'กมธ.แรงงาน' จ่อชงข้อเสนอ รื้อสูตรคำนวณค่าแรงขั้นต่ำ

'กมธ.แรงงาน' จ่อชงข้อเสนอ รื้อสูตรคำนวณค่าแรงขั้นต่ำ

กมธ.แรงงาน เสนอรื้อสูตรคำนวณค่าแรงขั้นต่ำ - ใช้บอร์ดพหุภาคี แก้ปัญหาค่าจ้าง - ชงตั้งสภาแรงงานจังหวัด พร้อมยกระดับฝีมือแรงงานไทย

ที่รัฐสภา นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการ การแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการค่าจ้าง หรือ บอร์ดไตรภาคี มีมติยืนฐานการปรับค่าจ้างตามเดิม ระหว่าง 2 - 16 บาท ว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดจากกฎหมายการคำนวณค่าแรงของไตรภาคีล้าสมัย ทำให้สูตรการคิดคำนวณหาค่าแรง จำเป็นจะต้องมีการแก้ไข เช่น ในกรณีของพื้นที่จังหวัดปัตตานีนั้น ที่จริงจะต้องปรับลด 1 บาทไม่ใช่ปรับเพิ่ม 2 บาท แต่เนื่องจากจังหวัดนราธิวาส และยะลา ได้ปรับ 2 บาท จึงทำให้ปรับจังหวัดปัตตานี ด้วย เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

นายสฤษฏ์พงษ์ กล่าวต่อว่า ในอดีตกระทรวงแรงงาน เป็นกรมแรงงานในกระทรวงมหาดไทย กฎหมายจึงตามไม่ทัน ทำให้เกิดความขัดแย้งในอำนาจระหว่างรัฐมนตรี ,ปลัดกระทรวง ,อธิบดี และตัวแทนไตรภาคีจากฝั่งนายจ้าง  จึงขอเสนอว่า ให้มีการเปลี่ยนระบบไตรภาคี เป็นพหุภาคี หรือรูปแบบใหม่ๆ รวมถึงการจัดตั้งสภาแรงงานจังหวัด และจำเป็นจะต้องพิจารณาบริบทอีกหลายมุมว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ควรจะเป็นค่าแรงที่เป็นธรรมหรือไม่ รวมถึงต้องยกระดับฝีมือแรงงานไทย และให้ได้รับใบรับรองด้วย

"กมธ.จะเสนอรัฐบาลปรับเกณฑ์การขึ้นค่าแรง ทั้งสูตรการคำนวณ และองค์ประกอบบอร์ดไตรภาคี โดยขณะนี้ได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาแล้ว ทั้งการพัฒนาฝีมือแรงงาน และการบริหารระบบ กฎหมาย การจัดตั้งแรงงานจังหวัด เพื่อเสนอต่อรัฐบาลให้พิจารณาดำเนินการต่อไป" สฤษฏ์พงษ์ กล่าว

ด้าน นายสุเทพ อู่อ้น สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธาน กมธ.แรงงาน กล่าวว่า คณะกรรมการไตรภาคีที่ถือกฎหมายอยู่มีอำนาจ และมีสิทธิที่จะดำเนินการเต็มที่ ส่วนภาคการเมือง ต้องไปแก้ไขในส่วนของกฎหมายเพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนเรื่องของเงื่อนไขการปรับค่าจ้าง ซึ่งชัดเจนว่าสูตรการคิดอัตราค่าจ้างปัจจุบันเป็นสูตรที่ยังล้าสมัย โดยตามหลักสากลเรื่องค่าจ้าง ของ 1 คน ต้องสามารถเลี้ยงครอบครัวได้ 3 คน แต่สูตรของกระทรวงแรงงานปัจจุบัน 1 คน สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ 1 คนเท่านั้น.

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์