"ศาลฎีกา" ยกฟ้อง "ชาญชัย" คดี "คิงเพาเวอร์" ชี้ หลักฐานน่าเชื่อถือ
"ศาลฎีกา" ยกฟ้อง "ชาญชัย" คดี "คิงเพาเวอร์" ชี้ พยานหลักฐานน่าเชื่อถือ เคยนั่งเป็นรองอนุกมธ.ฯ ปกป้องประโยชน์สาธารณะ แสดงความคิดเห็นโดยสุจริต
นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตสส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง การที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางตัดสินยกฟ้องในคดีที่ตนได้ฟ้องกรรมการ ทอท. และกลุ่มบริษัท คิงเพาเวอร์ เรื่องจัดเก็บและแบ่งปันผลประโยชน์ตอบแทนจากการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรภายในสนามบินสวรรณภูมิไม่เป็นไปตามสัญญา เนื่องจากไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรงและศาลยังไม่ได้วินิจฉัยเนื้อหาแห่งคดี จึงได้มาแถลงข่าวว่าจะนำคำพิพากษาดังกล่าวส่งให้แก่นายกฯ รมว.คลังและ รมว.คมนาคม เพื่อให้ไปติดตามเงิน 1.4 หมื่นล้านบาทเข้าแผ่นดิน เนื่องจากเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่โดยตรง พร้อมกับจะนำเรื่องขึ้นกราบบังคมทูลถวายฎีกาเพื่อให้ทรงทราบถึงสถานการณ์ ทำให้ตนถูกกลุ่มบริษัท คิงเพาเวอร์ ฟ้องร้องกล่าวหาว่าพูดเท็จ หมิ่นประมาท
จากคดีดังกล่าวมีการต่อสู้กันถึง 3 ศาล จนบัดนี้ คดีถึงที่สุด โดยศาลมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องแล้ว ซึ่งศาลชั้นต้นได้ตัดสินว่า มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 จำคุก 8 เดือน กับให้ลงโฆษณาคำพิพากษาฉบับเต็มในหนังสือพิมพ์ มติชน ข่าวสด เดอะเนชั่น และสยามรัฐ 7 วันติดต่อกัน โดยให้นายชาญชัยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย จากนั้นในชั้นอุทธรณ์ – ฎีกาศาลได้ตัดสินว่านายชาญชัยไม่มีความผิด และยกฟ้อง ด้วยเหตุผลว่า การแถลงข่าวล้วนเป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคำพิพากษาของศาล อท. การแจกสำเนาคำพิพากษาเป็นการเผยแพร่คำพิพากษา แม้คำพิพากษาจะพิพากษายกฟ้องเนื่องจากไม่ใช่ผู้เสียหายแต่ศาลก็ยังไม่ได้วินิจฉัยว่ามีการกระทำผิดตามฟ้องและไม่มีการปั้นแต่งข้อความอื่นนอกเหนือไปจากข้อความในคำพิพากษา ถือได้ว่าเป็นการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการโดยเปิดเผยในศาลโดยสุจริต ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ส่วนการที่จะไปดำเนินการต่อด้วยการทูลเกล้าถวายฎีกาหรือร้องต่อนายกรัฐมนตรี รมว.คลังและรมว.คมนาคม เพื่อให้มีการตรวจสอบและเอาเงินคืน ก็เป็นเรื่องที่แจ้งให้สื่อมวลชนทราบว่าจะดำเนินการต่อไปเท่านั้นมิใช่เป็นการหมิ่นประมาท
ส่วนที่กลุ่มบริษัท คิงเพาเวอร์ ฟ้องว่า มีการแถลงข่าวหลายครั้ง การกระทำมีเจตนาทุจริตทำให้ได้รับความเสียหายนั้น ศาลเห็นว่านายชาญชัยเป็นรองประธานอนุกรรมาธิการฯ เข้าร่วมตรวจสอบ ประชุม โดยมีพยานหลักฐานแน่ชัดน่าเชื่อถือล้วนแต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับงานของนายชาญชัยทั้งสิ้น จากพยานหลักฐานทำให้มีเหตุอันสมควรเชื่อเช่นนั้นโดยสุจริตว่า คำแถลงของตนเป็นความจริงโดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นเรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อส่วนรวม การร่วมกันรักษาปกป้องประโยชน์ส่วนรวมของประเทศย่อมเป็นหน้าที่พลเมืองดี เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ทั้งเป็นการป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
โดยในชั้นฎีกา ได้ให้เหตุผลถึงประเด็นที่เกี่ยวกับถ้อยคำในการแถลงข่าว ไว้ 4 เหตุผลดังนี้
1. ถ้อยแถลงเกี่ยวกับคำพิพากษาของศาล อท. นายชาญชัยแถลงว่า ศาลพิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่า นายชาญชัยไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย และนายชาญชัยยังแถลงด้วยว่า ข้อเท็จจริงแห่งคดีตามคำฟ้องศาลยังไม่ได้วินิจฉัย พร้อมกับแจกสำเนาคำพิพากษาดังกล่าวให้แก่สื่อมวลชน การที่นายชาญชัยกล่าวถ้อยคำแก่สื่อมวลชนเช่นนั้น มิได้ทำให้ผลของคำพิพากษาศาล อท. เปลี่ยนแปลงไปได้ว่าโจทก์กระทำการทุจริตตามคำฟ้อง
2. ถ้อยคำว่า จะเสนอเรื่องต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อติดตามเงิน 1.4 หมื่นล้านบาท ก็เป็นเรื่องที่นายชาญชัยแจ้งว่าจะดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร ไม่มีข้อความตอนใดในเอกสารถอดเทปการแถลงข่าว ยืนยันว่าโจทก์เป็นผู้กระทำการทุจริตโดยชัดแจ้ง เพียงมีความหมายทำให้เข้าใจได้ว่าควรจะต้องมีการตรวจสอบเกี่ยวกับเรื่องนี้เท่านั้น
3. ถ้อยแถลงว่า “เราทำทุกวิถีทางแล้วในฐานะภาคประชาชน ตามรัฐธรรมนูญก็แล้ว ตามอะไรก็แล้ว มันไปไม่ได้จริงๆ มีปัญหาอุปสรรค ทั้งระบบด้วย ทั้งข้อกฎหมายด้วย ทั้งอำนาจรัฐด้วย ทั้งกระบวนการยุติธรรมด้วย นายชาญชัยจะเขียนด้วยลายมือนายชาญชัยเองจากเอกสารและหลักฐานนำขึ้นทูลเกล้าถวายเพื่อถวายรายงานพระองค์ท่านให้ทราบสถานการณ์” นั้น เป็นเพียงข้อความที่ตัดพ้อถึงขั้นตอนการตรวจสอบการทุจริตว่าไม่อาจตรวจสอบได้เนื่องจากติดปัญหาต่างๆจึงคิดว่าจะดำเนินการต่อไปโดยจะกราบบังคมทูลถวายฎีกาเพื่อที่จะให้ทรงทราบถึงการทุจริตและประพฤติมิชอบ มิได้เฉพาะเจาะจงว่าโจทก์เป็นผู้กระทำการทุจริตหรือเป็นผู้มีอิทธิพลอยู่เหนือกฎหมายแต่อย่างใด
4. โจทก์นำถ้อยคำตามเอกสารถอดเทปคำแถลงข่าวมาแยกเป็นตอนๆ เพื่อที่จะให้เห็นว่าเป็นถ้อยแถลงที่เป็นการหมิ่นประมาทซึ่งตามความเป็นจริงแล้วจะต้องฎีกาถึงถ้อยแถลงของนายชาญชัยทั้งหมดในคราวเดียวกัน เพราะการที่จะพิจารณาว่าเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ จะต้องพิจารณาถึงถ้อยแถลงจากเอกสารทั้งหมดในคราวเดียว เพื่อที่จะทราบถึงเหตุผล มูลเหตุจูงใจและเจตนาของผู้แถลงว่ามีเจตนาในการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากการแถลงข่าวของนายชาญชัย ประกอบกับข้อความตามเอกสารถอดเทปคำแถลงข่าวแล้วจะเห็นได้ว่ามูลเหตุที่มีการแถลงข่าวเกิดจากการที่ศาล อท. พิพากษายกฟ้องนายชาญชัยจึงจัดแถลงข่าวเกี่ยวกับผลคดีที่เกิดขึ้นว่า ยกฟ้องโดยวินิจฉัยว่าไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยโดยยังไม่ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงแห่งคดี พร้อมกับแจกสำเนาคำพิพากษาแก่สื่อมวลชนซึ่งนายชาญชัยในฐานะที่เคยเป็น สส. และได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองประธานอนุกรรมาธิการ ฯ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับรู้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตามคำฟ้องในคดี อท. จึงได้แถลงข่าวตามข้อเท็จจริงที่รับรู้มาโดยมิได้มีการยืนยันว่าโจทก์กระทำการทุจริต เพียงแต่มีการเสนอให้มีการตรวจสอบเท่านั้น ซึ่งในเรื่องนี้มีการนำเสนอไว้ในรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญกับเครื่องการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศนายชาญชัยมิได้กล่าวอ้างขึ้นมาโดยปราศจากข้อมูล ทั้งปรากฏข้อเท็จจริงว่าภายหลังการแถลงข่าว นายชาญชัยได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ตามถ้อยแถลงข่าวจริง แสดงให้เห็นว่าต้องการตรวจสอบเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างแท้จริง
ส่วนประเด็นเกี่ยวกับอำนาจ-หน้าที่ในการแถลงข่าว ศาลฎีกาได้ให้เหตุผลว่า การที่โจทก์อ้างว่า นายชาญชัยในฐานะรองประธานอนุกรรมาธิการ ฯ ไม่มีอำนาจหน้าที่แถลงข่าวถึงผลการปฏิบัติงานต่อสื่อมวลชน และจะแสดงความคิดเห็นติชมหรือชี้นำสังคมในเรื่องใดไม่ได้ การแถลงข่าวของนายชาญชัยไม่อาจอ้างได้ว่าเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ของอนุกรรมาธิการ ฯ นั้นศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า ในขณะแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนนายชาญชัยไม่ได้อ้างว่าแถลงข่าวในฐานะอนุกรรมาธิการฯ แต่แถลงข่าวในฐานะที่เคยเป็น สส.และในฐานะโจทก์ในคดี อท. ที่พิพากษายกฟ้อง โดยจะเห็นได้ว่ามีการแถลงข่าวที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์