“ช่อ” เชื่อ ส.ส.-ส.ว.โหวตผ่านร่าง รธน. “ปลดล็อกท้องถิ่น” เข้าสภา 29-30 พ.ย.
“ช่อ พรรณิการ์” ชวนประชาชนจับตาร่างแก้ไข รธน. “ปลดล็อกท้องถิ่น” เข้าสภา 29-30 พ.ย. เชื่อ ส.ส.-ส.ว.โหวตเห็นชอบ “ศิริกัญญา” ชี้การแบ่งรายได้ให้ท้องถิ่นเพิ่มขึ้น ต้องมีรัฐบาลที่มีเจตจำนงทางการเมืองเข้าไปผลักดัน
เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2565 น.ส.พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า และ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมเสวนาผลักดันด้านการกระจายอำนาจ ดำเนินรายการโดยนายสันติสุข กาญจนประกร ภายใต้หัวข้อ “หลากมิติผู้หญิงกับการกระจายอำนาจ”
น.ส.พรรณิการ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า การคืนอำนาจบริหารท้องถิ่น กลับสู่มือประชาชนจะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ผู้หญิงเข้าสู่การเมืองมากขึ้น ยิ่งการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งทำให้ผู้หญิงมีโอกาสได้เข้าไปบริหารราชการมากขึ้น และไม่เพียงแต่ผู้หญิงจะสามารถเข้าสู่พื้นที่การเมืองได้มากขึ้น การกระจายอำนาจ คืนอำนาจที่แท้จริงสู่ประชาชน จะทำให้ตัวแทน ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มชาติพันธุ์ หรือ กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ เข้าไปมีบทบาทในพื้นที่การเมืองได้มากขึ้นด้วย
น.ส.พรรณิการณ์ กล่าวอีกว่า ในวันที่ 29-30 พ.ย.นี้คาดว่า ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือที่เรียกกันว่าร่างปลดล็อกท้องถิ่นจะเข้าสู่การพิจารณาอภิปรายกันในสภา ทั้งนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นต้องผ่านความเห็นชอบของทั้ง ส.ส. และ ส.ว. แต่ก็เชื่อว่ามีความเป็นไปได้จะผ่านความเห็นชอบ ขนาดร่างสุราก้าวหน้า เพื่อปลดล็อกสุราพื้นบ้าน ยังขาดอีกแค่เพียง 2 เสียงเท่านั้นในวาระที่ 2 ขนาดเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทุนใหญ่ด้วย
แต่รอบนี้ ประเด็นเรื่องการกระจายอำนาจ หากไปดูสมาชิกรัฐสภา ทั้ง ส.ส. ส.ว. จำนวนมากมีความผูกพันกับการเมืองท้องถิ่น หลายคนก็เคยเป็นนายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกันมาก่อนอีกทั้ง ส.ว. หลายคน พรรคการเมืองหลายพรรคก็เคยประกาศว่าเอาด้วยกับการกระจายอำนาจ มีนโยบายที่เคยใช้หาเสียง และหลายคนก็เข้าใจความเจ็บปวดของการเป็นรัฐรวมศูนย์ รวมอำนาจเอาไว้ที่ส่วนกลาง ที่สร้างปัญหาอุปสรรคไม่ใช่แค่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังสร้างปัญหาและอุปสรรคในวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ด้วย ยกตัวอย่างเช่น หากไฟถนนเสีย ถนนพรุพัง ประชาชนไม่รู้เลยว่าเขาต้องไปติดต่อใคร จะเป็น อบต. หรือเทศบาล ซึ่งโดยมากก็ไปหา อบต. เทศบาล แต่พบว่าถนนหลายเส้นอยู่ในอำนาจของกระทรวงคมนาคม กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท ที่อยู่ส่วนกลาง กลายเป็นว่าปัญหาไม่ถูกแก้หรือแก้ล่าช้า
“เราหวังว่า ส.ส. และ ส.ว. จะโหวตเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญปลดล็อกท้องถิ่น วางอคติทางการเมืองและเห็นแก่ผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ และที่สำคัญจะเป็นข้อพิสูจน์ว่า สิ่งที่พูดกับสิ่งที่ทำสอดรับกันหรือไม่ ไม่ใช่พูดอย่าง แต่พอถึงเวลาต้องแก้ไขกฎหมายที่ทำให้เกิดการกระจายอำนาจมากขึ้น คืนอำนาจกลับสู่ประชาชนในพื้นที่ กลับไม่ยอมลงมติเห็นชอบ ถ้าเป็นเช่นนั้นประชาชนต้องช่วยกันติดตามและจดจำเอาไว้ว่าใครเป็นเช่นใด การกระทำกับคำพูดไปด้วยกันหรือไม่” น.ส.พรรณิการ์ กล่าว
ส่วน น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า การกระจายอำนาจ แท้จริงแล้วคือการคืนอำนาจกลับสู่ประชาชนให้ประชาชนได้มีอำนาจ สามารถร่วมกำหนดการพัฒนาในพื้นที่ และร่วมตรวจสอบการทำหน้าของนักการเมืองท้องถิ่นที่ได้เลือกมา ส่วนเรื่องที่มีการกังวลกันว่ากระจายอำนาจแล้วจะทำให้ยิ่งมีการคอร์รัปชันนั้น มองว่า ที่เห็นข่าวเรื่องการคอร์รัปชันเป็นระยะของท้องถิ่นนั้น เพราะประชาชนนั้นอยู่ใกล้ชิด และก็ยิ่งถูกพิสูจน์ว่าท้องถิ่นถูกตรวจสอบได้จากประชาชนและองค์กรตรวจสอบ ต่างจากโครงการของส่วนกลาง และยิ่งหากพิจารณาความเสียหาย จะพบว่าความเสียหายจากส่วนกลางนั้นมากกว่าท้องถิ่นด้วย งานวิจัยหลาย ๆ ชิ้นก็พิสูจน์เรื่องนี้แล้ว
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ยังมีประเด็นว่ากฎระเบียบของส่วนกลาง หรือช่วงตอนรัฐประหารสมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร ก็มีคำสั่ง คสช. ออกมาก็สะท้อนวิธีคิดแบบรัฐรวมศูนย์ นั่นก็เป็นสิ่งที่กดทับท้องถิ่นเอาไว้ ซึ่งทำให้การขับเคลื่อนท้องถิ่นไม่เกิดขึ้น และยังถอยหลังไปมากด้วยภายหลังจากการัฐประหาร และประเด็นเรื่องความต้องการที่จะผลักดันงบประมาณของท้องถิ่นให้มีส่วนแบ่งรายได้ 35% นั้นก็ถูกพูดกันมาหลายทศวรรษแล้ว แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องเจตจำนงทางการเมือง เพราะเมื่อท้องถิ่นได้ส่วนแบ่งรายได้เพิ่มขึ้น ก็หมายความว่า ส่วนกลางก็จะได้ส่วนแบ่งรายได้น้อยลง ประเด็นนี้เลยยังไม่เกิดขึ้น ถ้าจะเกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องมีรัฐบาลที่มีเจตจำนงทางการเมืองในเรื่องนี้ เข้าไปผลักดัน