'ศิริกัญญา' บี้รัฐบาลแจงแผนเงินดิจิทัลให้ชัด แนะถามกฤษฎีกาก่อนยืม ธ.ก.ส.
'ศิริกัญญา' บี้รัฐบาลแจงแผนนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตให้ชัด แนะถาม 'กฤษฎีกา' ก่อน ปมยืมเงิน ธ.ก.ส.มาทำได้หรือไม่
เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2567 ที่รัฐสภา น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวภายหลังจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง แถลงนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ว่า อยากฝากรัฐบาล เมื่อยืนยันโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะได้ใช้ในไตรมาส 4 ไม่เลื่อนแน่นอน อยากเห็นแผนงานทั้งหมด เช่น ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีจะทำได้เมื่อไร การพัฒนาระบบแอพพริเคชั่นใหม่จะเสร็จเมื่อใด เพราะมีการยืนยันจะไม่ใช้แอพฯเป๋าตัง ไม่ใช่แค่การหาแหล่งที่มางบประมาณให้ครบจำนวน รวมถึงกรณีร้านสะดวกซื้อจะรวมอยู่ในร้านค้ารายเล็กที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการหรือไม่ รายละเอียดยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะกลไกที่ยุ่งยากในการแลกเงินดิจิทัลเป็นเงินสดคือ ต้องใช้ 2 รอบ จึงสามารถแลกเป็นเงินสดได้ จะแลกได้เฉพาะร้านที่อยู่ในฐานภาษีเท่านั้น อาจทำให้ร้านค้ารายย่อยตัวจริงไม่อยากเข้าร่วมโครงการ เพราะแลกมาแล้วก็ยังแลกเป็นเงินสดไม่ได้ จะมีความลำบากสำหรับร้านค้ารายเล็ก ถ้าร้ายค้ารายเล็กร่วมโครงการน้อย การจะทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนอยู่ในระดับฐานรากก็น่ากังวลใจ รวมถึงผลกระทบที่จะตามมาคือ หนี้สาธารณะ เอาเฉพาะการขยายวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี2568 หนี้สาธารณะขึ้นไปอยู่ที่ ร้อยละ 67 แล้ว ยังมีภาระดอกเบี้ยแต่ละปี เพิ่มเป็น ร้อยละ 11 ของรายได้ เท่ากับเก็บภาษีมาเท่าใด ก็เอาไปจ่ายดอกเบี้ยหมด เป็นคอขวดสำคัญที่รัฐบาลต้องก้มหน้ารับไป รัฐบาลชุดต่อไปต้องมาแบกรับภาระหนี้จ่อคอหอยที่จะชนเพดาน ร้อยละ 70 แล้ว
เมื่อถามว่า กรณีที่รัฐบาลจะยืมเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) จำนวน 172,300 ล้านบาท มาดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จ่ายให้เกษตร กร ถือว่ามีอำนาจในการใช้เงิน ธ.ก.ส.และเป็นไปตามวินัยการเงินการคลังหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า เรื่อง ธ.ก.ส.ยังมีประเด็นข้อกฎหมาย เพราะวัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส.ตามกฎหมาย สามารถทำได้เฉพาะช่วยให้เกษตรกรเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ไม่ได้มีวัตถุประสงค์พัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร โดยแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า จึงมีประเด็นว่าต้องส่งคณะกรรมกฤษฎีกาตีความเหมือนกรณีธนาคารออมสินหรือไม่ แต่มันมีความเทา ๆ ที่สามารถตีความให้เข้าข้างรัฐบาลทำได้ อย่างไรก็ตามการละเลยให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความก่อนเป็นสิ่งน่ากังวล เพราะ ธ.ก.ส.ยังติดเกณฑ์กรอบวินัยการเงินการคลัง ไม่แน่ใจรัฐบาลจะถามคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนหรือไม่ แต่ฝ่ายค้านจะช่วยกระทุ้งอีกแรงต้องดูให้ดีๆ หรือต้องแก้ไข พ.ร.บ.ธ.ก.ส.ให้เรียบร้อยก่อน ถ้ารัฐบาลจะออก พ.ร.บ.งบประมาณกลางปี 2567 เพิ่มเติม ให้มีความสบายใจ ธ.ก.ส.ไม่ต้องกังวลจะเอาเงินมาใช้ดิจิทัลวอลเล็ต แค่นี้ก็บิดมากพอแล้ว เพื่อจ่ายเฉพาะเกษตรกร 17 ล้านคน
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวถึงนโยบายกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ที่รัฐบาลออกมาล่าสุด ว่า ไม่ใช่นโยบายใหม่ ทำกันมาหลายครั้ง โดยกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ให้เดินต่อไปได้ แต่ที่แปลกรอบนี้คือ การลดค่าโอนจากเดิมที่ลดค่าโอนเฉพาะบ้านราคาไม่เกิน 3ล้านบาท ขยายเป็น 7ล้านบาท เพราะมีสต๊อกคงค้างขายไม่ออกถึง ร้อยละ 46 ชวนตั้งข้อสังเกตโครงการนี้เป็นไปเพื่ออะไร ให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้มากขึ้น หรือแค่กระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างเดียว ให้บริษัทที่อยู่ในภาคนี้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เลี่ยงไม่ได้ถูกตั้งคำถามถึงผลประโยชน์ทับซ้อนของนายกรัฐมนตรีแน่นอน เพราะค่าธรรมเนียมผ่านการโอนเป็นเงินที่ต้องส่งต่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แต่การลดค่าโอนที่ขยายฐานไปถึง 7ล้านบาทนั้น ทำให้สูญเสียเงินค่าธรรมเนียมถึง 2.3 หมื่นล้านบาท อยากให้รัฐบาลเปลี่ยนวิธีการ ทำแบบนี้เหมือนควักเงิน อปท.ไปอุดหนุนภาคอสังหาริมทรัพย์ ไม่ยุติธรรมกับ อปท.ที่อยู่ ๆ รายได้จะหายไป