“ธนาธร” ชงข้อเสนอคืนความยุติธรรมให้สังคม นิรโทษคดีการเมือง-ปฏิรูปสถาบัน

“ธนาธร” ชงข้อเสนอคืนความยุติธรรมให้สังคม นิรโทษคดีการเมือง-ปฏิรูปสถาบัน

"ธนาธร" ชงข้อเสนอ นิรโทษกรรมคดีการเมืองตั้งแต่ปี 2557 ทุกคดี รวม 112 พร้อมยืนยันการอภิปรายปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเสรีภาพที่พึงกระทำได้ หนุนให้สัตยาบัน ICC ยุติวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวล ชี้เป็นบันไดสามขั้นที่คืนความเป็นธรรมให้สังคม

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กถึงข้อเสนอทางการเมืองจากการร่วมวงเสวนา “ความยุติธรรมในยุคเปลี่ยนผ่าน” ในงานนิทรรศการ “6 ตุลา เผชิญหน้าปีศาจ” ซึ่งจัดขึ้นที่ Kinjai Contemporary เมื่อวานนี้ อันประกอบไปด้วย การนิรโทษกรรม การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และการให้สัตยาบันต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC)

ประธานคณะก้าวหน้า ระบุว่า การคืนความเป็นธรรมให้กับผู้เห็นต่างเท่านั้น ที่จะทำให้สังคมก้าวไปข้างหน้าและหลุดพ้นจากความขัดแย้งแตกแยกได้ พร้อมยกตัวอย่างในกรณีของเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ซึ่งมีการบ่มเพาะให้คนไทยเกลียดชังนักศึกษา ป้ายสีว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จนนำไปสู่การปราบปรามอย่างโหดร้าย แต่ผ่านไปเพียง 4 ปี รัฐบาลยังออกนโยบาย 66/23 นิรโทษกรรมให้กับนักศึกษาและคนที่เคยจับอาวุธขึ้นสู้กับรัฐบาล ได้

“ธนาธร” ชงข้อเสนอคืนความยุติธรรมให้สังคม นิรโทษคดีการเมือง-ปฏิรูปสถาบัน

“การนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองทั้งหมดที่เกี่ยวพันกับความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่รัฐประหาร 2557 เป็นต้นมาโดยเฉพาะนักโทษคดี 112 จึงถือเป็นก้าวสำคัญก้าวแรกต่อการสร้างสังคมที่ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้ ไปสู่ความก้าวหน้าได้” ประธานคณะก้าวหน้า ระบุ

นายธนาธรระบุถึงข้อเสนอต่อไปว่า ด้วยเรื่องของการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยระบุว่าการมีความคิดเช่นนี้อยู่ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ และคนไทยทุกคนที่มีความคิดแตกต่างในเรื่องนี้ควรอยู่ร่วมกันได้ และประชาชนทุกคนต้องร่วมกันยืนยันว่าการพูดถึงประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นเสรีภาพที่ทำได้ “ถ้าพูดกัน 10 คน ก็จะติดคุกทั้ง 10 คน แต่ถ้ามีคนพูดเป็นพันหรือเป็นหมื่นคน จะไม่มีใครต้องติดคุกแม้แต่คนเดียว”

 

“ธนาธร” ชงข้อเสนอคืนความยุติธรรมให้สังคม นิรโทษคดีการเมือง-ปฏิรูปสถาบัน

นายธนาธร ยังเสนอด้วยว่า การยุติวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวลเท่านั้น ที่จะทำให้อาชญากรรมของชนชั้นนำที่กระทำต่อประชาชนถูกนำมาลงโทษ และหากกระบวนการภายในไม่สามารถจัดการได้ สิ่งที่รัฐบาลชุดต่อไปต้องเร่งทำ ก็คือการให้สัตยาบัน อยู่ภายใต้เขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) เพื่อสอบสวนพิจารณาคดีและนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายสากล

“ทั้งหมดนี้ไม่ได้ทำเพื่อให้ใครคนใดคนหนึ่งพ้นผิด หรือใครคนใดคนหนึ่งต้องถูกลงโทษ แต่เป็นการคืนความเป็นธรรมให้กับทั้งสังคม เพื่อให้เรากลายเป็นสังคมที่อยู่ร่วมกันได้ ชำระบาดแผลในอดีต และป้องกันไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมซ้ำๆ ในอนาคต” นายธนาธร ระบุ