ไส้ใน ทบ.ควัก 3.2 ล้านบาท จ้าง สวทช.ผ่าเครื่อง “จีที 200” หลังชนะคดี20 วัน
เปิดไส้ใน “กองทัพบก” ควักงบ 3.2 ล้านบาท ว่าจ้างวิธีเฉพาะเจาะจง “สวทช.” ผ่าเครื่อง “จีที 200” ใช้งบปี 64 หลังชนะคดีเอกชนในศาลปกครองไปแล้ว 20 วัน
แม้ว่าเงื่อนปมกองทัพบก (ทบ.) ดำเนินการว่าจ้างสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ตรวจสอบเครื่องตรวจจับสารเสพติด อาวุธ และวัตถุระเบิด (จีที 200) จำนวน 757 เครื่อง วงเงิน 7.57 ล้านบาท โดยระบุเหตุผลว่า เป็นหลักฐานประกอบการเรียกค่าเสียหายแก่บริษัทผู้ผลิต จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการว่าจ้างที่มีราคาสูง เพราะตก 10,000 บาท/เครื่อง จะสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม
เพราะ พล.อ.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ เสนาธิการทหารบก (เสธ.ทบ.) ในฐานะโฆษกกองทัพบก ออกมาชี้แจงแล้วว่า ขณะนี้สิ้นสุดแล้ว ไม่ต้องผ่าพิสูจน์แล้ว โดยที่ผ่านมามีการดำเนินการไปแล้ว 320 เครื่อง ดังนั้นเหลือเงินอีก 2-3 ล้านบาทที่ต้องส่งคืนหลวงต่อไป โดยหลังจากนี้จะรอหนังสือยืนยันจากอัยการสูงสุด (อสส.) อย่างเป็นทางการว่า ทบ.ไม่ต้องตั้งงบประมาณเพื่อผ่าพิสูจน์เครื่องจีที 200 อีก
อ่านข่าว: ทบ.ไม่ผ่า GT200 แล้ว เตรียมคืนงบประมาณ 2- 3 ล้านบาท
แต่สิ่งที่หลายคนสนใจคือ ประเด็นการว่าจ้างครั้งนี้ เกิดขึ้นภายหลังที่กองทัพบก (ทบ.) ชนะคดีเอกชน คือ บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด (ผู้ขายเครื่องจีที 200) ไปแล้ว โดยศาลปกครองมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2564 ว่า เครื่องจีที 200 จำนวน 757 เครื่อง ที่กองทัพบกจัดซื้อ เป็นสินค้าไม่มีคุณภาพ ไม่มีคุณลักษณะเฉพาะตามเอกสารแสดงคุณสมบัติของเครื่อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา ให้บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ชำระเงินให้กับกองทัพบก 683,441,561.64 บาท ใช้ธนาคารกสิกรไทย ชำระเงิน 56,856,438.87 บาท ให้ธนาคารกรุงเทพ ชำระ 6,195,452.5 บาท ยกฟ้องนายสุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ ผู้ถูกฟ้องที่สอง เพราะเป็นผู้บริหาร และไม่ได้ความว่าทำเกินขอบข่าย ขอบเขตของนิติบุคคล
อ่านข่าว: อสส.แจงไทม์ไลน์คดี “จีที 200” ทบ.ชนะปี 64 ชี้การพิสูจน์ไม่มีผลทางคดีแล้ว
ขณะที่การว่าจ้าง สวทช.ให้ผ่าพิสูจน์เครื่อง “จีที 200” โดยกองทัพบกอ้างว่าเพื่อนำไปเป็นพยานหลักฐานต่อสู้ในชั้นศาลนั้น มีการกำหนดราคากลาง และประกาศราคากลางเมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2564 ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังศาลมีคำพิพากษาราว 20 วัน
กรุงเทพธุรกิจตรวจสอบฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พบว่า กองทัพบก โดยกรมสรรพาวุธทหารบก ดำเนินโครงการจ้างการตรวจสอบเครื่องตรวจจับสารเสพติด อาวุธ และวัตถุระเบิด (GT200) ใช้งบประมาณ 3.2 ล้านบาท ราคากลาง 3.2 ล้านบาท ด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง มี สวทช. เป็นผู้ชนะ โดยเป็นผู้มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่กำหนด และมีการทำสัญญากันเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2564 หรือภายหลังประกาศราคากลางราว 8 วัน กำหนดวันสิ้นสุดสัญญาเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2565
ข้อมูลข้างต้น สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ ในฐานะโฆษก ทบ. ชี้แจงว่า มีการผ่าพิสูจน์ไปแล้ว 320 เครื่อง เป็นงบประมาณในปี 2564
หากดีดลูกคิดคำนวณคือ 320 เครื่อง ตกเครื่องละ 10,000 บาท จะเท่ากับงบประมาณ 3.2 ล้านบาทที่ ทบ.ว่าจ้าง สวทช.พอดิบพอดี
แต่ที่น่าสนใจ และยังไม่มีคำตอบจาก ทบ. หรือแม้แต่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ รมว.กลาโหม ต้นสังกัด ทบ. คือ ไฉนจึงมีการตั้งงบประมาณดังกล่าว ภายหลังที่ ทบ.ชนะคดีในศาลปกครองไปแล้ว
ขณะที่การตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการนี้ เกิดขึ้นก่อนจะสิ้นสุดปีงบประมาณ 2564 เพียงแค่ 9 วันเท่านั้น (ประกาศราคากลาง 21 ก.ย. 2564 สิ้นสุดงบประมาณ 2564 ในวันที่ 30 ก.ย. 2564 เริ่มงบประมาณปี 2565 ในวันที่ 1 ต.ค. 2564)
เงื่อนปมเหล่านี้ยังเป็นปริศนาที่ ทบ. และ “บิ๊กตู่” คงต้องออกมาชี้แจงแถลงไขต่อสาธารณชน แม้ว่าเรื่องนี้ ทบ.จะดำเนินการคืนงบประมาณที่เหลือแก่ทางราชการ ไม่ผ่าพิสูจน์เครื่องจีที 200 ไปแล้วก็ตาม