกลุ่มอาหารที่ AQUA ได้เข้าไปลงทุนถือหุ้นบริษัท เอธธิคอล กูร์เมต์ หรือ EG และให้กู้เงินรวม 350 ล้านบาท ซึ่ง EG เป็นบริษัท โฮลดิ้งถือหุ้นใน 3 บริษัทย่อย ประกอบธุรกิจอาหาร แบรนด์ Domino Pizza มี 38 สาขาในประเทศไทย, Ramen Desu มี 3 สาขาในกรุงเทพ, Jardin De Boeuf มี 1 สาขาในกรุงเทพ และ Kinki มี 1 สาขาในกรุงเทพ โดยมีแผนนําบริษัทย่อยเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในอนาคตต่อไป