"ประพนธ์" จี้ "รัฐบาล" คุมราคาสินค้า - บริการ ไม่ให้สูงเกินประชาชน รับได้
"ประพนธ์" ไทยสร้างไทย ห่วง ปัญหาข้าวของราคาแพง เงินเฟ้อกระฉูด กระทบ หลายล้านครัวเรือน คนหาเช้ากินค่ำ จี้ "รัฐบาล" ควบคุมราคาสินค้า บริการ ไม่ให้สูงเกินประชาชนรับได้
นายประพนธ์ เนตรรังษี คณะกรรมการบริหารพื้นที่ พรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึง เสียงสะท้อนของคนไทยที่พูดไปในทิศทางเดียวกันว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่ยุค “ข้าวยากหมากแพง” แล้วจากข้อมูลล่าสุดพบว่า อัตราเงินเฟ้อเดือนเมษายน อยู่ที่ร้อยละ 4.65 ถ้าหากอัตราเงินเฟ้อยังคงเป็นเช่นนี้อยู่ ลูกจ้างที่ได้ค่าจ้างขั้นต่ำรายวันย่อมได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดย 1 ใน 3 ของครัวเรือนไทยทั้งหมด (7.2 ล้านครัวเรือน) มีรายได้ไม่พอรายจ่าย ซึ่งครัวเรือนเหล่านี้ก็ยังคงได้รับผลกระทบในช่วงที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ และอีก 2 ล้านครัวเรือน ที่มีเงินเก็บเพียงเล็กน้อย ก็จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ช่วงอัตราเงินเฟ้อสูง
นอกจากนี้ยังพบว่า ราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ปรับขึ้นราคาอีกครั้ง เป็นรอบที่ 3 กิโลกรัมละ 1 บาท/ถังขนาด 15 กิโลกรัม พุ่งเป็นถังละ 363 บาท สถานะกองทุนน้ำมันติดลบกว่า 8.1 หมื่นล้านบาท รวมถึงของกินของใช้ อาทิ น้ำมันพืช น้ำยาปรับผ้านุ่ม กระดาษชำระ ซอสหอยนางรมขวดใหญ่ น้ำยาล้างจานชนิดเติม ปลากระป๋อง นมถั่วเหลืองขวด น้ำผลไม้แพ็ค
ซึ่งที่ผ่านมา พรรคไทยสร้างไทยได้สื่อสารกับรัฐบาลมาโดยตลอดว่าให้ลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 5.99 บาท ล่าสุด รัฐบาลลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงมา 5 บาท เป็นระยะเวลา 2 เดือน ถึงวันที่ 20 กรกฎาคม นี้ ช่วยลดภาระการอุดหนุนของกองทุนน้ำมันจาก 9 บาท เป็น 7 บาท โดยมีเป้าหมายการตรึงราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ในช่วง 32-33 บาทต่อลิตร มาตรการที่รัฐบาลต้องดูแลต่อมาคือ การควบคุมราคาสินค้าและบริการไม่ให้สูงขึ้นจนเกินกว่าประชาชนรับได้
กระทรวงพาณิชย์ ต้องเข้าไปดูแลต้นทุนการผลิต เช่น ปุ๋ย ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติยูเครน-รัสเซีย ซึ่งรัสเซียเองเป็นผู้ผลิตปุ๋ยอันดับ 1 ของโลก โดยพยายามเจรจาต่อรองกับประเทศผู้ค้าปุ๋ยรายใหญ่ อาทิ จีน โดยอาศัยความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดที่มีอยู่ยาวนาน อย่างเช่นในอดีตที่ไทยเคยซื้อน้ำมันจากจีนในราคามิตรภาพในช่วงวิกฤติราคาน้ำมัน ครั้งแรก ในช่วงทศวรรษ 2510 อีกทั้งต้องเข้าไปดูการขายสินค้าเกษตรของเกษตรกร และราคาขายสินค้าเกษตรที่ตลาด ว่ามีส่วนต่างราคาที่สูงเกินไป เป็นการเอาเปรียบผู้ผลิต และผู้บริโภคมากเกินไปหรือไม่
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์