ระบบไทยซับซ้อน-ต้นตอเกิดจากนายจ้าง! ป.ป.ช.เร่งสางปม “แรงงานข้ามชาติ”
ป.ป.ช.ภาค 5 จับมือภาคประชาชน บูรณาการหน่วยงานเกี่ยวข้อง เร่งสางปัญหาทุจริต “แรงงานข้ามชาติ” ชี้ต้นตอเกิดจากนายจ้างยังจ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ชี้ระบบภาครัฐไทยซับซ้อน ขั้นตอนยุ่งยาก ค่าใช้จ่ายสูง จนท.รัฐใช้ดุลพินิจมาก
เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2566 ที่ผ่านมา นายสุชาติ กรวยกิตานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ภาค 5 พร้อมด้วย นายเนติพล ชุมยวง ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเชียงราย ผู้แทนสำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม สำนักงาน ป.ป.ช. และชมรม STRONG จังหวัดเชียงราย ร่วมประชุมหารือและลงพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตเกี่ยวกับการตรวจคนเข้าเมืองและการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว โดยในช่วงเช้าคณะได้ลงพื้นที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านแรงงาน สาธารณสุข และความมั่นคง จังหวัดเชียงราย สำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงราย
ต่อมาช่วงบ่ายได้ร่วมประชุมเพื่อสรุปปัญหาจากการศึกษาร่างมาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติและรับฟังข้อเสนอแนะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเชียงราย หน่วยเฉพาะกิจทัพเจ้าตาก กองกำลังผาเมือง จัดหางานจังหวัดเชียงราย อำเภอแม่สาย ตำรวจภูธรแม่สาย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สาย ณ ห้องประชุมด่านศุลกากรแม่สาย (จุดผ่านแดนถาวรสะพานข้ามแม่สาย แห่งที่ 2) อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยเป็นการประชุมหารือภายใต้โครงการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย ด้วยกลไกสหยุทธ์ (The STRONG Together against Corruption (TaC Team) to enhance Corruption Perceptions Index : CPI) ซึ่งคณะรัฐมนตรีในการประชุม เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 มีมติรับทราบข้อเสนอแนะเพื่อยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ระยะที่ 3 ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ
ผลจากการประชุม พบว่าปัญหาการทุจริตเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติเกิดจากนายจ้างคนไทยยังจ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย โดยมีขบวนการลักลอบพาแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศ ทั้งนี้ ระบบการบริหารจัดการภาครัฐของไทยยังมีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน มีค่าใช้จ่ายสูง และมีการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐค่อนข้างมาก ทำให้เกิดปัญหาการทุจริต การเรียกรับหรือติดสินบนเจ้าหน้าที่ ในภาพรวมปัญหาดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อสังคมด้านสาธารณสุข
โดยพบว่าในปี 2564 โรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศต้องแบกรับค่าใช้จ่าย ค่ารักษาพยาบาลแรงงานต่างด้าวกว่า 7,000 ล้านบาท ทั้งนี้ สภาพปัญหาแรงงานต่างด้าวยังคงเป็นบริบทเดิม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้อง บูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ รวมถึงนโยบายภาครัฐที่ชัดเจนเพราะประเทศไทยยังต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป