'ไอติม' ชี้ญัตติประชามติแก้ รธน.ไม่ซ้ำซ้อน หลังวิปรัฐบาลส่อเตะทิ้ง
‘ไอติม’ ชี้ญัตติประชามติแก้ รธน.ไม่ซ้ำซ้อน หลังวิปรัฐบาลส่อเตะทิ้ง เลื่อนเรื่องอื่นขึ้นมาแทน ยันทำคู่ขนานได้ 3 ช่องทาง เป็นผลดีกับรัฐบาลได้ฟังความเห็นรอบด้าน
เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2566 ที่พรรคก้าวไกล นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะกรรมการประสานงาน (วิป) รัฐบาลแทรกญัตติอื่นแทนการพิจารณาญัตติทำประชามติของพรรคฝ่ายค้าน ว่า สืบเนื่องจากมติวิปรัฐบาลว่าจะมีการเลื่อนระเบียบวาระเรื่องอื่นเข้ามาแทรกคิวและไม่ให้ดำเนินการตามระเบียบวาระที่มันเป็นอยู่นั้น ทางพรรคก้าวไกลยืนยันว่าไม่เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องเลื่อนระเบียบวาระอื่นขึ้นมาแทรกแต่สามารถดำเนินการตามลำดับเดิมได้ ซึ่งตามลำดับเดิม ก็จะเริ่มจากญัตติที่ตนและพรรคก้าวไกลเสนอให้มีการจัดทำประชามติเพื่อนับหนึ่งสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า ตนได้เห็นถึงข้อกังวลของนายอดิศร เพียงเกษ ประธานวิปรัฐบาล ที่กังวลว่าจะซ้ำซ้อนกับการทำงานของรัฐบาลหรือไม่ ตนไม่คิดว่ามันจะมีความซ้ำซ้อนเพราะว่าความจริงถ้าเราอ้างอิง พ.ร.บ.ประชามติ 2564 การจะเสนอว่าจะจัดทำประชามติเรื่องอะไร ด้วยคำถามอะไร ความจริงมีการเปิดให้สามารถเสนอได้ผ่าน 3 กลไก คู่ขนานกัน 1.คือการที่รัฐบาลเสนอมาเองว่าจะจัดประชามติเรื่องอะไรด้วยคำถามอะไร 2.ภาคประชาชนเข้าชื่อ 5 หมื่นรายชื่อ 3. การเสนอโดยสมาชิกรัฐสภา ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบทั้งจาก สส.และสว. ซึ่งสามารถทำคู่ขนานกันได้ทั้ง3 ช่องทาง
นายพริษฐ์ กล่าวว่า ยิ่งไปกว่านั้นตนคิดว่าถ้าเราสามารถให้มีการดำเนินการตามระเบียบวาระเดิมและเปิดโอกาสให้มีการอภิปรายญัตติประชามติในวันที่ 25 ต.ค. คิดว่าไม่ว่ารัฐบาลจะมีจุดยืนเรื่องนี้อย่างไร ก็น่าจะเป็นประโยชน์กับรัฐบาลทั้งนั้น ตนยกตัวอย่าง 3 ความเป็นไปได้
1.ถ้ารัฐบาลเห็นตรงกับพรรคก้าวไกล และญัติญัติของพรรคก้าวไกล ว่าควรจะเดินหน้าจัดทำประชามติด้วยคำถามที่ตรงไปตรงมาว่าเห็นด้วยหรือไม่ ให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ก็คงใช้เวลาไม่นานในการอภิปรายและลงมติ เพราะเป็นญัตติเดียวกันกับที่เราเคยเสนอต่อสภาเมื่อ พ.ย. 65 และได้รับความเห็นชอบจากสภาอย่างเป็นเอกฉันท์
2.ความเป็นไปได้ที่ 2 รัฐบาลอาจยังไม่ชัดเจนว่าจะเดินหน้าเรื่องประชามติอย่างไร และด้วยคำถามแบบไหน ถ้าเป็นเช่นนั้นตนคิดว่าการที่เราได้มีโอกาสใช้พื้นที่สภาในการอภิปรายแลกเปลี่ยนความเห็นที่แตกต่างกันก็น่าจะเป็นประโยชน์กับรัฐบาลเช่นกัน ในการรวบรวมความเห็นเหล่านั้น
3. หากรัฐบาลมีจุดยืนที่แตกต่างกับพรรคก้าวไกล ๆ ก็เหลือช่องทางเดียวกันคือใช้กลไกของสภาในการโน้มน้าวเพื่อนสมาชิกในฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อให้เห็นชอบกับแนวทางที่พรรคก้าวไกลมองว่าน่าจะเป็นประโยชน์ที่สุด ในการปูทางนำไปสู่รัฐธรรมนูญใหม่ ทั้ง 3 ความเป็นไปได้จึงน่าจะเป็นประโยชน์กับรัฐบาล
นายพริษฐ์ กล่าวด้วยว่า จากนี้ภาระการพิสูจน์ก็จะตกอยู่กับ สส.ฝั่งรัฐบาล เพราะว่าถ้าเดินตามระเบียบวาระปกติ มันก็จะเดินเข้าสู่ญัตติเรื่องประชามติ หากจะเป็นอื่นใดทาง สส.ฝั่งรัฐบาลก็ต้องเสนอในที่ประชุมสภา ว่าจะให้เลื่อนเอาญัตติอื่นหรือวาระอื่นมาแทรกคิว ดังนั้นภาระการพิสูจน์ว่าความจำเป็นอะไรที่ทำให้ต้องกมีการปรับหรือเปลี่ยนวาระก็จะตกอยู่ที่ฝั่ง สส.รัฐบาล
เมื่อถามว่ามองเจตนาเรื่องนี้อย่างไร เป็นการซื้อเวลาหรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า เจตนาของรัฐบาลเป็นเช่นไรก็คงต้องถามรัฐบาล แต่ตนก็ยืนยันว่าหากข้อกังวลเป็นไปตามที่นายอดิศรพูด ว่าเป็นการซ้ำซ้อนกัน ตนก็ยืนยันว่าไม่ซ้ำซ้อนเพราะเจตนาของ พ.ร.บ.ประชามติ เปิดให้สามารถพิจารณาเรื่องนี้ผ่าน 3 กลไก พร้อมกันได้อยู่แล้ว และเราก็เห็นว่าภาคประชาชนเองก็มีการใช้กลไกในการรวบรวมรายชื่อ สส. พรรคก้าวไกลเองก็มีการรวบรวม รายชื่อโดยใช้กลไกสภาในการยื่นญัตตินี้เข้าไป นอกจากดำเนินการได้ และไม่ซ้ำซ้อนกันแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลด้วยซ้ำ หากรัฐบาลต้องการรวบรวมความเห็นอย่างรอบด้านในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่