การเมือง “2 ขั้ว” ปิดประตู “2 ป.”
โพลของแต่ละสำนัก ที่ออกมาตอนนี้ มีผลในทิศทางเดียวกันคือ "ขั้วประชาธิปไตย" มีคะแนนนะ "ขั้วสืบทอดอำนาจ" กลายเป็นเรื่องน่าวิตก หาก "2ป." ยังอยากต่อท่ออำนาจ เพื่อไม่ให้ถูกเช็คบิล
หลังจากผลสำรวจของหลาย “สำนักโพล” ต่อคะแนนนิยมของ “ผู้สมัคร ส.ส.-พรรคการเมือง-แคนดิเดตนายกฯ” ในศึกเลือกตั้ง 66 ออกมาในช่วง 25 วัน ก่อนการหย่อนบัตร เสมือนว่าสมรภูมิเลือกตั้งรอบนี้ มีผู้เล่นหลัก อยู่แค่ 3 พรรค 4 แคนดิเดตนายกฯ คือ พรรคเพื่อไทย แพทองธาร ชินวัตร และเศรษฐา ทวีสิน พรรคก้าวไกล พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรครวมไทยสร้างชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ส่วนพรรคการเมืองอื่นๆ แทบกลายเป็นตัวประกอบ ไม่ติด Top 3 ทั้ง พรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พรรคภูมิใจไทย อนุทิน ชาญวีรกูล พรรคประชาธิปัตย์ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์
สะท้อนให้เห็นว่า พรรคที่เป็นฝั่งประชาธิปไตย มีสัดส่วนความนิยมที่สูงกว่าขั้วอำนาจเก่า ที่ถูกเรียกว่า “ฝ่ายสืบทอดอำนาจ” ซึ่ง “ภูมิธรรม เวชยชัย” แกนนำพรรคเพื่อไทย ยิ้มรับกับผลสำรวจที่เกิดขึ้น
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ก้าวไกล” คือ คู่แข่งที่น่ากลัว ทั้งในมุมของการสร้างกระแสพรรค และตัวผู้สมัคร ส.ส. ในพื้นที่เขตหัวเมือง
ดังนั้นความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่กองอำนวยการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยต้องทำหลังจากนี้ คือการตอกย้ำกระแสเพื่อไทยแลนด์สไลด์ให้เข้มแข็งในทุกภูมิภาค
ในมุมของผลสำรวจว่าฝ่ายใดจะชนะเลือกตั้ง ที่ผลโพลย้ำให้เห็นว่าฝั่งที่เรียกตัวเองว่า “ฝั่งประชาธิปไตย” มีความได้เปรียบ สะท้อนให้เห็นความถดถอยของ “ฝ่ายสืบทอดอำนาจ” และอาจเป็นเวลาที่ “3 ป.” ควรหาทางลงจากหลังเสืออย่างไร โดยไม่ถูกเช็กบิล
ทว่าในมุมวิเคราะห์ของนักวิชาการ “อ.สติธร ธนานิธิโชติ" ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตยสถาบันพระปกเกล้า มองว่า ยังเร็วไปที่ 3 ป. จะถอดใจอำนาจ แค่ผลโพลก่อนวันเลือกตั้ง เพราะผลโพลที่ออกจากนั้น ไม่ได้แปลว่าฝั่ง 3 ป.จะไม่มีที่ยืน เพราะบางพื้นที่ “พรรคของ 3 ป.”ยังชนะขาด
สำหรับผลโพลที่ออกมากแน่นอนว่าคือ สะท้อนการเมืองที่ถูกแบ่งเป็น 2 ขั้วชัดเจน “อ.สติธร” ขยายความไว้ด้วยว่า หากประเมินขั้วประชาธิปไตย มีเปอร์เซ็นต์อยู่ที่ 60% ขณะที่อีกฝั่งมี 40% ดังนั้นหากแปรเป็นตัวเลข ส.ส. ยังไม่ทิ้งห่างกัน คิดเป็น 280-290 เสียง ต่อ 220-210 เสียง
นอกจากนั้น ในขั้ว 3 ป. ยังมี “250 ส.ว.” ในสมการตั้งรัฐบาล ตามกติกาของรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล ทั้งนี้ในกติกาเลือกนายกฯ ไม่ถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขด้านเวลา ว่าต้องเลือกนายกฯ ให้ได้ในระยะเวลาเท่านั้น จึงเป็น “โอกาส”ปลายเปิดที่จะทำให้เกิดการต่อรองผสมขั้วการเมืองหลังเลือกตั้ง เพราะคุณธรรมของนักการเมืองหลังเลือกตั้ง เชื่อถือได้น้อย
“ประวัติศาสตร์การเมืองไทยเคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งการเสียสัตย์เพื่อชาติ หรือตั้งรัฐบาลเพื่อชาติ โดย ส.ว.250 คน คือตัวล็อคคนที่จะเป็นนายกฯ ไว้ก่อน เพื่อให้ต่อรองรวมขั้วตั้งรัฐบาล แต่หากจะปิดประตูนักการเมืองไม่ให้ฝืนมติของประชาชนตอนเลือกตั้ง ต้องรวมเสียงข้างมากให้ได้ 350 เสียง ดังนั้นการเลือกตั้งปี 2566 ผมขอนิยามว่า คือการเลือกตั้งที่ไม่แน่นอน อะไรก็เกิดขึ้นได้ แต่หาก 3 ป.จะไม่รอด ผมยังมองว่ามีแค่ 1 ป.ที่รอด คือ ป.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เพราะพรรคพลังประชารัฐ อยู่ในทุกสมการของสูตรตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง” อ.สติธร วิเคราะห์
แม้ว่า หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย แพทองธาร จะประกาศยี่ห้อ “ชินวัตร” ไม่จับมือกับคนที่มีส่วนร่วมกับการรัฐประหาร ทว่า อ.สติธร ประเมินเป็นแค่กลยุทธ์ ที่จะชิงกระแสจาก “ก้าวไกล” เพราะในหลายพื้นที่ คนเลือกตั้งที่อยู่ในฝั่งประชาธิปไตย ยังลังเลระหว่างจะเลือกพรรคเพื่อไทยหรือพรรคก้าวไกล
ทำให้พรรคเพื่อไทยต้องใช้กลยุทธ์ที่เกาะกระแส แต่ไม่ใช่การปิดประตูไม่จับมือกับพรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประวิตร เพราะในสมการตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยในทุกสูตรจะขาดพรรคพลังประชารัฐไม่ได้ หากต้องการเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลในสมการ 376 เสียง
สนามเลือกตั้ง ยังมีเวลาเหลือ 25 วัน ที่ทุกพรรคจะแข่งขันชิงคะแนนเลือกตั้ง ที่จะเป็นฐานสำคัญในการขึ้นสู่บัลลังก์อำนาจ-ผู้นำประเทศ จากผลสำรวจต้องยอมรับ “ฝั่งประชาธิปไตย” มีคะแนนนำ แต่ “ยี่ห้อ 3 ป.-ขั้วรัฐบาลเดิม” คงไม่ยอมให้ตัวเองเสียเปรียบ
ดังนั้นช่วงโค้งสุดท้าย หรือ 3 วันก่อนวันหย่อนบัตร คงจะได้เห็น “กลยุทธ์กระสุนดินดำ-พลังอำนาจที่สะสม” ซึ่งรอจังหวะปล่อย เพื่อเรียกกระแส-เปลี่ยนทิศทาง-พลิกผลโพล
อย่างน้อย ต้องไม่ปล่อยให้ตัวเองแพ้ย่อยยับ และถูกตามเช็กบิลหลังเลือกตั้ง