การเมืองไทย เดอะมิวสิคัล “2 ลุง”ย้ำแบรนด์ แยกพรรค
การเมืองไทย เดอะมิวสิคัล ที่พรรคการเมืองมักใช้ “เพลงประจำพรรค” สื่อสารในรูปแบบที่เข้าถึงประชาชนได้ง่าย เพื่อสร้างภาพจำให้กับ “พรรค-ตัวบุคคล-นโยบาย” ถือเป็นการลงทุนน้อย แต่ได้ผลไม่น้อย
สีสันทางการเมืองที่มักมาพร้อมกับการเลือกตั้ง หนีไม่พ้น “เพลงประจำพรรค” ซึ่งบรรดาพรรคการเมืองใช้เพลงมาเป็นส่วนประกอบหนึ่งในการหาเสียง เนื่องจากเสียงเพลงสามารถสร้างภาพจำให้กับ “แฟนคลับ-ฐานเสียง” ได้เป็นอย่างดี
“เพลงประจำพรรค” ส่วนใหญ่จะมีเนื้อหาล้อไปกับนโยบายของพรรค เพื่อให้ประชาชนจำนโยบายจากเนื้อเพลง เพราะฟังง่ายและไม่ต้องอ่าน โดยเนื้อเพลงจะทำหน้าที่สรุปในความสำคัญในทุกนโยบาย
ขณะเดียวกันบางพรรคมีกลยุทธ์ให้ประชาชนรับรู้ชื่อของ “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” ซึ่งใช้เนื้อเพลงสร้างการรับรู้ได้เช่นกัน ซึ่งอาจจะได้ผลดีกว่าการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบอื่นเสียด้วยซ้ำ
โจทย์ใหญ่ของ “2 ป.” ในวันนี้คือการสร้างภาพจำใหม่ เมื่อ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โบกมือลาพรรคพลังประชารัฐ เข้าสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ แต่บรรดา “แฟนคลับ-ฐานเสียง” ยังติดภาพ “ลุงตู่” ยังอยู่พลังประชารัฐ
โดยเฉพาะฐานเสียงผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นแฟนคลับพันธ์ุแท้ แต่อาจจะไม่ได้ติดตามการเมืองอย่างใกล้ชิด อาจจะส่งผลต่อการกาบัตรในวันเข้าคูหาได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ซึ่ง “แกนนำ รทสช.” มีข้อมูลว่าประชาชนจำนวนไม่น้อย ยังไม่รู้ว่า “ประยุทธ์” ไม่ได้สังกัดพรรค พปชร.แล้ว หากไม่สร้างภาพจำเสียใหม่ อาจจะทำให้พรรค รทสช.เสียแต้มแบบไม่น่าเสีย
ทำให้ “ประยุทธ์-รทสช.” ต้องงัดทุกวิทยายุทธ ด้วยการสื่อสารให้ตรงจุด บอกผ่านเสียงเพลง “ลุงตู่ อยู่ไหน” พร้อมเผยแพร่เอ็มวี 2 เวอร์ชั่น เมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา มีท่อนฮุก เพื่อให้ติดหูุว่า “ลุงตู่ ลุงตู่อยู่ไหน อยู่ไม่ใกล้ ไม่ไกล อยู่รวมไทยสร้างชาติ” ขณะเดียวกันได้เพิ่มเติมด้วยการตอกย้ำเบอร์ 22 ลงไปในเนื้อเพลงด้วย เพื่อไม่ให้แฟนคลับหลงลืมไปกาเบอร์อื่น
สำหรับพรรคประจำพรรคของ รทสช. ชื่อเพลง “รวมไทยสร้างชาติ” พยายามดึงจุดแข็งของ “ประยุทธ์" มาเป็นจุดขาย ด้วยการสะท้อนให้เห็นความซื่อสัตย์สุจริต ความรักชาติ มุ่งสร้างความสามัคคีในประเทศ
ด้าน “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ไม่น้อยหน้า “ประยุทธ์” พยายามรีแบรนด์ตัวเองผ่านเพลงประจำพรรคเช่นกัน ก่อนหน้านี้ พปชร. เปิดตัวไปแล้ว 2 ซิงเกิล ประกอบด้วยเพลง "ก้าวข้ามความขัดแย้ง" และเพลง "ลุงป้อม 700" เนื้อเพลงพยายามสะท้อนภาพของ “ลุงป้อม” เป็นลุงใจดี ใจถึงพึ่งได้ ส่วนเพลง “ลุงป้อม 700” สื่อความหมายถึงนโยบาย เพิ่มเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 700 บาท
ทว่า ภาพจำของ “ประวิตร” ยังไม่ชัดเจนมากพอ แม้จะพยายามหามุมรีแบรนด์ในหลายรูปแบบ อาทิ ทรงอย่างแบด ลุงใจดี แต่ไม่สามารถกระตุ้นกระแสคน-กระแสพรรค ให้มาอยู่ในแดนบวกได้
คล้อยหลัง “ประยุทธ์” ปล่อยเอ็มวีเพียง 6 วัน “ประวิตร” จึงปล่อยซิงเกิลที่ 3 ออกมาในวันที่ 12 เม.ย. โดยร่วมแสดงเป็นพระเอกเอ็มวี ใส่สูทดำ มาดนักบริหารที่มีประสบการณ์ โดยมี “แกนนำพปชร.” ระดับรัฐมนตรี-บิ๊กเนม อยู่ร่วมในเอ็มวีด้วย
เนื้อเพลงอธิบายถึงนโยบายที่ตอกย้ำ “ใจบันดาลแรง” พร้อมชูนโยบายหลักๆ เนื้อหาท่อนหลัก ระบุว่า “พลังประชารัฐมาด้วยใจ จะมาสร้างไทย เพื่อให้ชีวิตพรุ่งนี้ได้เริ่มใหม่ พร้อมทุ่มเทหมดใจ ใจบันดาลแรง"
ยิ่งใกล้ทีเด็ดทีขาด “2 ป.”อยู่ในสถานการณ์ที่ต้องแสดงความชัดเจน เพื่อย้ำแบรนด์ตัวเอง แยกกันคนละพรรค เดินกันคนละทาง เพื่อให้รู้กันไปว่าพรรคพี่ พรรคน้อง ใครจะเหนือกว่ากัน
ด้าน พรรคเพื่อไทย มีเป้าหมายต้องชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ คาดหวังให้ได้ ส.ส. มากกว่า 251 ที่นั่ง เพื่อเพิ่มความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล ทีมงานของพรรคเพื่อไทย จึงแต่งเพลง “เพื่อไทยแลนด์สไลด์” ที่ฮิตติดหูแฟนคลับ ไม่ว่าเปิดที่เวทีไหน โดยเนื้อหาบางตอนระบุว่า “แลนด์สไลด์เพื่อไทยทุกที่ ชีวิตดี๊ดี เพื่อคนไทยทุกคน ประชาชนทุกคนทั่วไทย จงร้องก้องไปเพื่อไทยของเรา”
ขณะเดียวกันยังมีเพลง “คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน” สอดคล้องตามสโลแกนของพรรค ซึ่งล้อมาจากสโลแกนของอดีตพรรคไทยรักไทย “คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อไทยทุกคน”
พรรคประชาธิปัตย์ ออกสตาร์ทก่อนใคร ด้วยเพลง “เช้าวันใหม่” โดยมีอดีตนายกฯ ชวน หลีกภัย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และแกนนำพรรคร่วมแสดงในเอ็มวี โดยมี “เมธี ลาบานูน” ผู้สมัครฯ นักร้อง แต่งเองร้องเอง โดยเล่าเรื่องผ่านเอ็มวี ที่มี “ชวน” ลั่นกลองสะบัดชัย “จุรินทร์” ขี่ม้าขาว เพื่อสื่อสารถึงวันใหม่ของพรรค ปชป.
สำหรับทำนองและดนตรี เร้าใจคึกคัก หวังเจาะตลาดคนรุ่นใหม่ และเปรียบเหมือนเช้าวันใหม่สร้างความมั่นคง ทำได้ไว ทำได้จริง เนื้อเพลงบางตอนระบุว่า “ประชาธิปัตย์ยุคใหม่ มาชวนพี่น้องชาวไทย เริ่มเดินไป พร้อมกัน ..”
พรรคภูมิใจไทย มีมอตโต้ประจำพรรคคือ “พูดแล้วทำ” จึงนำไปสู่เพลง "พูดแล้วทำ" ซึ่งใช้เป็นเพลงประจำพรรค เพื่อสะท้อนถึงพรรคที่เป็นหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล แต่สามารถผลักดันนโยบายที่หาเสียงได้ อาทิ กัญชา การแก้ปัญหาโควิด-19
สำหรับเนื้อหาบางตอนของเพลง ระบุว่า “ภูมิใจไทย ภูมิใจที่ได้ทำ ดังคำพูดทุกคำ พูดแล้วก็ทำได้ พูดแล้วก็ทำ ทำแล้วก็ดี ดีแล้วก็ภูมิใจ พูดแล้วก็ทำ ทำแล้วก็ดี ดีแล้วก็ภูมิใจ ภูมิใจไทย ภูมิใจไทย”
พรรคก้าวไกล แทบจะเป็นพรรคการเมืองเดียวที่มีจุดยืนชัดเจนในเรื่องอุดมการณ์ จึงใช้ความชัดเจนนี้เป็นจุดแข็งและแต่งออกมาเป็นเพลง “เลือกก้าวไกล” โดยเนื้อเพลงย้ำถึงจุดยืนในการทำลายทุนผูกขาด
นอกจากนี้ เพลงยังมุ่งเน้นชักชวนให้สร้างประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง พร้อมชนกับต้นตอปัญหา รวมไปถึงการสร้างรัฐสวัสดิการ แก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นนโยบายหาเสียงของพรรค โดยเนื้อหาบางตอนระบุว่า “พรรคก้าวไกลคืออนาคตของเราทุกคน เพราะอำนาจต้องเป็นของประชาชน พร้อมสู้พร้อมชนกับต้นตอปัญหา”
พรรคไทยสร้างไทย เพลงของพรรคพยายามชู “คุณหญิงหน่อย” สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรค ที่เป็นแบรนด์ของพรรค พร้อมกับตอกย้ำถึงภารกิจสุดท้ายที่ต้องการจะสร้างพรรคให้เป็นสถาบันการเมือง โดยขอเป็นเพียงเสาเข็มและเป็นสะพานเพื่อเชื่อมคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาทำงานร่วมกันเพื่อสร้างประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังบอกถึงการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ การช่วยเหลือคนตัวเล็ก เพื่อสร้างโอกาสให้คนไทย โดยเนื้อหาบางตอนระบุว่า “หนึ่งพลัง หนึ่งแรงใจ มาร่วม ผลักดันประเทศไทย กำหนดอนาคต ให้ลูกหลานไทย มาร่วมไทยสร้างไทย”
สำหรับพรรคการเมืองอื่น แม้จะไม่มีการปล่อยเพลงหาเสียงของพรรคอย่างเป็นทางการ แต่ในหาเสียงระดับพื้นที่มักใช้ “เพลงแปลง” อาศัยทำนองจากเพลงดัง ก่อนจะแปลงเนื้อหาให้เข้ากับ “ผู้สมัคร-พื้นที่หาเสียง” เพื่อจูงใจให้ประชาชนได้ยินและรับฟังคีย์เวิร์ดที่ต้องการสื่อสาร
การเมืองไทย เดอะมิวสิคัล ที่พรรคการเมืองมักใช้ “เพลงประจำพรรค” สื่อสารในรูปแบบที่เข้าถึงประชาชนได้ง่าย เพื่อสร้างภาพจำให้กับ “พรรค-ตัวบุคคล-นโยบาย” ถือเป็นการลงทุนน้อย แต่ได้ผลไม่น้อย