ผ่า‘เกมลับ’โหวตประธานสภา 4ก.ค. จุดพลิกการเมือง
"ศึกชิงบัลลังก์" ประธานสภา ยังไม่ใช้บทสรุป แต่คือจุดเริ่มต้นของ"ฉากทัศน์การเมือง"ถัดไป โดยเฉพาะการ "โหวตเลือกนายกฯ" คนที่30 ที่อาจเห็นจุดเปลี่ยนสำคัญ
การประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดที่26 นัดแรก ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า ต้องจับตาไปที่ “วาระร้อน” ที่ถูกจับจ้องอยู่ในขณะนี้ นั่นคือศึกชิงตำแหน่ง “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ซึ่งจะทำหน้าประมุขฝ่ายนิติบัญญัติคนที่32 ว่าที่สุดแล้วจะเป็นผู้ใด
ตามขั้นตอนหลังจากที่ส.ส.ทั้ง 499 คน (ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พ้นตำแหน่งรอเลื่อนลำดับถัดไป) กล่าวคำปฏิญาณตนต่อที่ประชุม ตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 115 แล้ว
เลขาธิการจะเชิญสมาชิกผู้มีอายุสูงสุด นั่นคือ พล.ต.ต.วิโรจน์ เปาอินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยเป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุม เพื่อให้ที่ประชุมดำเนินการเลือกประธานสภาและรองประธานสภา
ซึ่งต้องจับตาไปที่ “เกมซ่อนกล”ที่จะเกิดขึ้นในวันเลือกประมุขนิติบัญญัติ พลิกข้อบังคับประชุมสภาฯ จะพบว่า “ด่านแรก” คือ การ “เสนอชื่อบุคคล” เพื่อชิงตำแหน่งตามข้อบังคับข้อ6 ระบุว่าการเลือกประธานสภาสมาชิกแต่ละคนมีสิทธิเสนอชื่อสมาชิกได้หนึ่งชื่อ การเสนอนั้นต้องมีจำนวนสมาชิกรับรอง“ไม่น้อยกว่า20คน”
หมายความว่า “ทุกพรรค” มีสิทธิเสนอชื่อได้ ขอเพียงมีเสียงส.ส.ยกมือรับรอง20เสียง แต่ทั้งนี้ตามธรรมเนียมที่เคยเป็นมาในอดีตและเพื่อความสง่างามและเพื่อรักษาภาพของความเป็นกลางในการทำหน้าที่ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ส.ส.จะไม่เสนอชื่อคนจากพรรคเดียวกันไปชิงตำแหน่งประธานสภา
ย้อนกลับไปในการเลือกประธานสภาครั้งล่าสุด เมื่อ ปี2562ครั้งนั้น “ณัฐพล ทีปสุวรรณ”ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นผู้เสนอชื่อ“ชวน หลีกภัย” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์
ขณะที่อีกฝั่ง“ซูการ์โน มะทา”ส.ส.ยะลา พรรคประชาชาติ เป็นผู้เสนอชื่อ“สมพงษ์อมรวิวัฒน์” ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ชิงตำแหน่งประธาน ก่อนที่“ชวน”จะได้รับเสียงเห็นชอบในท้ายที่สุด
เช่นเดียวกับตำแหน่งรองประธานอีก2คน ที่ใช้วิธีเสนอชื่อแบบเดียวกันทุกประการ
ฉะนั้นต้องจับตากระบวนการเสนอชื่อในวันที่4ก.ค.นี้ เพราะอย่างที่รู้กันว่า จนถึงเวลานี้ “พรรคก้าวไกล” และ “พรรคเพื่อไทย” ยังไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันเกี่ยวกับตัวประธานสภา ตอกย้ำชัดจากท่าทีทีมเจรจาของทั้ง2พรรคที่เจอ “โรคเลื่อน” ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ฝั่ง “พรรคก้าวไกล” ชิงเกมหักดิบด้วยการประกาศชื่อ “หมออ๋อง” ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก ชิงตำแหน่งดังกล่าว ตอกย้ำด้วยภาพการลงพื้นที่ของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ที่ควงคู่ หมออ๋อง เยือนบ้านเกิดประกาศ "เป็นประธานสภาของทุกคน"
ขณะที่ “พรรคเพื่อไทย” ที่แม้ก่อนหน้าจะปรากฎภาพตัวระหว่าง “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบคัวและแคนดิเดตนายกฯพรรคเพื่อไทย หารือร่วมกับแกนนำพรรคก้าวไกล ก่อนมีการปล่อยข่าวทำนอง เพื่อไทย “ยอมถอย” ชิงตำแหน่งดังกล่าว
ทว่าจนถึงเวลานี้แรงกระเพื่อมระหว่าง2พรรคยังเกิดขึ้นแบบไม่หยุดย่อน ลามไปถึงกระแสการเปิด “เกมฮั้ว” ข้ามขั้วในศึกการเลือประธานวันที่4ก.ค.
“วงในรัฐสภา”กระซิบมาว่า นอกเหนือจากพรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกพุ่งเป้าไปที่การเสนอชื่อประธานสภาตาม “สูตรปรองดอง” แล้ว ขอให้จับตา “พรรคขนาดจิ๋ว” ซึ่งอยู่ภายในการคอนโทรลของ “ซุ้มการเมือง” บางซุ้มไว้ให้ดี เพราะอาจจะเป็นหมากอีกหนึ่งตัว ที่ถูกใช้ในการสกัดขัดขวาง “พรรคก้าวไกล” ในการชิงตำแหน่งดังกล่าวแบบสะดวกโยธิน
ฉะนั้นการไร้ซึ่งข้อยุติของทั้ง2พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ณ เวลานี้ด้วยแล้ว การที่พรรคก้าวไกลจะหวังลอยลำเสนอแบบม้วนเดียวจบโดยไร้คู่แข่งโอกาสเป็นไปได้จึงแทบไม่มี หากเป็นเช่นนี้ตามข้อบังคับระบุว่า หากมีการเสนอหลายชื่อ ให้ออกกเสียงลงคะแนน “เป็นการลับ” ซึ่งจะเป็นเสมือน “เกมซ่อนกล” ในด่านที่2
โดยในขั้นตอนออกเสียงลงคะแนนลับ ตามข้อบังคับกำหนดให้ใช้วิธีลงคะแนนในคูหา และตั้งกรรมการ จำนวน 6 คน เพื่อแจกบัตรและควบคุมการหย่อนบัตรลงคะแนน และตรวจนับ ,การเรียกชื่อส.ส.เพื่อรับบัตรออกเสียง จะเป็นไปตามลำดับอักษร
พร้อมกับส.ส.ต้องลงลายมือชื่อเป็นหลักฐานในการรับบัตรและซองใส่บัตรจากกรรมการ, ต่อด้วยเมื่อรับบัตรออกเสียงแล้ว ให้ลงคะแนนในคูหา ด้วยการเขียนชื่อบุคคลที่ต้องการเลือกให้เป็นประธานสภาฯ เพียงชื่อเดียว ต่อด้วยนำบัตรออกเสียงใส่ซองหย่อนในหีบบัตรลงคะแนน
ทั้งนี้เมื่อประธานกล่าวปิดการลงคะแนนลับแล้ว ส.ส.จะใช้สิทธิลงคะแนนไม่ได้อีก จากนั้นคือการตรวจนับ และประกาศผล
โดยผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นประธานสภาฯ ให้ถือเสียงข้างมาก “ผู้มาลงคะแนน” ฉะนั้นหากถึงเวลาโหวตจู่ๆสมาชิกเกิดเล่นเกม “ล่องหน” ไม่อยู่ในที่ประชุมนั่นย่อมมีผลต่อแต้มโหวตทันที
ในขณะเดียวกันเมื่อการโหวตใช้รูปแบบการ “ลงคะแนนลับ” หมายความว่า ผลคะแนนที่ออกมาก็จะไม่สามารถจับมือใครดมได้ว่าใครโหวตอะไร แม้คะแนนจะฟ้องแต้มขาด-เกินของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ตาม
ขณะที่ตำแหน่งรองประธานอีก2คนก็จะใช้ขั้นตอนเดียวกันกับประธานสภา โดยเมื่อเลือกประธานสภาฯและรองประธานสภาฯได้แล้ว ให้เลขาธิการมีหนังสือแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรีโดยเร็ว เพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป
อีกไม่กี่ชั่วโมงที่เหลือจึงต้องจับตาไปที่ "ศึกชิงบัลลังก์" ประมุขนิติบัญญัติ ซึ่งที่สุดอาจไม่ใช้บทสรุป แต่คือจุดเริ่มต้นของการเมืองฉากทัศน์ถัดไปโดยเฉพาะการ "โหวตเลือกนายกฯ" คนที่30 ซึ่งจะเป็นอำนาจของประธานสภาคนใหม่ ที่จะเป็นผู้นัดประชุม
ท่ามกลางปรากฎกระแสดีลลับ-ดีลลวง รวมถึงการโยนสูตรการเมืองขั้วต่างๆด้วยแล้วสัญญาณการเมืองหลังจากวันที่4ก.ค.จึงต้องจับตา โดยเฉพาะตัวละครที่กำลังซ่อนตัวอยู่หลังม่านที่จะเริ่มปรากฎกายออกมาให้เห็นชัดมากขึ้นเรื่อยๆ