‘ถอดบทเรียนเวียดนาม’ การเมืองนิ่ง เศรษฐกิจรุ่ง
เวียดนามมีการปกครองในระบบพรรคเดียว แต่เป็นการเมืองที่ไปตามระบบ คาดหมายได้ตามกติกา เขียนไว้อย่างไรก็ทำไปอย่างนั้น บอกว่าเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ก็ทำตามกติกาคอมมิวนิสต์ และมีศักยภาพเติบโตทางเศรษฐกิจอีกมาก เข้าไปลงทุนทำอะไรในเวียดนามตอนนี้มีแต่ได้กับได้
ถ้าจะพูดถึงเพื่อนบ้านอาเซียนในฝั่งอินโดจีนเวียดนามถือว่ามีพัฒนาการมากที่สุด การเขียนถึงเวียดนามในวันนี้นับเป็นเวลาอันเหมาะสม ใกล้ถึงวันครบรอบ “ไซ่ง่อนแตก” 30 เม.ย.2518 ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์เวียดนามยุคใหม่ เมื่อแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติเวียดนามใต้หรือเวียดกงเข้ายึดกรุงไซ่ง่อนของเวียดนามใต้ สหรัฐผู้สนับสนุนแตกกระเจิงกลับประเทศ นำไปสู่การรวมชาติในนาม “สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม” ในวันที่ 2 ก.ค.2519
ช่วงรวมชาติได้ใหม่ๆ เวียดนามยังเป็นประเทศยากจนเพราะเพิ่งผ่านศึกสงคราม จากการที่เวียดนามมีสหภาพโซเวียตเป็นลูกพี่ใหญ่ แน่นอนว่าต้องเป็นศัตรูกับสหรัฐ (ก็เพิ่งไล่เขากลับประเทศไปหมาดๆ) ส่วนจีนที่เป็นเพื่อนบ้านก็ไม่ได้ญาติดีกัน กับเพื่อนบ้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมองหน้ากันได้ไม่สนิทนัก ตอนตั้งสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ก็เคยถูกเวียดนามวิจารณ์
แต่สถานการณ์เปลี่ยนเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามตัดสินใจปฏิรูปประเทศใช้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมแบบตลาดทีละน้อยๆ ปี 2530 เวียดนามออกกฎหมายว่าด้วยกฎหมายการลงทุนของต่างชาติ ความเปลี่ยนแปลงในทางบวกค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างที่เราเห็นในวันนี้ นักลงทุนต่างชาติแห่เข้าไปลงทุนในเวียดนาม ที่น่าสนใจคือธุรกิจค้าปลีกเพราะเป็นตัวชี้วัดว่าไลฟ์สไตล์คนเวียดนามเปลี่ยนไป ชนชั้นกลางเติบโตขึ้น รายได้มากขึ้น พร้อมจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการเพื่อความสะดวกสบายในชีวิตไปจนถึงเพิ่มความหรูหรา นอกจากนี้เวียดนามยังเป็นประเทศที่ประชากรหนุ่มสาวมาก พวกเขาสนใจในเทคโนโลยี ยังไม่เข้าสู่สังคมสูงวัยเหมือนไทย โอกาสที่เศรษฐกิจเติบโตจึงมีอีกมาก เรียกได้ว่า เข้าไปลงทุนทำอะไรในเวียดนามตอนนี้มีแต่ได้กับได้
ในแง่การเมืองระหว่างประเทศหลายสิบปีผ่านไปศัตรูกลายเป็นมิตร ถ้าจำกันได้ปลายสมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามา เคยมาเยือนเวียดนาม ควงเชฟดังนั่งร้านบะหมี่หมูย่างในกรุงฮานอยแบบชิลๆ ไม่กี่วันก่อนแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ จะไปประชุม รมต.ต่างประเทศจี7 ที่โตเกียวก็เลยแวะเวียดนามสักหน่อย เพื่อปูทางสู่การยกระดับทางการทูตสู่การเป็น ‘หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์’ สหรัฐกับเวียดนามตอนนี้มีศัตรูร่วมกันคือจีน แต่เวียดนามเองก็ไม่ได้บุ่มบ่าม เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่
สิ่งที่เวียดนามกับจีนมีเหมือนกันคือปกครองในระบบพรรคเดียวคือพรรคคอมมิวนิสต์ ด้วยเหตุนี้คนไทยหลายคนที่พูดถึงความสำเร็จของประเทศแบบนี้มักยกย่องว่าเป็นเพราะ “การเมืองนิ่ง” แล้วก็โยงเข้าสู่การเมืองไทยหาว่า แตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายจนบ้านเมืองไม่สงบ ในโอกาสที่ไทยกำลังจะมีการเลือกตั้ง ประชาชนเองก็ตื่นเต้นที่จะได้ใช้สิทธิใช้เสียงเลือก “คนที่รัก พรรคที่ชอบ” เข้ามาดูแลชีวิตของพวกเขา
การเมืองนิ่งไม่ใช่ไม่มีความเห็นต่าง แต่เป็นการเมืองที่ไปตามระบบ คาดหมายได้ตามกติกา เขียนไว้อย่างไรก็ทำไปอย่างนั้น บอกว่าเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ก็ทำตามกติกาคอมมิวนิสต์ ใครวิจารณ์พรรคก็โดนเล่นงานกันไป เทียบกับประเทศ “หัวมังกุ ท้ายมังกร” บอกว่าเป็นประเทศประชาธิปไตย แต่แอบใช้ช่องว่างช่องโหว่ ใช้อภินิหารทางกฎหมายทำลายคู่แข่ง ใช้กติกาหมกเม็ดพรรคที่ชนะเลือกตั้งไม่ได้เป็นรัฐบาล ไม่เคารพการตัดสินใจของประชาชน ผลพวงจากการเมืองแบบนี้ ไม่ใช่แค่ความ “นิ่ง” แต่เศรษฐกิจอาจ “แน่นิ่ง" ตามไปด้วย