รัฐสภานัดโหวต นายกฯ 13 ก.ค. "วันนอร์" ปัดตอบ โหวต "พิธา" มีปัญหา-ทำซ้ำหรือไม่
"วันนอร์" สุดฟิต เข้าสภาฯ เตรียมงานในตำแหน่ง ปธ.สภาฯ หารือวันประชุมโหวตนายกฯเคาะ 13ก.ค. ตอบไม่ได้ หาก "พิธา" ไม่ผ่านรอบแรก จะมีอีกกี่ครั้ง ย้ำดูความเหมาะสม-องค์ประชุม
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ฐานะผู้ที่สภาฯเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ที่รัฐสภา ถึงการเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งได้เชิญ นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาฯ ได้หารือ เบื้องต้นได้เตรียมการเรื่องพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นใน 1-2 วัน ต่อมาคือ การเปิดประชุมสภาฯ นัดต่อไป ที่เบื้องต้นจะกำหนดในวันที่ 12 กรกฏาคม เพื่อพิจารณาการกำหนดวันประชุมของสภาฯ ประจำสัปดาห์ ซึ่งต้องรอสอบถามความคิดเห็นของ ส.ส. ว่าจะใช้ 2 หรือ 3 วันต่อสัปดาห์ รวมถึงให้ ส.ส.ที่ไม่ได้กล่าวคำปฏิญาณตนก่อนปฏิบัติหน้าที่ให้ดำเนินการให้ครบถ้วน
นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่าขณะที่การประชุมรัฐภา เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ตนได้หารือกับนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ฐานะรองประธานรัฐสภา เบื้องต้นจะกำหนดการประชุมรัฐสภา วันที่ 13 กรกฏาคม เวลา 09.30 น.
เมื่อถามถึงขั้นตอนการโหวตนายกรัฐมนตรี ที่มีแนวโน้มว่าชื่อของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและแคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล จะไม่ได้รับเสียงสนับสนุนตามเกณฑ์ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า การโหวตนายกฯ อาจจะผ่าน และครบ 376 เสียง ในครั้งเดียวก็เป็นได้ แต่หากไม่ครบ ต้องรอดูว่าจะมีพิจารณาการประชุมในรอบต่อไป และคะแนนที่ได้นั้นมีจำนวนเท่าใดจะครบเกณฑ์ คือ 376 เสียง รวมถึงฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะขอเวลาในการประชุมอีกกี่ครั้ง
“รัฐสภาต้องประชุมให้ได้นายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ใช่คุณพิธาคนเดียว ซึ่งคุณพิธาอาจจะได้ ก็ได้ไป ตามกติกา หากไม่ได้ต้องหาจนได้ เพราะรัฐสภามีหน้าที่เลือกนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ เพื่อไปบริหารประเทศ ซึ่งจะประเทศจะขาดนายกฯ ไปบริหารประเทศไม่ได้ ในเบื้องต้นที่ผมขอพูดอย่างเป็นกลาง ส.ส.ที่มีหน้าที่สำคัญในการออกกฎหมาย พิจารณางบประมาณ ได้รวมกันในซีกจัดตั้งรัฐบาล แล้ว 312 เสียง ซึ่งวานนี้ในการเลือกรองประธานสภาฯ คนที่1 ได้เสียง312 เสียง จะถือเป็นหลัก แต่การเลือกนายกฯ ไม่ใช่เสียงข้างมาก 312 เสียงจะได้เป็น ต้องได้ 376 เสียงเป็นอย่างน้อย ซึ่งขาดอีก 64 คะแนน หากไม่ได้ต้องโหวตให้ได้ ส่วนจะนัดโหวตอีกกี่ครั้งผมตอบไม่ได้” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว
เมื่อถามว่าหากที่ประชุมยืนยันเสนอแคนดิเดตคนเดิมจะให้ประชุมหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าเป็นคนเดิมหรือคนใหม่ แต่ต้องเป็นคนที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรอง และมีชื่ออยู่ในบัญชีของพรรคการเมือง หากรายชื่อทั้งหมดไม่ผ่านเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยรัฐสภาจะให้เสนอคนนอกได้ แต่รัฐสภาต้องมีเสียงมากกว่า 2 ใน 3
“ผมคิดว่าเราไม่สามารถก้าวล่วงล่วงหน้าได้ สิ่งสำคัญต้องมีนายกฯที่บริหารประเทศต่อไปได้ อย่างไรก็ดีในการกำหนดวันประชุมเพื่อเลือกนายกฯ หากครั้งแรกไม่ได้คะแนนตามเกณฑ์นั้นต้องดูความเหมาะสมอีกครั้ง พร้อมกับฟังเสียงจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยประธานไม่มีหน้าที่ที่จะกำหนด เนื่องจากต้องดูความเหมาะสมและความพร้อม โดยเฉพาะการเข้าร่วมประชุมของสมาชิก เเพราะหากสมาชิกไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ ก็จะมีปัญหาองค์ประชุม” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว
นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวด้วยว่า พรรคการเมืองที่ตกลงจะเป็นรัฐบาล 8 พรรค สนับสนุนหัวหน้าพรรคที่ได้เสียงข้างมากจากการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม เป็นนายกฯ แต่เป็นข้อตกลงของ 8 พรรค แต่การโหวตนายกฯ เป็นเรื่องของรัฐสภา ที่มีส.ว. เข้ามาเกี่ยวข้อง และมีเกณฑ์คะแนน 376 เสียง ซึ่งการลงมติดังกล่าวเป็นเรื่องที่รัฐสภาจะลงมติ แต่หากเป็นเฉพาะ สภาผู้แทนราษฎรคงไม่มีปัญหา เพราะมีเสียงข้างมาก 312 เสียง
เมื่อถามถึงการเลื่อนลำดับส.ส.บัญชีรายชื่อขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่าง นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ตามที่เลขาฯสภาฯ แจ้ง คือมี 2 คน คือ จากพรรคก้าวไกลและพรรครวมไทยสร้างชาติ อย่างไรก็ดี หลังจากที่ตนได้รับการโปรดเกล้าฯ แล้วสามารถดำเนินการได้ทันทีและในวันที่มีการประชุมสภาฯ วันที่ 12 กรกฏาคม สามารถให้กล่าวคำปฏิญาณตนก่อนปฏิบัติหน้าที่ได้ และจะสามารถทำหน้าที่ได้ทันที.