เปิดสถิติ 5 คดี "ประยุทธ์" ถูกร้อง "ศาลรัฐธรรมนูญ" ตลอดเก้าอี้ 8 ปี รอดทั้งหมด!
ย้อนรอยสถิติ 5 คดี "ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ถูกยื่นร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญ ตลอดวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปีเต็ม
ภายหลังเมื่อวันที่ 30 ก.ย.2565 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์ และมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง วินิจฉัยสถานะความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่สิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่กรณีดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาครบกำหนด 8 ปี ระหว่าง 24 ส.ค.2557 - 24 ส.ค.2565
สำหรับคดีวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์นั้น ไม่ใช่คดีแรกที่มีการยื่นถึงศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย แต่ก่อนหน้านี้มีการยื่นคำร้องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญขอให้วินิจฉัยประเด็นต่างๆ ของพล.อ.ประยุทธ์ ช่วงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งแต่ปี 2557
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" รวบรวมคำร้อง และผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อพล.อ.ประยุทธ์ มีดังนี้
1.คดีถวายสัตย์ฯ ไม่ครบ
กรณีนายภานุพงศ์ ชูรักษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ส่งความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณี พล.อ.ประยุทธ์ ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ไม่ครบถ้วน ซึ่งไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 อันเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเป็นอันบังคับใช้ไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 5 วรรคหนึ่งหรือไม่ และเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียนหรือไม่
วันที่ 11 ก.ย.2563
"ศาลรัฐธรรมนูญ" มีมติเอกฉันท์ "ไม่รับคำร้อง" ดังกล่าวไว้พิจารณา เนื่องจากการถวายสัตย์ต่อพระมหากษัตริย์เป็นการกระทำทางการเมือง ในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์อันอยู่ในความหมายของการกระทำของรัฐบาล ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ จึงไม่อาจรับคำร้องไว้ได้ และการถวายสัตย์ดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด
2.คดีคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี
จากกรณี ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน 7 พรรค จำนวน 110 คน เข้าชื่อเสนอให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พล.อ.ประยุทธ์ มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เพราะการเป็นหัวหน้า คสช.ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (6) ได้กำหนดคุณสมบัติรัฐมนตรี ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 ซึ่งมาตรา 98 (15) ได้กำหนดลักษณะของคนที่ต้องห้ามสมัคร ส.ส.เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
วันที่ 18 ก.ย.2562
"ศาลรัฐธรรมนูญ" ได้อ่านคำวินิจฉัยกรณีดังกล่าวว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรค 1 (4 ) ประกอบมาตรา 160(6) และมาตรา 98 (15)หรือไม่ โดย มีคำวินิจฉัยว่าพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. “ไม่เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ประกอบมาตรา16 (6) และมาตรา 98 (15) เนื่องจากการดำรงตำแหน่งหัวหน้า คสช. เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 ไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐและมีอำนาจหน้าที่เฉพาะชั่วคราว ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัว
3.คดีบ้านพักหลวง
กรณีพล.อ.ประยุทธ์เข้าพักอาศัยในบ้านพักราชการทหารภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) ภายหลังการเกษียณอายุราชการมากกว่า 6 ปี โดยนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เป็นผู้ยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า การที่พล.อ.ประยุทธ์ ยังพักอาศัยในบ้านพักทหารโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายทั้งที่ได้เกษียณ และพ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกมาตั้งแต่ปี 2557 ถือว่าเข้าข่ายเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 (3) ประกอบมาตรา 186 หรือไม่
วันที่ 2 ธ.ค.2563
"ศาลรัฐธรรมนูญ" มีคำวินิจฉัยว่า เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติของกองทัพบก เนื่องจากบ้านพักทหารได้เปลี่ยนสถานะเป็นบ้านพักรับรอง ตามระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก พ.ศ.2548 ซึ่งกำหนดให้อดีตผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพบก ที่ทำคุณประโยชน์ให้กับกองทัพบกและประเทศชาติ และเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกมาแล้ว มีสิทธิเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบกโดยที่กองทัพบกสามารถพิจารณาความเหมาะสมในการสนับสนุนค่าน้ำและค่าไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการพักอาศัยตามความจำเป็นและเหมาะสม ซึ่งมิใช่เพียงแต่นายกรัฐมนตรีเท่านั้น หากแต่กองทัพบกได้ให้การสนับสนุนอดีตผู้บังคับบัญชาคนอื่นๆ ด้วย
"ศาลรัฐธรรมนูญ" ได้มีมติเอกฉันท์ว่าความป็นรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ และ รมว.กลาโหม ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 140 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 160 (5) และมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง และมาตรา 4 วรรคหนึ่ง (3) และไม่ได้มีพฤติกรรมอันป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
4.คดีขยายสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว
จากกรณีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย พร้อมนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และ ส.ส.พรรคเพื่อไทยรวม 72 คน ยื่นคำร้องต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ ม.170 (5) ประกอบมาตรา184 (2) และมาตรา 186 หรือไม่
จากกรณีออกคำสั่งตามมาตรา 44 เมื่อเดือน เม.ย.2562 เพื่อขยายสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กับเอกชนออกเป็นเวลา 40 ปี ทั้งที่ขณะนั้นระยะเวลาสัมปทานคงเหลืออีก 10 ปี รวมถึงมีการประกาศใช้กฎหมายร่วมทุนในเดือนมี.ค. 2562 แต่กลับไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ทำให้เกิดการผูกขาดโครงการและไม่ได้มีการแข่งขันของเอกชน
วันที่ 1 ก.ค.2564
"ศาลรัฐธรรมนูญ" ได้อ่านคำวินิจฉัยเห็นว่า บทบญญัติของรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (2) มีความมุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ไม่ให้กระทำการอันเป็นการต้องห้ามในขณะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหากรัฐมนตรีผู้ใดกระทำการอันเป็นการต้องห้ามในขณะที่ตนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอยู่ ความเป็นรัฐมนตรีของผู้นั้นย่อมต้องสิ้นสุดลง ดังนั้นการยื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวนั้น
จะต้องเป็นกรณีที่ผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีนั้นอยู่ในขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้องปรากฏว่า ในขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบ มาตรา 82 แต่ผู้ถูกร้องได้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามบทเฉพาะกาลมาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญไปแล้ว นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญเข้ารับหน้าที่ ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ได้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่ง "ไม่รับคำร้อง" ไว้พิจารณาวินิจฉัย
5.คดีวาระนายกฯ 8 ปี
กรณีพรรคร่วมฝ่ายค้านรวม 171 คน นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม ประธานวิปฝ่ายค้าน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นายวิรัตน์ วรศสิริน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย นายนิคม บุญวิเศษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย เป็นต้น ร่วมกันยื่นหนังสือถึง นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ขอส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่หรือไม่
วันที่ 30 ก.ย.2565
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์ และมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียงว่า ความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่
ศาลรัฐธรรมนูญ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี2560 เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ต้องถือว่าวันที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ เป็นวันเริ่มต้นรับตำแหน่งเมื่อผู้ถูกร้อง (พล.อ.ประยุทธ์) ดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 นับตั้งแต่ 6 เม.ย.2560 ถึงวันที่ 24 ส.ค.2565 ผู้ถูกร้องจึงดำรงตำแหน่งนายกฯ ยังไม่ครบกำหนดเวลาตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 170 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญ โดยมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี ของผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่