คอนเน็กชั่น ส.ว."ตรา ป." - "แผนลับ-หมากการเมือง"
หาก “2 ป.” ยังจับมือกันเหนียวแน่น โอกาสเปิดดีลตั้งรัฐบาล โดยใช้ส.ว.250เสียงสนับสนุนมีอยู่พอสมควร แต่ในยามที่พี่น้องส่อแววแยกดาวคนละดวง จุดนี้อาจไปเข้าทางบรรดามิตรแท้-มิตรเทียมในการพลิกเกมตั้งรัฐบาลสู้
เปิดศักราชปีเถาะ 2566 การเมืองโฟกัสไปที่โหมดของการนับถอยหลังสู่วันเลือกตั้ง ยิ่งนับวัน ยิ่งปั่นกระแสราวกับใกล้รู้ผลแพ้ชนะ ทั้งที่ยังไม่รู้วันหย่อนบัตร และยังต้องลุ้นกระแสการเมืองในขณะนั้น
ไม่ต่างจากสารพัด “สูตรการเมือง” ที่ถูกปล่อยออกมา ณ เวลานี้ มีการมองข้ามช็อตไปถึงเกมชิงไหวชิงพริบในการรวบรวมเสียง ตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง
เหนือไปกว่านั้น อีกหนึ่ง “หมากตัวสำคัญ” ที่ต้องจับตาไม่แพ้กัน หนีไม่พ้น “250 ส.ว.” ที่ยังคงเป็นตัวละครสำคัญในเกมการเมืองหลังจากนี้
บทบัญญัติมาตรา269(4) แห่งรัฐธรรมนูญ ระบุว่า อายุของวุฒิสภาตามมาตรานี้มีกำหนดห้าปีนับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภา เริ่มตั้งแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง
ฉะนั้นวาระของ ส.ว.ชุดนี้จะเริ่มนับหนึ่ง ตั้งแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง เมื่อวันที่14 พ.ค.2562 และจะไปสิ้นสุดวันที่ 14 พ.ค.2567
หมายความว่า การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ส.ว.ชุดปัจจุบันซึ่งเกินครึ่ง ล้วนเป็นคนในตระกูล ป. ที่สามารถ“ร่วมโหวต”เลือกนายกฯได้อีก 1 ครั้งตามบทบัญญัติ มาตรา 272
ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่า ด้วยบริบทการเมืองรอบนี้ ต่างไปจากรอบที่แล้ว ตรงที่สัญญาณการแยกดาวคนละดวงของ “พี่น้อง 2 ป.” ตอกย้ำชัดจากท่าที “ป.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ที่ออกมาประกาศชัดตอบรับเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรครวมไทยสร้างชาติ
ไม่ต่างไปจาก “ป.ป้อม”ประวิตร วงษ์สุวรรณ ล่าสุด ส่งสัญญาณ “ขอใช้ใจบันดาลแรง” นำพาพลังประชารัฐ ผงาดพรรคเกิน 100 เพื่อเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
ขณะที่ความสัมพันธ์พี่น้อง 2 ป.ที่รอบนี้อาจต้องมาแข่งกันเอง “บิ๊กป้อม” พูดอย่างชัดเจนว่า “พล.อ.ประยุทธ์ ถือเป็นน้อง ไม่ถือว่าคู่แข่งกัน แต่ถ้าทางการเมือง ใครทางการเมืองดีกว่าคนนั้นก็เป็นไป”
ด้วยองคาพยพที่บีบให้พี่น้อง 2 ป.ต้องเดินบนดาวคนละดวงเช่นนี้ จึงมีการจับตาไปที่ทิศทางของ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกฯ ซึ่งรอบหน้า เสียงสภาสูงโดยเฉพาะบรรดา “ก๊วนนายพล” จะแตกออกเป็น 2 ขั้วตามไปด้วย
ไล่เช็กรายขั้ว พบว่า “ขั้ว ป.ป้อม” มีเหล่าคีย์แมนคนสำคัญ อยู่ที่กลุ่มเพื่อนนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 6 (ตท.6) โดยเฉพาะ “บิ๊กกี่” พล.อ.นพดล อินทปัญญา เพื่อนรักสุดเลิฟ ซึ่งถูกจับตาว่า เป็นมือประสานรอบทิศ และมีส่วนสำคัญในการเปิดดีลบรรดาขั้วการเมือง และพรรคการเมือง
ไม่เว้นแม้แต่ “ค่ายนายใหญ่ดูไบ” ซึ่ง “บิ๊กกี่” เคยมีสายสัมพันธ์อันดีกันมาตั้งแต่ยุครัฐบาลไทยรักไทย ยามนั้นอดีตนายทหารผู้นี้ ดำรงตำแหน่งนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำ รมว.กลาโหม (พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร) ขณะที่ “บิ๊กป้อม” เพื่อนรักเป็น ผบ.ทบ.ต่อจาก “ชัยสิทธิ์ ชินวัตร”
ในวันที่การเมืองเปลี่ยนขั้ว “เพื่อนรัก” ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามค่ายนายใหญ่ ว่ากันว่า บิ๊กกี่เองก็ไม่ได้ทิ้งความสัมพันธ์อันดีระหว่างพลพรรคไทยรักไทย ที่ต่อเนื่องมาจนถึงเพื่อไทย ณ ปัจจุบัน
ขณะที่ในส่วนของเพื่อนรัก “ก๊วน ตท.6” เหนือจากบิ๊กกี่ ยังมี “บิ๊กสร้าง” พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ “บิ๊กอู้ด” พล.อ.อู้ด เบื้องบน พล.อ.เลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์ พล.อ.ไพโรจน์ พานิชสมัย อดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นต้น
ยังไม่นับรวมกลุ่มน้องรัก โดยเฉพาะ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ น้องชายพล.อ.ประวิตร ซึ่งเป็นคีย์แมนคนสำคัญในสภาสูงมาตั้งแต่เป็น ส.ว.สรรหาชึดก่อนเหตุการณ์รัฐประหาร 2557
ขณะที่ ขั้ว ป.ประยุทธ์ หลักๆ อยู่ที่เพื่อนร่วมรุ่น “ตท.12” โดยเฉพาะ พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 “เสธแอ๊ด” พล.ต.กลชัย สุวรรณบูรณ์ อดีต ส.ว.ชุมพร หนึ่งใน “3 ทหารเสือ” เพื่อนประยุทธ์ ที่ยามนี้ยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ ในการรุกสนามเลือกตั้งภาคใต้ให้กับ “เพื่อนตู่” อีกทางหนึ่งด้วย
นอกจากนี้ ยังมี “บิ๊กเจี๊ยบ”พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ “บิ๊กตี๋” พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร “บิ๊กเจี๊ยบ” พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร อดีตรองนายกฯ “บิ๊กเยิ้ม” พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร “บิ๊กเต่า”พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ อดีต รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ
“บิ๊กฉัตร” พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ อดีตรองนายกฯ รมว.เกษตรและสหกรณ์ และอดีตรมว.พาณิชย์ ในยุครัฐบาล คสช.
พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ พล.อ.ศุภรัตน์ พัฒนาวิสุทธิ์ และพล.ท.อำพน ชูประทุม เป็นต้น
ยังไม่นับรวม“สายน้องรัก”อาทิ “บิ๊กติ๊ก” พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ พล.ต.ท.วิบูลย์ บางท่าไม้ อดีต ผบ.สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง คู่เขย พล.อ.ประยุทธ์ "เสธอ้น"พล.อ. กนิษฐ์ ชาญปรีชญาที่เป็นคีย์แมนคนสำคัญในสภาสูง
เมื่อ “พี่น้อง 2 ป.” แยกทาง ย่อมส่งผลให้ก๊วน ส.ว.ก็ถูกแบ่งเป็นสาย “ป.พี่-ป.น้อง”ตามไปด้วย
ถามความเห็น “บิ๊กสภาสูง” บางคน ยังออกมายอมรับแบบตรงๆ ว่า การเมืองรอบหน้าถึงคราวที่ ส.ว.ต้องเลือกว่าจะสนับสนุน ป.ไหน? ขณะที่เกมการเมืองอาจเกิดจุดเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ
หาก “2 ป.” ยังจับมือกันเหนียวแน่น โอกาสเปิดดีลตั้งรัฐบาล โดยใช้เสียง ส.ว.250เสียงสนับสนุนก็ยังมีอยู่พอสมควร ตรงกันข้าม หาก 2 ป.ต่างคนต่างเดินเกม อาจมีโอกาสพลิกไปเข้าทางคู่ต่อสู้ ในการชิงเกมตั้งรัฐบาลทันที
สอดคล้องกับกลเกมการเมือง ที่ยามนี้มีความพยายาม “เปิดเกมผสมโรง” ของบรรดาพรรคการเมืองในการปิดสวิตช์พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยการแยกเสียง ส.ว.ออกจากกัน ผ่านสูตรที่มีการโยนหินทั้ง “พลังประชารัฐ+ภูมิใจไทย+ประชาธิปัตย์+ พรรคเล็ก”
หรือแม้แต่สูตรสลับขั้ว ทั้ง “เพื่อไทย+พลังประชารัฐ” และอาจมีภูมิใจไทย รวมถึงพรรคเล็กรวมอยู่ในจำนวนนี้ หากเพื่อไทยได้เสียง ส.ส.ไม่ถึง 250 ที่นั่ง
ฉะนั้น ด้วยสารพัด“สูตรจับขั้ว-สลับขั้ว”ระหว่างพรรคเอ-พรรคบี หรือพรรคซี ที่ปรากฏออกมาเวลานี้ ยามนี้อาจถูกมองว่าเป็นเพียง “แผนลับ-ลวง-พราง” ทั้งเป้าจริงและเป้าหลอก
แต่ด้วยภายใต้บริบทการเมืองไทยที่ “ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร” สารพัดสูตรรัฐบาล ที่มีความพยายามโยนหินหยั่งกระแส ณ เวลานี้ บอกได้เลยว่า มีความเป็นไปได้แทบทุกสูตร ถึงเวลาจริงขึ้นอยู่กับว่า ฝ่ายไหนจะชิงเกมปิดจ๊อบได้ก่อนกันเท่านั้น!