ในหลวง-พระราชินี เสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐิน วัดอรุณ โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ประจำปีพุทธศักราช 2567 โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวราราม เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567
วันนี้ (27 ตุลาคม 67) เวลา 15.15 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังท่าวาสุกรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เพื่อประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ประจำปีพุทธศักราช 2567 โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวราราม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567
ในโอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติมหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร โดยเสด็จในการนี้ด้วย
ครั้นเสด็จพระราชดำเนินถึงท่าวาสุกรี กองทหารเกียรติยศถวายความเคารพ ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี โดยมี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และนางชนากานต์ ธีรเวชพลกุล ประธานศาลฎีกา เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ
จากนั้น ทรงพระดำเนิน ไปยังสะพานฉนวนประจำท่าเทียบเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ โดยมี องคมนตรี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ
ในการนี้ ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะผู้บัญชาการขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลพระกรุณารายงานจำนวนเรือพระราชพิธีและกำลังพล
จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จลงประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ โดยเสด็จลงผ่านเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ (กองทหารเกียรติยศถวายความเคารพ ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี)
และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร เสด็จลงประทับเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์
ในการนี้ นายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ตีกรับ กำลังพลฝีพายถวายบังคม ผู้ควบคุมเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ กราบบังคมทูลพระกรุณารายงานจำนวนกำลังพลฝีพายประจำเรือพระที่นั่ง
เมื่อพร้อมแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เคลื่อนขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ออกจากท่าวาสุกรี เพื่อเข้าริ้วขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (กองทหารเกียรติยศถวายความเคารพ ดุริยางค์บรรเลงเพลงมาร์ชธงชัยเฉลิมพล ชาวเจ้าพนักงานประโคมกระทั่ง มโหระทึก สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่ และกลองชนะประจำเรือพระราชพิธี ประโคมขึ้นพร้อมกัน)
ในโอกาสอันเป็นมหามงคลนี้ กองทัพเรือ สำนักพระราชวัง และกรมศิลปากร ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ร่วมกันดำเนินการซ่อมแซมเรือพระราชพิธี ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค รวมถึงการเตรียมความพร้อมในส่วนอื่น ๆ เพื่อให้การจัดพระราชพิธีฯ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จัดตามรูปแบบโบราณราชประเพณีทุกประการ โดยรูปขบวนฯ จัด 5 ริ้ว 3 สาย ความยาว 1,280 เมตร กว้าง 90 เมตร มีเรือพระราชพิธี จำนวน 52 ลำ ประกอบด้วย
- เรือพระที่นั่ง 4 ลำ
- เรือรูปสัตว์ 8 ลำ
- เรือคู่ชัก 2 ลำ
- เรือพิฆาต 2 ลำ
- เรือประตูหน้า 2 ลำ
- เรือกลอง 2 ลำ
- เรือแซง 7 ลำ
- เรือตำรวจ 3 ลำ
- เรือดั้ง 22 ลำ
- ใช้กำลังพล รวม 2,412 นาย
- ริ้วสายกลาง มีเรืออีเหลือง หรือเรือกลองนอก อยู่ด้านหน้าสุด ตามด้วย เรือตำรวจ (นอก) เรือตำรวจ (ใน) เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช ซึ่งเป็นเรือประดิษฐานบุษบกเชิญผ้าพระกฐิน เรือแตงโม หรือเรือกลองใน เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ซึ่งเป็นเรือพระที่นั่งทรง เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เป็นเรือพระที่นั่งรอง เรือตำรวจ (กรมวัง) ปิดท้ายด้วยเรือแซง
- ริ้วสายใน 2 ริ้ว ขนาบข้างริ้วสายกลาง เป็นคู่ มีเรือทองขวานฟ้า และเรือทองบ้าบิ่น เป็นเรือประตูหน้า ตามด้วย เรือเสือทยานชล และเรือเสือคำรณสินธุ์ เป็นเรือพิฆาต ต่อจากนั้น เป็นเรือรูปสัตว์ 8 ลำจำนวน 4 คู่ ประกอบด้วย เรืออสุรวายุภักษ์ เรืออสุรปักษี เรือกระบี่ปราบเมืองมาร เรือกระบี่ราญรอนราพณ์ เรือพาลีรั้งทวีป เรือสุครีพครองเมือง เรือครุฑเหินเห็จ เรือครุตเตร็จไตรจักร และปิดท้ายริ้วสายใน ด้วยเรือเอกไชยเหินหาวและเรือเอกไชยหลาวทอง เป็นเรือคู่ชัก
- ริ้วสายนอก 2 ริ้ว แต่ละริ้ว ประกอบด้วยเรือดั้ง 11 ลำ และเรือแซง 3 ลำ
ตลอดระยะทางที่เสด็จพระราชดำเนิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เคลื่อนไปตามชลวิถีท้องน้ำเจ้าพระยา พนักงานเห่ทำการเห่เรือ ด้วย กาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติฯ ประกอบด้วย
- บทสรรเสริญพระบารมี
- บทชมเรือ บทบุญกฐิน
- บทชมเมือง
3 ทำนอง คือ ช้าละวะเห่ เป็นท่วงทำนองที่ไพเราะ เป็นการให้สัญญาณเริ่มต้นการเคลื่อนขบวนเรือไปพร้อม ๆ กันอย่างช้า ๆ ตามด้วย มูลเห่ เป็นท่วงทำนองที่สนุกสนาน ใช้ประกอบการพาย เพื่อพาขบวนเรือล่องไปตามท้องน้ำเจ้าพระยา และสวะเห่ เป็นการเห่เมื่อใกล้จะถึงที่หมาย มีการใช้เสียงสั้นยาวให้เหมาะแก่สถานการณ์ นับว่าเป็นการเห่ที่ยากที่สุด แต่แสดงถึงความสง่างามของขบวนเรือพระราชพิธีอย่างงดงาม โดยมีผู้ให้สัญญาณ กรับจากเรือพระที่นั่ง และเสียงเส้ากระทุ้งให้เข้าจังหวะการพายจากเรือดั้ง และเรือรูปสัตว์
การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค มีวิวัฒนาการมาจากการจัดขบวนทัพเรือในยามที่ว่างจากศึกสงคราม เพื่อเป็นการฝึกซ้อมเรียกระดมพล โดยกองเรือเหล่านั้น จะถูกตกแต่งอย่างสวยงาม มีการประโคมดนตรีไปในขบวนเรือ เพื่อสร้างความเพลิดเพลินให้แก่ไพร่พลในกองทัพ โดยมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและสืบทอดต่อกันมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นริ้วขบวนเรือพระราชพิธี ที่จัดขึ้นสำหรับพระมหากษัตริย์ ในการเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ และในพระราชพิธีสำคัญต่างๆ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายถวายผ้าพระกฐิน
ทั้งนี้ ในการเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราชลทางชลมารคในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีมาตั้งแต่คราวตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี เมื่อปีพุทธศักราช 2325 โดยมีหลักฐานปรากฏในพงศาวดารหลายฉบับ กล่าวไว้ตรงกันว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ข้ามฟากจากพระราชวังกรุงธนบุรี มา ณ ฝั่งฟากตะวันออกเสด็จขึ้นฉนวนหน้าพระบรมมหาราชวัง ประทับพระราชยาน มีตำรวจหลวงแห่นำและตามเสด็จพระราชดำเนิน สู่พระราชนิเวศน์มณเฑียรสถาน ทรงประกอบการพระราชพิธีปราบดาภิเษก เป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ครั้งในรัชกาลต่อ ๆ มา พระมหากษัตริย์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดริ้วขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในโอกาสสำคัญต่าง ๆ ซึ่งตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2475 ที่มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 150 ปี หลังจากนั้นไม่ได้มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค จนถึงปีพุทธศักราช 2500รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ฟื้นฟูขบวนพยุหยาตราทางชลมารคขึ้นมาใหม่ ในโอกาสที่ทางราชการจัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษขึ้น โดยจัดให้มีขบวนเรือพระราชพิธีอัญเชิญพระพุทธรูป พระไตรปิฏก และพระสงฆ์แห่ไปตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา การเฉลิมฉลองครั้งนั้น เรียกชื่องาน ว่า “งานพุทธพยุหยาตรา ทางชลมารค”
ในรัชสมัยรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคตั้งแต่ปี 2500 ถึงปี 2555 รวม 17 ครั้ง ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 เป็นการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 เส้นทางขบวน จากท่าวาสุกรีถึงท่าราชวรดิฐ และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แต่นับเป็นครั้งแรกในการเสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวราราม
เวลา 16.10 นาฬิกา เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เข้าเทียบสะพานฉนวนน้ำ หน้าพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม เจ้าพนักงานพระราชพิธี เชิญผ้าพระกฐินจากบุษบกเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช ไปรอทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ในพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม
เมื่อเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เข้าเทียบท่าฉนวนน้ำ หน้าพระอุโบสถวัดอรุณราชวรารามเรียบร้อยแล้ว (นายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ตีกรับ กำลังพลฝีพายถวายบังคม แตรเดี่ยว (เรือแตงโม) เป่าเพลงคำนับพร้อมกัน)
จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จขึ้นท่าฉนวนน้ำ หน้าพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม
ต่อจากนั้น เสด็จเข้าพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับผ้าไตรจากเจ้าพนักงานศุภรัต ทรงวางผ้าไตรเหนือพานแว่นฟ้า ซึ่งตั้งอยู่หน้าอาสน์สงฆ์ใกล้เจ้าอาวาส ทรงจุดธูปเทียนนมัสการบูชา พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก พระประธานพระอุโบสถ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมราชสรีรางคาร รัชกาลที่ 2 ทรงหยิบผ้าห่มสำหรับพระประธานพระอุโบสถที่วางอยู่บนผ้าไตร พระราชทานเจ้าพนักงานภูษามาลา
ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงหยิบผ้าไตรที่พานแว่นฟ้าพาดระหว่างพระกร แล้วประนมพระหัตถ์ ผินพระพักตร์สู่พระประธานพระอุโบสถ ทรงว่า “นะโม ตัสสะฯ” จบ 3 หนแล้ว ผินพระพักตร์สู่ที่ชุมนุมสงฆ์ ทรงกล่าวคำถวายผ้าพระกฐิน จากนั้น ทรงวางผ้าไตรไว้บนพานแว่นฟ้าที่เดิม แล้วทรงประเคนผ้าไตรและเทียนปาฏิโมกข์ แด่พระสงฆ์รูปที่ 2
เมื่อพระสงฆ์ผู้ครองผ้าพระกฐิน ออกไปครองผ้าพระกฐินเสร็จแล้ว และกลับมานั่งยังอาสน์สงฆ์ที่เดิม จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระดำเนินไปถวายเครื่องบริวารพระกฐิน แด่พระสงฆ์ผู้ครองผ้าพระกฐิน ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก
ในโอกาสนี้ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินบำรุงวัดอรุณราชวราราม เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานของที่ระลึก
ในการนี้ เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม ถวายพระพุทธนฤมิตร (จำลอง) ขนาดหน้าตัก 9 นิ้ว เนื้อทองคำและเนื้อเงิน แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายพระพุทธนฤมิตร (จำลอง) ขนาดหน้าตัก 7 นิ้ว เนื้อทองคำและเนื้อเงิน แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ถวายพระพุทธนฤมิตร (จำลอง) ขนาดหน้าตัก 3.5 นิ้ว เนื้อทองคำและเนื้อเงิน แด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร
ต่อจากนั้น เสด็จออกชานหน้าพระอุโบสถ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยบูชาพระพุทธนฤมิตร พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ต่อจากนั้น ทรงพระดำเนินไปทรงวางพุ่มดอกไม้ และทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
วัดอรุณราชวราราม เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา เมื่อแรกเริ่มชื่อ "วัดมะกอก" และเปลี่ยนชื่อเป็น "วัดมะกอกนอก" ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "วัดแจ้ง" เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดราชวรมหาวิหาร และเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 2 ชื่อ "วัดแจ้ง" มาจากชื่อที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระราชทานหลังจากทรงยกทัพกลับจากทรงกอบกู้กรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง เป็นเวลารุ่งอรุณที่หน้าวัดแห่งนี้
โดยในรัชสมัยรัชกาลที่ 1 มีพระราชกระแสให้บูรณปฏิสังขรณ์ "วัดแจ้ง" ทั้งวัด แต่เสด็จสวรรคตก่อน จึงแล้วเสร็จเพียงกุฏิสงฆ์ ส่วนพระอุโบสถ กับพระวิหาร แล้วเสร็จในรัชสมัยรัชกาลที่ 2 และพระราชทานชื่อใหม่ว่า “วัดอรุณราชธาราม” ต่อมาในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 มีพระราชกระแสให้เสริมพระปรางค์ ให้ใหญ่และสูงขึ้น เพื่อสนองพระราชดำริรัชกาลที่ 2 ที่มีพระราชประสงค์ให้พระปรางค์วัดอรุณราชธาราม เป็นพระมหาธาตุสำหรับพระนคร และในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 “วัดอรุณราชธาราม” ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์หลายรายการ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เชิญพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ 2 มาบรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระอุโบสถด้วย เมื่อการบูรณปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จพระราชทานชื่อวัดใหม่ว่า “วัดอรุณราชวราราม”