ปริศนา‘การเมือง’ตีไพ่หมอบ นับถอยหลัง‘ทักษิณ’พ้นคุกเท่ๆ
แรงต้านปม 2 มาตรฐาน กลับปลุกไม่ขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะ “ฝ่ายการเมือง” เลือกที่จะนิ่งไม่ออกมาเคลื่อนไหวอย่างจริงจัง โดยเฉพาะฝ่ายค้านก็แทบไม่มีท่าทีตรวจสอบเรื่องนี้ อย่างที่ควรจะเป็น ขณะที่แรงต้านจากสังคมในภาคส่วนอื่นก็มีน้อยมาก
พลันที่ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 ถูกประกาศใช้เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2566 ที่ผ่านมา ชื่อของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกโฟกัสมากกว่านักโทษคนอื่น
มีกระแสวิจารณ์เชิงตั้งคำถามว่าระเบียบดังกล่าวถูกดีไซน์มาเพื่อ “ทักษิณ” หรือไม่ เพราะตั้งแต่เดินทางกลับมาเหยียบแผ่นดินไทย ในฐานะนักโทษ เมื่อวันที่ 22 ส.ค.2566 ก่อนเข้าสู่กระบวนการมอบตัวรับโทษในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร พร้อมข้อสงสัยว่า “ทักษิณ” ยังไม่ได้เฉียดการถูกคุมขังในเรือนจำแม้แต่น้อย
หลังจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ส่งตัวเขาไปรับการรักษาอาการป่วยที่โรงพยาบาลตำรวจ ตั้งแต่เวลา 00.20 น. ของวันที่ 23 ส.ค.
หลังมีอาการความดันสูง ต่อมาตรวจพบอย่างน้อย 4 โรค และมีรายงานการผ่าตัด พักฟื้น
กระทั่งในเวลาต่อมา ได้ทำหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ก่อนได้พระราชทานอภัยลดโทษ จากจำคุก 3 คดี รวมเวลา 8 ปี เหลือโทษจำคุก 1 ปี
ปัจจุบันกรมราชทัณฑ์ ยังยืนยันว่า “ทักษิณ” พักรักษาตัวอยู่ที่อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ
นับตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค. จนถึงวันที่ 13 ธ.ค. “ทักษิณ” ต้องโทษมาแล้ว 114 วัน โดยเหลืออีกเพียง 7 วัน จะครบ 121 วัน ถือว่าต้องโทษไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 (ต้องโทษ 1 ปี เท่ากับ 365 วัน) จึงมีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ขอพักโทษ
โดยยึดตามประกาศกรมราชทัณฑ์ เรื่องหลักเกณฑ์การคัดเลือกนักโทษเด็ดขาด เข้าโครงการพักการลงโทษ กรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง พิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป พ.ศ. 2563
แม้ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเคยดำรงตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระหว่างปี 2562-2566 จะถูกเชื่อมโยงว่า เป็นคนไฟเขียวระเบียบดังกล่าว เปิดช่องเอื้อใครบางคน แต่เจ้าตัวออกมาชี้แจงว่า พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ 2560 เริ่มยกร่างตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งขณะนั้นตนเองยังไม่ได้เข้ารับตำแหน่ง
“กฎหมายมีมาตั้งแต่ปี 2560 และต้องมีอนุบัญญัติในทุกมาตรา เพื่อประโยชน์การบริหาร มีเป้าหมายเพื่อปฏิรูปงานราชทัณฑ์ ด้วยการยกเลิกกฎหมายราชทัณฑ์ฉบับเดิมที่ใช้มา 80 ปี” สมศักดิ์ ชี้แจง
ขณะเดียวกันกรมราชทัณฑ์ออกเอกสารข่าวชี้แจง การจำคุกในสถานที่คุมขัง เป็น “ภารกิจสำคัญในการบริหารโทษให้เป็นไปตามคำสั่งศาล” โดยมี พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 เป็นเครื่องมือในการกำหนดบริหารโทษ
“การนำตัวนักโทษไปคุมขังไว้ในสถานที่อื่นที่ไม่ใช่เรือนจำ แต่ยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกรมราชทัณฑ์ และไม่ใช่เป็นการกำหนดประโยชน์ให้กับนักโทษ และในขณะใช้มาตรการ จะต้องอยู่ในสถานที่ที่กำหนดไว้ตามหลักเกณฑ์ ถ้าทำผิดเงื่อนไขจะถูกเพิกถอนและส่งตัวกลับเข้าเรือนจำทันที” เอกสารข่าวกรมราชทัณฑ์ ระบุตอนหนึ่ง
ทว่า ไทม์ไลน์การประกาศใช้ระเบียบดังกล่าว สอดคล้องกับช่วงเวลาที่ “ทักษิณ” ใกล้จะรับโทษเข้าเกณฑ์ 1 ใน 3 ทำให้กระแสในสังคมเคลือบแคลงสงสัย บวกกับ 4 เดือนที่ผ่านมา “ทักษิณ” ยังไม่เคยอยู่ในเรือนจำ จนถูกเรียกขาน “นักโทษเทวดา”
ที่สำคัญแรงต้านปม 2 มาตรฐาน กลับปลุกไม่ขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะ “ฝ่ายการเมือง” เลือกที่จะนิ่งไม่ออกมาเคลื่อนไหวอย่างจริงจัง โดยเฉพาะฝ่ายค้านก็แทบไม่มีท่าทีตรวจสอบเรื่องนี้ อย่างที่ควรจะเป็น ขณะที่แรงต้านจากสังคมในภาคส่วนอื่นก็มีน้อยมาก
แตกต่างไปจากการออก “พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย” เมื่อปี 2556 “ฝ่ายการเมือง” นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเคลื่อนไหวจริงจัง ขึงขัง ยอมลาออกจาก สส. ตั้งเวที กปปส. จนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องยอมถอย ก่อนจะนำมาสู่การรัฐประหาร
ทว่า ชั่วโมงนี้ “นักโทษชั้น 14” กลับถูกมองว่า กำลังครองอำนาจทางการเมือง เป็นศูนย์กลางของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน สามารถคอนโทรลการเมืองได้เกือบเบ็ดเสร็จ
แม้แต่พรรคการเมืองที่เคยเป็นศัตรูอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ท่าทีแกนนำชุดใหม่ก็ออกอาการอยากเข้าร่วมรัฐบาลโดยเร็ว
อีกทั้ง คู่แค้น คู่แข่งการเมือง ตั้งแต่พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ ก็เปลี่ยนบทบาทจากศัตรู มาเป็นมิตรทางการเมือง ทำให้แรงต้านผู้มีบารมีเหนือพรรคเพื่อไทยยิ่งลดน้อยถอยลง
แม้จะหลงเหลือเพียงพรรค “ก้าวไกล” ที่เปลี่ยนจากมิตรมาเป็นศัตรู แต่อาจจะด้วยความสัมพันธ์หลังม่านระหว่าง “ผู้นำจิตวิญญาณ” กับ “คนชั้น 14” ซึ่งถือเป็นผู้นำตัวจริงของทั้ง 2 พรรค อาจทำให้แรงต้านจาก “ก้าวไกล” มีไม่มากพอ จะชี้นำสังคมได้
หลังจากนี้ จึงนับถอยหลังวันสู่อิสรภาพของ“ทักษิณ” ท่ามกลางกระแสข่าว อาจจะรอให้กระแสต้านลดลงสัก 2 เดือน ก่อนจะพ้นจากการจำคุกทิพย์ กลับบ้าน (กลับสู่การเมือง) “แบบเท่ๆ” ตามที่เคยประกาศเอาไว้