จาก ‘บุ้ง’ถึง‘รัฐบาล’ วัดใจ ปฏิรูป‘ยุติธรรม-นิรโทษ’

จาก ‘บุ้ง’ถึง‘รัฐบาล’  วัดใจ ปฏิรูป‘ยุติธรรม-นิรโทษ’

อาฟเตอร์ช็อกในระยะสั้นและยาวต่อจากนี้ ถูกตั้งข้อสังเกตว่าอาจกระทบความนิยมของเศรษฐาและเพื่อไทย โดยเฉพาะจากคนรุ่นใหม่ไม่มากก็น้อย

Key Points

  • การเสียชีวิตของ บุ้ง ทะลุวัง กำลังปลุกเสียงเรียกร้องถึงการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ให้ดังขึ้นอีกครั้ง
  • การผลักดันการนิรโทษกรรม ให้กับผู้ต้องหาคดี ม.112 ก็กำลังเป็นประเด็น เมื่อก้าวไกล พยายามผลักดัน
  • จุดวัดใจจึงอยู่ที่รัฐบาล โดยเฉพาะเพื่อไทย ที่เคยประกาศนโยบายหาเสียงหลายเรื่องเอาไว้ จะบริหารจัดการปัญหาเหล่านี้อย่างไร 

การเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชน ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนให้ดีขึ้น มีมาทุกยุคสมัย

ถึง พ.ศ.นี้ ความคิดเห็นทางการเมืองของคน แตกต่าง แบ่งแยกกันชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม จนกลายเป็นการปะทะกันทางความคิดเก่าและใหม่

การเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาว ที่แม้ต้องแลกมาด้วยคดีความ ก็ดูจะไม่ได้สร้างความหวั่นไหว หลายคนถูกตั้งข้อหาที่ค่อนข้างหนัก เพราะถูกมองว่าล้ำเส้น แต่ก็ไม่ถอย

หนึ่งในนักเคลื่อนไหวที่ถูกควบคุมตัวระหว่างต่อสู้คดีทางการเมือง อย่าง เนติพร หรือ บุ้ง ทะลุวัง ที่ตัดสินใจอดอาหารและน้ำ แสดงอารยขัดขืน เรียกร้องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และต้องไม่มีใครติดคุกเพราะเห็นต่างทางการเมือง จนกระทั่งวันที่ไม่มีใครคาดคิดก็มาถึง เมื่อบุ้ง เสียชีวิตระหว่างถูกคุมขัง

ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาวงกว้างในสังคม โดยเฉพาะแนวร่วมทางการเมืองสายก้าวหน้า ที่เคยเรียกร้องให้ผู้ต้องหาคดีทางการเมืองได้รับการประกันตัวตามสิทธิขั้นพื้นฐานมาแล้ว แต่ก็ไม่เป็นผล กระทั่งเกิดเหตุการณ์สูญเสียขึ้น หลายฝ่ายต่างยิ่งช่วยกันประสานเสียงเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทางการเมืองที่เหลือ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย

ช่อ พรรณิการ์ วานิช โฆษกคณะก้าวหน้า ระบุถึงกรณีบุ้งว่า ต้องรอให้มีคนตายก่อนหรือ ถึงจะทำให้สังคมตระหนักว่าคนเห็นต่าง ไม่สมควรตาย หรือติดคุก และสิทธิการประกันตัวเป็นของทุกคน หรือแม้แต่มีคนตายแล้ว ก็จะยังไม่เข้าใจ ไม่รับรู้กันอีก? มีอีกหลายคนยังอยู่ในคุก ไม่ได้ประกัน มีอีก 3 คนที่อดอาหารประท้วงอยู่ในเรือนจำถึงจะเห็นต่างกัน แต่เราเป็นมนุษย์เหมือนกัน พึงรักษาความเป็นมนุษย์กันไว้เถอะ

รวมถึงณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำคนเสื้อแดง และอดีตผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย หนึ่งในคนที่เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความชื่นชมความคิดความอ่านทางการเมือง ยังส่งเสียงเรียกร้องว่าไม่ควรมีใครเสียชีวิตเพราะความคิดแตกต่าง ปล่อยเด็กๆ ที่เหลือออกมาเถอะ

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ระหว่างเดือนม.ค.- เม.ย.67 พบว่า มีประชาชนที่ถูกคุมขังในคดีทางการเมืองโดยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี อย่างน้อย 27 คน จากจำนวนผู้ต้องขังคดีการเมือง 43 คน โดยตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา มีการยื่นขอประกันตัวผู้ต้องขังในคดีการเมืองทั้งหมด 45 ครั้ง แบ่งเป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกับ มาตรา 112 และ มาตรา 116 รวม 36 ครั้ง คดีที่สืบเนื่องมาจากเหตุระเบิด วางเพลิง 9 ครั้ง และคดีละเมิดอำนาจศาล 1 ครั้ง ในจำนวนทั้งหมดนี้ ไม่มีศาลใดอนุญาตให้ประกันผู้ต้องขังคดีทางการเมืองแม้แต่รายเดียว

เรื่องบางเรื่องพูดไปมันขมขื่น ความเป็นมาตรฐานของระบบราชทัณฑ์ไทยมีหรือเปล่า เนติพรได้รับการดูแลเหมือนผู้ต้องขังผู้หลักผู้ใหญ่บางคนหรือไม่ ” กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุ

ขณะที่อดีตทูต รัศม์ ชาลีจันทร์ ตั้งข้อสังเกตต่อการจากไปของบุ้ง ว่า 1.การต่อสู้ถึงขั้นยอมสละชีพ โดยเฉพาะการอดอาหาร ถือเป็นความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญยิ่ง ไม่ควรด้อยค่าดูแคลน 2.มีความเข้าใจคลาดเคลื่นอยู่บ้างในเรื่องสิทธิการประกันตัว บุ้งได้ยื่นประกันตัวหลายครั้ง และเคยได้รับการประกันตัวแล้วเมื่อ ส.ค.65 หลังฝ่าฝืนอำนาจศาลจึงถูกถอนสิทธิ และถูกควบคุมตัวใหม่เมื่อต้นปี 2567 และเรื่องให้สิทธิประกันตัวเป็นเรื่องกระบวนการทางศาล รัฐบาลไม่สามารถไปก้าวก่ายได้

3.การแก้ไขปัญหานี้ไม่ใช่แค่ลำพังรัฐบาลเท่านั้น เป็นเรื่องของรัฐสภาที่จะต้องแก้ไขกฏหมายด้วย เรื่องนี้มีความอ่อนไหวต่อสังคมสูง การจะแก้ไขให้สำเร็จ ต้องได้รับความร่วมมือและยินยอมจากทุกภาคส่วนในสังคม

การสูญเสียนักเคลื่อนไหวครั้งนี้ กำลังถูกนำไปหาทางออกในสภา เมื่อ รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม จะเสนอ กมธ.พิจารณา ไม่ให้มีผู้เห็นต่างทางการเมืองต้องเสียชีวิตอีก

การนิรโทษกรรม ที่ยังไม่ชัดเจนจะรวมคดี ม.112 หรือไม่ แต่ทางก้าวไกล เสนอว่าไม่ควรตั้งต้นที่ประเภทของคดี แต่ควรพิจารณาจากแรงจูงใจทางการเมืองที่เป็นต้นเหตุสำคัญ หรือควรพิจารณาให้ครบทุกคดีไม่ตกหล่น

ฟากรัฐบาลและเพื่อไทย คงต้องรับแรงเสียดทานอีกหลายระลอก เพราะสมัยรัฐบาลก่อนตอนที่ยังเป็นฝ่ายค้าน แกนนำของพรรคต่างเรียกร้องปล่อยนักโทษการเมือง และนโยบายหาเสียงเลือกตั้งปี 2566 ประกาศปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพื่อความโปร่งใส คำนึงถึงหลักนิติธรรม สร้างกระบวนการยุติธรรมที่ซื้อไม่ได้

ถึงวันนี้นายกฯ เศรษฐา ตอบคำถามถึงเสียงเรียกร้องปล่อยตัวเยาวชนที่เหลือ แค่เพียงว่า เชื่อว่า รมว.ยุติธรรม ได้ยินแล้ว อยู่ระหว่างพิจารณา ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกคน

อาฟเตอร์ช็อกในระยะสั้นและยาวต่อจากนี้ ถูกตั้งข้อสังเกตว่าอาจกระทบความนิยมของเศรษฐาและเพื่อไทย โดยเฉพาะจากคนรุ่นใหม่ไม่มากก็น้อย