"ปณิธาน" ชี้ "ตั้งรัฐบาลใหม่" ช้า ยิ่งหนุน "การเมืองร้อนแรง-เกิดม็อบ"

"ปณิธาน" ชี้ "ตั้งรัฐบาลใหม่" ช้า ยิ่งหนุน "การเมืองร้อนแรง-เกิดม็อบ"

"ปณิธาน" ชี้สถานการณ์ตั้งรัฐบาล เอื้อให้การเมืองร้อนแรง ประเมินอาจเกิดม็อบ ระบุ "รัฐบาลใหม่" ต้องพร้อมรับความท้าทาย ประเมิน "รัฐประหาร" ไม่เกิด เพราะปัจจัยไม่เอื้อ

นายปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง นักวิชาการอิสระ หัวหน้าโครงการวิจัยของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยผ่าน เนชั่น ออนไลน์ กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตั้งเรื่องไต่สวน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นบุคคลมีลักษณะต้องห้าม มิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ตามมาตรา 151 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าจะเป็นชนวนทำให้เกิดม็อบ ว่า  ในส่วนของพื้นที่กทม.ต้องบริหารการจัดการชุมนุมทางการเมืองให้ดี เมื่อการเมืองเปิดกว้าง เรื่องเห็นต่างก็จะตามมาพร้อมกับการเคลื่อนไหว  สำหรับการบังคับใช้กฎหมายการชุมนุมในที่สาธารณะที่เข้มข้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความร้อนแรงของการเมือง

 

 

นายปณิธาน กล่าวโดยยกตัวอย่างว่า  หากการเมืองในสภาหาทางออกไม่ได้ หรือว่าตกลงกันไม่ได้ ความร้อนแรงจากภายนอกจะเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุปัจจัยจากการสื่อสารสมัยใหม่ ซึ่งสามารถทำได้ชั่วข้ามคืนเพื่อเตรียมให้คนมีความพร้อม แม้ส่วนใหญ่จะห่างเหินการชุมนุมไปหลายปี แต่ด้วยประสบการณ์ที่เคยผ่านมาจึงทำให้ง่ายต่อการตัดสินใจด้วย 

"อาจเกิดแฟลชม็อบในที่สุด รวมถึงการชุมนุมที่ซับซ้อนมากขึ้น ในหลากหลายรูปแบบ เช่น ม็อบดาวกระจาย อาจจะมีเฟคนิวส์ผสมเข้าไปด้วย จึงอาจจะต้องแก้ พ.ร.บ.การชุมนุม ปี 2558 ให้ชัดเจนว่าการชุมนุมทางไซเบอร์ หรือเชิญชวนชุมนุมผ่านออนไลน์ถ้ากระทบความมั่นคงจะทำอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายรัฐบาลใหม่" นายปณิธาน กล่าว 

\"ปณิธาน\" ชี้ \"ตั้งรัฐบาลใหม่\" ช้า ยิ่งหนุน \"การเมืองร้อนแรง-เกิดม็อบ\"

นายปณิธาน ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า คนในรัฐบาลใหม่โดยฉพาะบางพรรคพรรคการเมืองอาจจะคุ้นเคยอยู่แล้ว แต่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะว่าในสภาถูกกำหนดด้วยกรอบของพรรค และ ส.ส. ในรูปแบบลักษณะการอภิปราย ฉะนั้นจะไม่ตอบโจทย์หลายอย่างนอกสภา หากต้องการสื่อสารนอกสภาโดยมีขณะทำงานไร้รอยต่อนอกสภาด้วยก็อาจจะดี ถ้าจะไปไร้รอยต่อในรัฐบาลอาจจะไม่จำเป็น เพราะการเปลี่ยนผ่านอำนาจต่าง ๆ ดูราบรื่นดีพอสมควร ถือเป็นความสำเร็จหลังการเลือกตั้ง

นายปณิธาน กล่าวด้วยว่า แต่พอทำงานจริงแล้วจะนำผลงานไปสู่สาธารณะให้กับคนที่ไม่ได้เลือก เพื่อให้พยายามทำความเข้าใจ ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการชุมนุม การประท้วง การกดดัน แม้จะเปิดให้ทำได้ตามพ.ร.บ. การชุมนุม แต่ก็จะเกิดความยุ่งยากตามมาอยู่ดี แต่ก็เลี่ยงไม่ได้เพราะเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย หรือเรียกว่าเป็นอีกด้านของเหรียญเดียวกัน
 
"ตีความคือ เมื่อเป็นรัฐบาลก็ต้องฟังเสียงของอีกฝ่าย แม้จะเป็นเสียงส่วนน้อยในสภาเข้าไปชุมนุมบนท้องถนน ก็ต้องฟังเสียงของเขาอยู่ดี ถ้าทำได้ในจุดนี้เชื่อว่าปัญหาอุณหภูมิทางการเมืองจะเบาลงตามไปด้วย แต่ส่วนตัวมองว่าบรรยากาศยังน่าเป็นห่วงนิดหน่อย โดยโอกาสการแลกเปลี่ยนพูดคุยทางการเมืองในขณะนี้ยังน้อยไประหว่างพวกเดียวกันเองด้วยซ้ำ" นายปณิธาน กล่าว



เมื่อถามถึงกรณีการทำรัฐประหาร นายปณิธาน กล่าวว่าส่วนตัวมองว่าตอนนี้โครงสร้างทางการเมืองไม่เอื้อให้ทำ  แม้จะมีศักยภาพอยู่บ้าง แต่ความพร้อมหรือเงื่อนไขทางการเมืองยังไม่เอื้ออำนวย  ตนหวังว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนั้น

 

"ผมไม่เคยเห็นด้วยกับการทำรัฐประหารและไม่ควรเกิดขึ้น แต่ว่าหากมีการทำรัฐประหารจริง ปัญหาต่อมาคือเราจะเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาอย่างไร ก็ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพื่อให้ทำบ้านเมืองกลับมาสงบสุขแล้วเลือกตั้งใหม่ได้ จึงต้องแยกสองส่วนนี้ออกจากกัน เพราะไม่เกี่ยวข้องกัน อาจจะแค่ยึดโยงกันบ้างแต่ถือว่าไม่ทั้งหมด" นายปณิธาน กล่าวทิ้งท้าย.