เสวนาต้านโกงชี้ “ผู้นำ” ส่วนสำคัญปราบทุจริต แนะต้องจริงจัง-ทำเป็นตัวอย่าง
วงเสวนาองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันชี้ “ผู้นำ” มีส่วนสำคัญ “ต้านโกง” แนะต้องจริงจัง ทำเป็นตัวอย่าง ปลูกฝังค่านิยมป้องทุจริต ควบคู่สร้างเครือข่ายภาคประชาชน
เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2565 ที่สถานีกลางบางซื่อ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT จัดเสวนาเจาะประเด็นวิสัยทัศน์ การต่อต้านคอร์รัปชัน “ผู้นำ...กับการปราบโกง!” โดยมีตัวแทนองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมต่างเข้าร่วมประมาณ 1,000 คน
นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวถึงผลการดำเนินงานของ ACT ว่า เป็นที่ยอมรับว่าปัญหานี้ยังเป็นปัญหาใหญ่และเป็นปัญหาที่เราจะต้องเผชิญกันต่อไป ซึ่งเป็นปัญหาที่กัดกินและบบั่นทอนการพัฒนาประเทศ สร้างความทุกข์บั่นทอนการอยู่ดีมีสุขของประชาชน เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันจึงถือเป็นเรื่องของประชาชนคนไทยทุกคน ทุกองค์กร ทุกภาคส่วน จึงขอเชิญชวนให้ทุกคนให้ความสำคัญและให้กำลังใจกับบทบาทของผู้นำองค์กรในทุกภาคส่วน เพราะผู้นำในทุกระดับชั้นมีบทบาทในการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันต่อไป ทั้งนี้เราเชื่อว่า 11 ปีที่ผ่านมาเรามีความก้าวหน้า เริ่มเห็นความตื่นตัว เริ่มเห็นบทบาทหน้าที่ทุกภาคส่วนในการช่วยกันผลักดันการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน แม้วันนี้จะเป็นปัญหาใหญ่แต่เรามีความเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่ง เราเห็นแสงสว่างที่ปลายทางว่าเราจะร่วมกันพลิกผันสถานการณ์ทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยได้
“โดยบทบาทหน้าที่ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน จะเชื่อมโยงความร่วมมือทุกภาคส่วน และร่วมพัฒนากลไกต่างๆ ให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะนำไปสู่ความเชื่อ ความหวัง ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ความไว้วางใจของประชาชน ซึ่งจะเป็นพลังสำคัญในการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน และตนเชื่อว่าเราจะสามารถเดินหน้าแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนคนไทย” นายวิเชียร กล่าว
ต่อมาในการเสวนาเจาะประเด็นวิสัยทัศน์ การต่อต้านคอร์รัปชัน “ผู้นำ...กับการปราบโกง!” นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในส่วนของกระทรวงการคลังจะเน้นที่เรื่องการรับจ่ายเงิน ที่ต้องเกิดความคุ้มค่า ทั้งส่วนราชการส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจ นอกจากนั้นการใช้งบประมาณจะต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างซึ่งต้องเน้นเรื่องความโปร่งใส เพราะโดยปกติแล้วปัญหาทุจริตคอร์รัปชันของเราจะมาจากการจัดซื้อจัดจ้าง โดยจะมีหน่วยราชการกับภาคเอกชนเป็นคู่กรณีที่เกี่ยวข้องอยู่เสมอ ตั้งแต่การจัดซื้อจัดจ้างที่จำนวนเงินไม่มาก จนถึงโครงการหลักหมื่นถึงหลักแสนล้านบาท ดังนั้นการคุมกฎเรื่อง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ทั้งนี้จากการวัดดัชนีรับรู้การทุจริต ประเทศไทยได้คะแนนค่อนข้างต่ำมาก ต้องกลับมาดูว่าเรื่องการปฏิบัติการคุมกฎได้มีการทำอย่างเข้มข้นหรือไม่ อย่างไรก็ตามปัญหาที่เกิดขึ้นเชื่อว่ามาจาก 2 ส่วนคือ ระบบงาน และระบบคน ทั้งนี้หากคนไม่มีความสำนึกเรื่องการทำงานที่ซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีสำนึกเรื่องการใช้จ่ายเงินงบประมาณที่เป็นภาษีประชาชน ก็จะทำให้กระบวนการใช้จ่ายเงินไม่โปร่งใส อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันพื้นฐานที่สุดมาจากตัวคน ดังนั้นจะต้องปลูกฝังนิสัยในเรื่องของความซื่อสัตย์สุจริต และในแง่ของผู้นำองค์กรก็มีความสำคัญ โดยจะต้องบอกผู้ใต้บังคับบัญชาอันดับแรกคือเรื่องความโปร่งใส ดังนั้นการปลูกฝังตั้งแต่เด็กจนถึงการเป็นผู้นำองค์กรเป็นสิ่งที่สำคัญ
ส่วนนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงข้อเสนอแนะการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันว่า ข้อเสนอนะ 3 ข้อคือ 1.ผู้นำ โดยผู้นำเป็นต้นตอสำคัญที่สุดของการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน โดยผู้นำจะต้องประกาศเอาจริงเอาจัง อย่าง กทม. ผู้นำต้องประกาศเลยว่ากทม.เอาจริงเอาจังเรื่องคอร์รัปชัน ไม่มีการส่งเป็นลำดับชั้น ต้องยกเลิกทั้งหมด ไม่มีการอ้างเรื่องนาย ดังนั้นผุ้นำต้องเอาจริงเอาจังไม่ใช่แค่ผุ้นำสโลแกน ต้องลงไปลุยให้ถึงทุกระดับ 2.การหาภาคีเครือข่าย เพราะคอร์รัปชันมาจากหลายมิติ ซึ่งตนเชื่อว่าจะต้องเป็นเกลียว 4 เกลียวประสานกันเพื่อให้การต่อต้านเข้มแข็งขึ้นคือ ภาครัฐต้องเข้มแข็ง ภาคเอกชน ภาคประชาชนมีส่วนร่วม และภาควิชาการ และ 3.ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไป ต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาจับ จะทำให้มีการเพิ่มพลังจากคน มีข้อมูลที่โปร่งใส การแก้ไขปัญหาการทุจริตเป็นรูปธรรมขึ้น
“หลายๆ ครั้ง ปัญหาการทุจริตเกิดจากแผลเล็กๆ แล้วกลายเป็นบาดทะยัก แค่นโยบายไม่รับของขวัญก็เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเรารับของขวัญจนเราเคยชิน แค่นี้ก็จะกลายเป็นบาดทะยัก ถ้าเราเคยชินกับการให้ ผู้ค้าก็ต้องเอาของดีๆ มาให้ สุดท้ายก็จะกลายเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นหลายๆ อย่างเราต้องเลิกให้เป็นวัฒนธรรม จริงๆ การออกกฎระเบียบเพื่อแก้ไขการคอร์รัปชันก็ไม่ได้ง่าย แต่ถ้าสร้างจิตสำนึกได้ง่ายกว่าเยอะ” นายชัชชาติ กล่าว
ส่วนวิธีป้องกันปัญหาการทุจริตที่มาจากนักการเมืองหรือผู้มีอิทธิพลนั้น นายชัชชาติ กล่าวว่า เราต้องตั้งหลักให้มั่น หากไม่ยึดผลประโยชน์จากผู้มีอิทธิพล แต่ยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ถ้าเราไม่กังวลเรื่องผลประโยชน์ เราไม่ต้องเป็นหนี้บุญคุณใคร ผู้มีอิทธิพลก็ไม่มีความหมาย แต่ขอให้มีหลักการที่ยุติธรรม ชี้แจงได้ และเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง ดังนั้นถ้าเราเริ่มด้วยความยุติธรรม เราเริ่มจากการเลือกตั้งที่ไม่ต้องรับเงินใครมา เราไม่ต้องซื้อเสียง เรามาด้วยเสียงประชาชนจริงๆ เราไม่ต้องกลัวผู้มีอิทธิพล เพราะเราไม่ได้อาศัยเค้ามา เราอาศัยเสียงประชาชนมา ดังนั้นถ้าเราโปร่งใสตั้งแต่การเลือกตั้ง การเข้าสู่กระบวนการ สุดท้ายเราก็เอาประชาชนเป็นหลัก เราไม่ต้องกังวลเพราะเรามาด้วยกระบวนการที่โปร่งใส แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เราไปรับผลประโยชน์จากเค้า เราจะตกเป็นทาสเค้าไปตลอด ดังนั้นเราต้องเริ่มด้วยความสะอาด บริสุทธิ์ มาด้วยความโปร่งใส สุดท้ายไม่ต้องเกรงใจใคร เกรงใจประชาชนเท่านั้น เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เราไปรับผลประโยชน์เขาเราก็จะต้องตกเป็นทาสเขา
ขณะที่นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดผู้นำต้องมีเจตจำนงที่ชัดเจนในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน โดยผู้นำจะต้องเป็นตัวอย่าง ขณะเดียวกันจะต้องสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย เพื่อให้ประชาชนกล้าแสดงออก เพราะการทุจริตหลายครั้งเกิดขึ้นจากประชาชนหวั่นเกรงอำนาจที่มองไม่เห็น อำนาจมืด ดังนั้นหากปลูกฝังวัฒนธรรมประชาธิปไตย ทำให้คนกล้าแสดงออกและให้ตระหนักว่าปัญหาทุจริตคอร์รัปชันเป็นของทุกคนเป็นสิ่งที่สำคัญ ทั้งนี้ระบบก็เป็นสิ่งที่สำคัญ วันนี้การมีส่วนร่วมจะต้องสร้างให้เกิดขึ้นในทุกระบบ หากสร้างการมีส่วนร่วมตั้งแต่การทำนโยบายก็จะทำไปสู่ปลายทางของการทุจริตได้ยาก นอกจากนั้นจะต้องมีระบบที่เปิดเผยข้อมูลมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบและเข้าถึงข้อมูลได้ รวมทั้งต้องมีการบวนการปลูกฝังเด็กและเยาวชน ให้แยกระหว่างเรื่องปัจเจกกับสาธารณะ โดยจะต้องปลูกฝังเรื่องนี้เข้าไปในสังคมตลอดเวลา
ส่วน น.ส.เพ็ญภัค รัตนคำฟู นายกเทศมนตรีตำบลเกาะคา จังหวัดลำปาง กล่าวว่า ผู้นำสำคัญมาก โดยจะต้องเล็งเห็นว่าปัญหาทุจริตคอร์รัปชันเป็นปัญหาสำคัญ และผู้นำต้องจริงจังจริงใจในการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่แค่ทำตามกระแส นอกจากนั้นต้องแก้ปัญหาช่องโหว่ของกฎหมายที่ทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน เราต้องลดช่องโหว่ ปรับปรุงระบบราชการลดขั้นตอนระบบราชการ สร้างเครือข่ายประชาสังคม เพื่อให้คนในสังคมมีความเคลื่อนไหวในการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ทำให้ทุกคนเห็นว่าการคอร์รัปชันไม่ใช่เรื่องธรรมกาแต่เป็นมะเร็งร้ายของสังคม เพื่อให้คนในชุมชนกล้าคิด กล้าแสดงออก กล้าตรวจสอบ ทั้งนี้ตนเห็นว่าสังคมไหนก็ตามที่เกิดการเมืองภาคพลเมืองคือสังคมที่เข้มแข็งในการป้องกันการทุจริต