เปิดมุมมองทายาทธุรกิจ ‘ถาวร เลเบิล แอนด์ ริบบอน’

เปิดมุมมองทายาทธุรกิจ ‘ถาวร เลเบิล แอนด์ ริบบอน’

เปิดมุมมองทายาทธุรกิจสานต่อแนวคิด Business Transformation ของผู้ผลิตฉลากบรรจุภัณฑ์คุณภาพ จาก "ถาวร เลเบิล แอนด์ ริบบอน"

เชาว์วิทย์ ชลชลาธาร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ถาวร เลเบิล แอนด์ ริบบอน จำกัด เปิดเผยว่า ในอดีตธุรกิจครอบครัวดำเนินกิจการเกี่ยวกับโรงงานผลิตป้ายติดเสื้อผ้า หรือริบบิ้นไซส์เสื้อผ้า เพื่อซัพพลายอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าภายในประเทศ ต่อมาเมื่ออุตสาหกรรมผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ทยอยย้ายฐานการผลิตจากประเทศไทยออกไปตั้งโรงงานในต่างประเทศ จึงนำมาสู่การสร้างธุรกิจใหม่ หรือ Business Transformation โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจไปรับงานผลิตสติกเกอร์ฉลากสินค้าที่ใช้กับบรรจุภัณฑ์ ซึ่งในขณะนั้นกลุ่มอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์สินค้าในประเทศไทยกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นบริษัทฯ จึงตัดสินใจลงทุนเครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตสติกเกอร์ฉลากสินค้าเพื่อรองรับดีมานด์ดังกล่าว โดยสามารถผลิตงานพิมพ์คุณภาพ ที่ได้รับการยอมรับจากลูกค้าชั้นนำในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ได้อย่างครอบคลุม อาทิ ยารักษาโรค เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เครื่องดื่ม น้ำมันเครื่อง และยางรถยนต์ เป็นต้น

"เรื่องยุทธศาสตร์ สร้างความสามารถในการแข่งขันนั้น เนื่องจากในช่วงที่บริษัทฯ ปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจมารับงานผลิตฉลากสินค้า อุตสาหกรรมนี้มีตลาดที่ใหญ่และเริ่มมีดีมานด์เพิ่มสูงขึ้น สอดคล้องกับบริษัทฯ มีการลงทุนด้านการพัฒนาระบบบริหารจัดการที่ได้มาตรฐานคุณภาพระดับสากล เช่น ISO 9001 ซึ่งเป็นมาตรฐานระบบคุณภาพที่กำกับดูแลทั้งการออกแบบ และพัฒนาการผลิต การติดตั้ง และการบริการ การันตีถึงคุณภาพและประสิทธิภาพที่ดีของการดำเนินงานภายในองค์กร รวมทั้งมีมาตรฐาน HACCP/GMP การันตีถึงการควบคุมกระบวนการผลิต และการจัดการด้านสุขลักษณะของอาคาร สถานที่การผลิต ตลอดจนเครื่องจักรและอุปกรณ์ ทั้งนี้ ด้วยการมีมาตรฐานสากลดังกล่าว ทำให้บริษัทฯ ได้รับการยอมรับว่ามีระบบการทำงานที่ได้มาตรฐานและเป็นมืออาชีพ ส่งผลให้บริษัทฯ สามารถจับกลุ่มตลาด B2B หรือลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้เป็นอย่างดี เพราะลูกค้าเหล่านี้มีความเชื่อมั่นในมาตรฐานการดำเนินงานของบริษัทฯ ด้วยดีเสมอมา"

เชาว์วิทย์ เป็นทายาทธุรกิจรุ่นที่ 2 เข้ามาบริหารธุรกิจครอบครัวต่อจากรุ่นก่อตั้ง ซึ่งลุงและพ่อได้เริ่มทำมาตรฐานสากล และระบบบริหารงานคุณภาพเอาไว้ จึงทำให้มีความคล่องตัวในการ Business Transformation ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจหรือการปรับโฉมธุรกิจใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ในการแข่งขันของบริษัทฯ ได้ดียิ่งขึ้น ระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ จะต้องเจอกับความท้าทาย ทั้งการเกิดขึ้นของผู้เล่นหน้าใหม่ที่มีเพิ่มมากขึ้น หรือการแข่งขันที่มีการหั่นราคา แต่ก็ยังมีกลยุทธ์ในการทำกำไรและทำให้สามารถฝ่าฟันกับอุปสรรคต่างๆ เหล่านี้ได้ ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ พร้อมกับมองหาตลาดใหม่ ให้เป็นช่องทางในการสร้างความมั่นคงและเป็นการกระจายความเสี่ยงในธุรกิจด้วย

เชาว์วิทย์ กล่าวว่า บริษัทฯ ยังมีทิศทางการขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต โดยมี 2 เรื่องหลัก ดังนี้ 1.ด้านเทคโนโลยี ล่าสุดบริษัทได้พัฒนา Smart label หรือฉลากอัจฉริยะ ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีซอฟต์แวร์ในการเก็บรวบรวมข้อมูลบนแพ็กเกจจิง สร้างประโยชน์ต่อผู้บริโภคให้เกิดความสะดวกสบาย ด้วยการสแกน QR code เพื่อให้รู้ข้อมูลของสินค้ามากขึ้น 2. ด้านความยั่งยืน (Sustainability) บริษัทฯ ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม มุ่งส่งเสริมด้านองค์ความรู้และปลูกฝังให้พนักงานตระหนักถึงเรื่องดังกล่าวไปพร้อมกันด้วย ซึ่งเมื่อนำเอาแนวคิดด้านเทคโนโลยีมาพัฒนาสินค้า ก็จะช่วยให้สอดรับกับเรื่องสิ่งแวดล้อม เกิดเป็นธุรกิจสำหรับจับกลุ่มตลาดใหม่ที่สร้างกำไรได้ดียิ่งขึ้น แม้จะอยู่ในสภาวะการแข่งขันที่รุนแรง

"เพราะเราเชื่อว่าเทรนด์ดิจิทัลที่เข้ามาจะดิสรัป หรือสร้างการเปลี่ยนแปลงในทุกอุตสาหกรรม ดังนั้น เราจึงได้พัฒนา Smart Label หรือฉลากอัจฉริยะขึ้นมาเพื่อช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลของสินค้าได้อย่างง่ายดาย ในขณะที่เจ้าของแบรนด์เอง ก็จะสามารถใช้เป็นช่องทาง Marketing สื่อสารไปหาลูกค้าผ่านฉลากสินค้าได้อย่างสะดวก โดย Smart Label ที่เราพัฒนาขึ้น ยังมีจุดเด่นในเรื่องการป้องกันการปลอม โดยการใช้สติกเกอร์ QR Code กันปลอม ที่จะมีเพียงหนึ่งเดียวบนโลก เปรียบเสมือนบัตรประจำตัวของสินค้านั้นๆ ทำให้เราสามารถตรวจสอบสินค้าได้ว่าเป็นของแท้หรือปลอมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพียงแค่ใช้สมาร์ทโฟนสแกน ยังสามารถเพิ่มรูปแบบอื่นๆ ใน QR Code เช่น ข้อมูลและคุณประโยชน์ของสินค้า เป็นต้น"

อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์นั้น ฉลากบรรจุภัณฑ์มีหน้าที่สำคัญอย่างยิ่งในการให้ข้อมูล หรือรายละเอียดเพื่อให้ผู้บริโภครู้จักผลิตภัณฑ์ ทั้งยังช่วยในการส่งเสริมการขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีการเกิดขึ้นของฉลากในรูปแบบต่างๆ มากมาย จึงทำให้ลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมมีการปรับเปลี่ยนฉลากที่ใช้ติดบรรจุภัณฑ์ไปตามยุคสมัย ซึ่งปัจจุบันฉลากที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ประกอบด้วย 

  1. ฉลากสติกเกอร์ รูปแบบนี้ผู้ประกอบการ SME สามารถเข้าถึงได้ง่ายเพราะมีราคาไม่สูงมาก แต่อาจนำบรรจุภัณฑ์ไปรีไซเคิลได้ยาก เพราะสติกเกอร์จะทิ้งคราบกาวไว้ ดังนั้นจึงต้องล้างทำความสะอาดคราบกาวและแกะฉลากออกให้เรียบร้อย จึงจะนำบรรจุภัณฑ์ไปใช้ต่อได้ 
  2. ฉลากฟิล์มรัด ชนิดนี้ทำจากแผ่นฟิล์มพลาสติก PVC หรือ PET เป็นปลอกสวมลงบนบรรจุภัณฑ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขวดพลาสติก หรือขวดแก้ว ซึ่งมีข้อดีคือสามารถนำไปรีไซเคิล หรือรียูส ได้อย่างง่ายดาย โดยไม่ต้องล้างคราบกาวที่ติดอยู่บนบรรจุภัณฑ์
  3. ฉลากในตัวบรรจุภัณฑ์ หรือที่เรียกว่า In-Mould คือการทำฉลากในตัวบรรจุภัณฑ์โดยเครื่องจักรไดโมจะทำไปพร้อมกับการปั้นแม่แบบเลย ทำให้งานฉลากในตัวมีความพรีเมียมสวยงามมากขึ้น สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าได้มากขึ้น

"เทรนด์การใช้การออกแบบฉลากบรรจุภัณฑ์ ในปัจจุบันลูกค้าเริ่มให้ความสำคัญและต้องการเปลี่ยนจากฉลากแบบสติกเกอร์ไปใช้ฉลากฟิล์มรัด และฉลากในตัวบรรจุภัณฑ์มากขึ้น ดังนั้นในฐานะซัพพลายเชน จึงมีการปรับตัวและพัฒนาบริการให้สอดรับกับเทรนด์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เรามีการซัพพลายรูปแบบฉลากแบบ In-Mould ให้กับลูกค้าแล้วหลายราย ส่วนฉลากฟิล์มรัดยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการวิจัยและพัฒนาเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าในอนาคต ในขณะที่โรงงานผู้ผลิตสติกเกอร์ต้นทางมีความพยายามที่จะพัฒนานวัตกรรมการผลิตสินค้าใหม่ให้สอดคล้องกับเทรนด์สิ่งแวดล้อมด้วยเช่นเดียวกัน อาทิ การทำสติกเกอร์ให้สามารถลอกออกง่าย สะดวกต่อการนำบรรจุภัณฑ์ไปใช้ซ้ำอย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนยุ่งยาก"

เชาว์วิทย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในฐานะทายาทธุรกิจรุ่น 2 เมื่อมีโอกาสได้เข้ามาบริหารกิจการที่เป็นธุรกิจครอบครัว ได้เห็นมุมมองของผู้บริหารรุ่นก่อตั้งที่วางกลยุทธ์ทางธุรกิจไว้เป็นอย่างดี ทั้งยังมีปัจจัยสำคัญหลายอย่างที่ทำให้องค์กรเติบโต และเดินหน้ามาได้ยาวนานถึง 35 ปี จึงมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะสืบทอดธุรกิจครอบครัวให้ประสบความสำเร็จ และสร้างความยั่งยืนในธุรกิจรุ่นต่อไป จึงอยากฝากไปยังผู้ประกอบการ SME อื่นๆ ให้เห็นความสำคัญของการปรับตัว และตามเทรนด์การเปลี่ยนแปลงของโลกให้ทันตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการ Upskill เพิ่มทักษะที่มีอยู่เดิม ด้วยองค์ความรู้ใหม่ๆ นำไปสู่การทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือ Reskill สร้างทักษะขึ้นมาใหม่ที่จำเป็นต่อการทำงาน รวมถึงต้องมีวิสัยทัศน์ในการดำเนินธุรกิจที่กว้างไกล พร้อมเปิดใจรับสิ่งใหม่ให้ทันต่อสถานการณ์ และต้องพร้อมที่จะทรานส์ฟอร์มตัวเองอยู่เสมอ 

เชาว์วิทย์ ชลชลาธาร เป็นตัวอย่างให้เห็นได้ชัดว่าผู้ประกอบการธุรกิจ SME ต้องรู้จักศึกษาโมเดล Business Transformation เอาไว้ เพื่อเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและแสวงหาโอกาสใหม่ให้ได้อยู่เสมอ สามารถติดตามอ่านเรื่องราวดีๆ รวมไปถึงบทความที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่จะช่วยให้ข้อคิด แนวคิด และเคล็ดลับในการบริหารธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้ ที่นี่ รู้จัก ถาวร เลเบิล แอนด์ ริบบอน คลิก