ขึง‘เศรษฐา’ รีเซ็ต‘บิ๊กดีล’ สะเทือนแผน ‘ยิ่งลักษณ์’ กลับบ้านเดือนตุลาฯ
ที่สำคัญ “บิ๊กดีล” รอบใหม่ อาจต้องมีการพูดคุยเงื่อนไขกันใหม่ กรณีการกลับไทยของน้องสาว “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ซึ่งมีโทษจำคุก 5 ปี ทำให้กำหนดเดิมที่วางเอาไว้ว่า จะกลับในช่วงเดือน ต.ค.ปีนี้ อาจต้องเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด
KEY
POINTS
- ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องสอบ "เศรษฐา" สร้างแรงสะเทือนไปยัง "ตึกไทยคู่ฟ้า-บ้านจันทร์ส่องหล้า"
- เก้าอี้นายกฯถูกฝากชะตาไว้กับเครือข่ายอนุรักษนิยม เหตุ "นายใหญ่" เดินเกมเกินธง จนพลาดท่า
- วิบากกรรมยังไม่จบ จับตา 29 พ.ค. "ทักษิณ" ต้องลุ้นคดี ม.112 อัยการจะสั่งฟ้องหรือไม่
- สะเทือนดีลกลับไทยของ "ยิ่งลักษณ์" อาจต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด
มติ “ศาลรัฐธรรมนูญ” รับคำร้องกลุ่ม 40 สว. ปมคุณสมบัติ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี กรณีแต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แม้จะไม่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่การรับคำร้องย่อมส่งแรงสะเทือนไปยัง “ตึกไทยคู่ฟ้า” และ “บ้านจันทร์ส่องหล้า”
เก้าอี้นายกรัฐมนตรีของ “เศรษฐา” อยู่ในมือของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ฝากชะตาไว้กับ “เครือข่ายอนุรักษนิยม” ซึ่งไม่สามารถกล่าวโทษใครได้ เพราะความชะล่าใจของ“นายใหญ่”เดินเกมเสี่ยงเกินธง จนพลาดท่ากระเทือนพรรค กระทบแผนตัวเอง
หากลองไล่ไทม์ไลน์ ปฏิบัติการจับ “เศรษฐา”แขวนบนเส้นด้าย ใช้ระยะเวลาเพียง 9 วัน รวดเร็วจน “ขุนพลชินวัตร” ไม่ทันตั้งตัว และไม่สามารถตั้งรับได้ทัน
เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค.2567 “กลุ่ม 40 สว.” ส่งเรื่องให้ “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธานวุฒิสภา ตรวจสอบคุณสมบัติ “เศรษฐา-พิชิต” โดยในคำร้องมุ่งเน้นปมจริยธรรม การแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เนื่องจาก “พิชิต” มีตราบาป ปมคดีถุงขนม 2 ล้านบาท
วันที่ 16 พ.ค. “ประธานวุฒิสภา” ส่งคำร้องไปยัง “ศาลรัฐธรรมนูญ” ทันที โดยก่อนหน้านี้มักจะใช้เวลาในการตรวจสอบความถูกต้องของ สว. ที่ร่วมลงชื่อในคำร้อง แต่ในกรณีดังกล่าวแม้จะมีการตรวจสอบแล้ว แต่ใช้เวลาน้อยกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา จนล่าสุดมีข้อครหาการลงชื่อของกลุ่ม 40 สว. มีเซ็นลายมือชื่อแทนกัน
วันที่ 17 พ.ค. หนังสือคำร้องจาก “ประธานวุฒิสภา” ส่งถึงสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีการรับหนังสือเอาไว้ ก่อนนัดวันประชุม
วันที่ 21 พ.ค. “พิชิต” ลาออกจากรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ภายหลังถูกแรงกดดันอย่างหนักจาก “Triple V” นายใหญ่-นายหญิงพลัดถิ่น-เบอร์หนึ่งตึกไทยคู่ฟ้า
เนื่องปมร้องกับหลักพิงความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นคนละประเด็นกัน ซึ่งตอบคำถามปมคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีสอบถามไป โดยมีความเห็นว่ากรณีได้รับโทษเกิน 10 ปีไปแล้ว สามารถดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้
ทั้งนี้เคยมี 3 กรณี ที่ถูกยื่นคำร้องเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งทางการเมือง และผู้ถูกร้องลาออกก่อนวันที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณารับคำร้อง และในที่สุดศาลได้จำหน่ายคดี กรณีนี้จึงคาดหมายว่าการลาออกของ“พิชิต”อาจมีลุ้นว่าศาลอาจจำหน่ายคดีทุกคำร้องเช่นกัน
วันที่ 23 พ.ค. ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาไม่รับคำร้องกรณี “พิชิต” แต่รับคำร้องกรณี “เศรษฐา” โดยไม่สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ เปิดโอกาสให้ส่งคำชี้แจงภายใน 15 วัน ย่อมส่งผลให้เก้าอี้นายกรัฐมนตรีของ“เศรษฐา”ไม่มั่นคงทันที
เทียบกับคดีดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปีของ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ เป็นเวลาถึง 39 วัน ระหว่างการไต่สวน ก่อนมีคำวินิจฉัยคำวินิจฉัย
ส่วนคดีของเศรษฐา ต้องรอลุ้นว่าศาลรัฐธรรมนูญจะใช้ระยะเวลาเท่าไร
อย่างไรก็ตามในวันที่ 29 พ.ค. “อัยการสูงสุด” นัดพิจารณาจะสั่งฟ้อง-ไม่ฟ้อง “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี คดีมาตรา 112 ไม่ว่าการพิจารณาของอัยการสูงสุดจะออกมาทางใด ย่อมมีนัยทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปฏิเสธไม่ได้ว่าปฏิบัติการขึง “เศรษฐา” เป็นผลมาจากการที่ “ทักษิณ” เดินเกมเร็ว-เกมแรงในหลายเรื่อง เพราะตั้งแต่ได้รับการพักโทษศูนย์รวมอำนาจทางการเมือง กลับไปอยู่ที่ “บ้านจันทร์ส่องหล้า” การเคลื่อนเกมเกินดีลที่สัญญาไว้กับ “เครือข่ายอนุรักษนิยม” ทำให้บรรดา“ตัวจริง”ไม่พอใจ
ว่ากันว่า โมเดลของ “ทักษิณ” ที่เข้าพักรักษาตัวชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจจนทำให้เกิดกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ทำให้“เครือข่ายอนุรักษนิยม” ไม่พอใจอย่างหนักเพราะเริ่มเป็นช่องทางให้“นักธุรกิจบิ๊กเนม” ที่ติดคดีฉ้อโกงใช้ข้ออ้างเดียวกัน จนทำให้เกิดปัญหา
ทว่าเครือข่ายอนุรักษนิยมยังจำเป็นต้องใช้บริการของ “ทักษิณ” เพื่อสู้กับ“พรรคก้าวไกล” เมื่อเดินเกินดีลก็ต้องเปิดเจรจาวางกรอบกันใหม่ ด้วยการจับ “เศรษฐา” ไปแขวนเป็นตัวประกัน
จากนี้ จึงต้องจับตา “บิ๊กดีล” รอบใหม่ โดยอาจจะจำกัดบทบาทของ “ทักษิณ” ไม่ให้มีอิสระจนเกินไป เพราะที่ผ่านมา “ทักษิณ”พยายามโชว์บารมี บรรดานักการเมือง กลุ่มนายทหาร พาเหรดเข้าหาจนเครือข่ายอนุรักษนิยมหวาดระแวง
กิจการเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่ทำเป็นวาระส่วนตัว อาทิ การเจรจาชนกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมา การเจรจากับ“ผู้นำประเทศเพื่อนบ้าน” เป็นต้น แม้ทั้งหมดจะอยู่ในสายตาของ “บิ๊กเนม” แต่ไม่มีใคร ไว้ใจใคร
ขณะเดียวกัน หากจะดำเนินนโยบายด้านความมั่นคงที่โยงกับเศรษฐกิจ ต้องหารือกับ"ตัวแทนอนุรักษ์” เสียก่อน และทำอย่างเปิดเผยในนามรัฐบาล โดยเฉพาะปมปัญหาชายแดนการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อน
ที่สำคัญ “บิ๊กดีล” รอบใหม่ อาจต้องมีการพูดคุยเงื่อนไขกันใหม่ กรณีการกลับไทยของน้องสาว “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ซึ่งมีโทษจำคุก 5 ปี ทำให้กำหนดเดิมที่วางเอาไว้ว่า จะกลับในช่วงเดือน ต.ค.ปีนี้ อาจต้องเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด
หลังจากนี้ จนกว่าถึงวันอ่านคำวินิจฉัยคดี “เศรษฐา” ของศาลรัฐธรรมนูญ ต้องจับตาทุกย่างก้าวของ“ทักษิณ” และ“ตัวแทนอนุรักษนิยม”ว่าจะรีเซ็ต“บิ๊กดีล”รอบใหม่หรือไม่ และด้วยเงื่อนไข ข้อแลกเปลี่ยนใดบ้าง