เปิดโหวต ถามประชาชน ส.ว. เลือกนายกฯ เห็นด้วยหรือไม่

เปิดโหวต ถามประชาชน ส.ว. เลือกนายกฯ เห็นด้วยหรือไม่

นักวิชาการ ชวนร่วมโหวต “เห็นด้วยหรือไม่ ที่จะให้ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ตามเสียงข้างมากของ ส.ส.” เริ่มเที่ยงวัน 15 พ.ค. นี้ หวังส่งเสียงถึงผู้มีอำนาจ อย่าฝืนมติประชาช


ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีนักวิชาการ ประกอบด้วย นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) นายโอฬาร ถิ่นบางเตียว มหาวิทยาลัยบูรพา นายวันวิชิต บุญโปร่ง มหาวิทยาลัยรังสิต และ นายธนพร ศรียากูล นายกสมาคมรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับเครือข่ายสื่อ 9 สำนัก ร่วมกันแถลงข่าวเปิดโหวตเสียงประชาชน “ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ที่จะให้สมาชิกวุฒิสภาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ตามเสียงข้างมากของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร”

โดยนายปริญญา บอกว่า ขอเชิญชวนประชาชนให้โหวตออนไลน์ โดยใช้โทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ ด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ด ทั้งนี้ จะเริ่มเปิดโหวตหลังการเลือกตั้งหนึ่งวันคือ วันที่ 15 พฤษภาคม ตั้งแต่ 12.00 น. จนถึง 12:00 น. ของวันที่ 18 พฤษภาคม เป็นเวลา 3 วัน แล้วจะแถลงผลโหวตในเวลา 13:30 น. ของวันที่ 18 พฤษภาคม ที่คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

นายพิชาย ระบุว่า ใกล้ถึงเวลาที่จะได้แสดงสิทธิของประชาชนผ่านการลงคะแนนเลือกตั้ง เพื่อกำหนดชะตากรรมของประเทศ โดยปราศจากการแทรกแซง จึงจัดเวทีนี้มาเพื่อสอบถามประชาชนอีกครั้ง ว่าต้องการจะแสดงเจตนารมณ์ของตนเองอย่างหนักแน่นเช่นเดิมหรือไม่ โดยไม่ให้มีองค์กรที่ไม่ได้มาจากประชาชน บิดเบือนหรือแบ่งปันอำนาจได้อีกต่อไป อีกปัจจัยหนึ่งที่อาจบิดเบือนเสียงของประชาชนได้ คือการทำงานของ กกต. ซึ่งผ่านการคัดเลือกโดย ส.ว.ชุดปัจจุบัน ที่มาจากการเลือกของคณะรัฐประหารด้วย และเมื่อคณะรัฐประหารมาตั้งพรรคการเมืองเอง ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าจะมีอิทธิพลเหนือ กกต. หรือไม่ การเลือกตั้งล่วงหน้าที่ผ่านมา ก็มีเหตุหลายอย่างยืนยันว่า อาจมีแนวโน้มว่าการทำงานของ กกต. อาจถูกเบี่ยงเบนไป

"ในเวลาที่เหลืออยู่ อยากเห็น กกต. เปลี่ยนวิธีคิดและแนวปฏิบัติ สลัดตนเองให้หลุดจากบ่วงของผู้ที่แต่งตั้งมา บุญคุณอะไรต่างๆ ให้มันจบไป ถ้าจะมี ปลดปล่อยตนเองให้เป็นอิสระจากพันธนาการของระบบบุญคุณที่ไร้ความชอบธรรม และกลับมาสู่หลักการที่ถูกต้องในหลักประชาธิปไตย"


ด้าน นายธนพร บอกว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีความพีค และต่อสู้แข่งขันกันอย่างเข้มข้นที่สุด ตั้งแต่หลังปี 2475 เป็นต้นมา เชื่อว่าแม้จะปิดหีบเลือกตั้งไปแล้ว ความสนใจในการเลือกตั้งของประชาชนก็ยังไม่ลดลง เพราะการต่อสู้ยังดำเนินไปภายใต้กฎกติกาที่อาจจะเอื้อประโยชน์ให้บางฝ่ายการเมือง โดยสถานการณ์ต่อสู้ในเขตเลือกตั้งรุนแรง เป็นเสมือนการยิงปูพรมในหลายพื้นที่มากกว่า 1 รอบ ซึ่งเกินกว่าที่ผ่านมาในปกติ ขนาดกระสุนคงไม่ใช่ .22 แต่เป็นจรวด Harpoon ที่ยิงข้ามทวีปและล็อกเป้าได้ เป็นปัจจัยให้คู่ต่อสู้ทั้ง 2 ฝ่าย ไม่มีใครกล้าบอกว่าจะชนะแน่ๆ นอกจากนี้ การแจกกล้วยหรือสินบนอาจจะเกิดขึ้นทั้ง 2 ฝ่าย ภายหลังการเลือกตั้ง พร้อมย้ำว่าอย่าคิดว่า ส.ว.จะไม่รับกล้วยด้วยเหมือนกัน เพราะเป็นปัจจัยในการช่วยเลือกนายกรัฐมนตรี แม้ได้เสียง ส.ส.ไม่ถึง 375 เสียง ดังนั้น เพื่อหยุดยั้งการเมืองแบบแจกกล้วย เราควรต้องส่งเสริมกติกาที่เป็นธรรมและถูกต้อง โดยเฉพาะบทบาทของผู้คุมกติกาที่ทำหน้าที่ได้ดี จึงจะไม่เกิดการใช้วิธีแจกกล้วยดังกล่าว

นายโอฬาร ชี้ว่า เป้าหมายของการโหวตครั้งนี้ คือต้องการส่งเสียงถึงทั้งประชาชน และ ส.ว. ให้เคารพเสียงของประชาชน การเลือกตั้งครั้งนี้มีความตื่นตัวมากสุดครั้งหนึ่งประวัติศาสตร์ มีความหมายและจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ประเทศ แต่ก็ยังมีความกังวลกับท่าทีที่ไม่เป็นมิตรต่อการเลือกตั้งและต่อพรรคการเมือง อาจเป็นการทำลายความฝันของคนทั้งสังคม

"มีสัญญาณนรก หรือสัญญาอำมหิต บางอย่างจากผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ที่ไม่สมควรทำ แต่สามารถทำได้ ยิ่งทำให้ประชาชนรู้สึกไม่มั่นใจ ในเมื่อกลไกของคณะรัฐประหารกลายเป็นตัวแสดงหนึ่งของการเมือง และต้องการจะสืบทอดอำนาจต่อในระบบประชาธิปไตย ทำให้คนจำนวนมากคาดหวังว่าจะมีผลต่อกลุ่มคนที่จะเลือกนายกฯ ได้ โดยไม่ต้องฟังเสียงประชาชน"

ส่วนที่ ส.ว.จะเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ  เร็วๆนี้ นายโอฬาร เสนอว่า อาจจะเพิ่มเรื่องนี้เป็นวาระจร เพื่อกำหนดท่าทีที่ชัดเจนต่อสังคม ว่า ส.ว.จะเคารพในเจตนารมณ์ของประชาชน เป็นสัญญาประชาคม เพื่อคลายความกังวล ช่วยยืนยันแสงสว่างในระบอบประชาธิปไตยเพื่อสร้างอนาคตร่วมกันของคนทั้งประเทศ