'กมธ.สิทธิฯ' พบพิรุธ ข้าวจำนำ10ปี จ่อขอ "รมว.พณ." เปิดโกดังสอบอีกรอบ
กมธ.สิทธิฯ สอบ จำนำข้าว10ปี พบพิรุธหลายเรื่อง จี้ “รมว.พณ.” เคลียร์ก่อนเปิดประมูลขายข้าว พร้อมทำหนังสือขอเข้าตรวจสอบสภาพ-คุณภาพในโกดังรับจำนำ
ที่รัฐสภา นายสมชาย แสวงการ สว. ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ต่อการตรวจสอบโครงการรรับจำนำข้าว กรณีที่รัฐบาลเตรียมเปิดประมูลข้าวจากโครงการรับจำนำข้าวปี 2556/2557 เมื่อวันที่ 27 พ.ค. ซึ่งได้เชิญหลายหน่วยงานเข้าให้ข้อมูล อาทิ องค์การคลังสินค้า (อคส.) กรมวิทยาศาสตร์การแพททย์ สภาองค์กรผู้บริโภค และ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี ว่า จากการรับฟังข้อมูลของหน่วยงานที่ชี้แจง พบประเด็นข้อพิรุธในหลายประเด็น คือ กรณีที่จะนำข้าวในโกดัง ที่นายภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ระบุว่านำไปประมูล คือ โกดังกิตติชัย และ บจก.พูนผลเทรดดิ้ง ได้เคลียร์ข้อกฎหมายให้ลุล่วงแล้วหรือไม่ หลังจากที่พบว่ามีคดีฟ้องร้อง เช่น โกดังกิตติชัย ที่เปิดประมูลไป 2.9 หมื่นตันและบริษัทที่ได้ประมูล คือ ส.ชัยเจริญ รับข้าวไปเพียง 439 ตัน ส่วนที่เหลือนั้นไม่รับข้าว เนื่องจากพบว่าเป็นข้าวขาว ไม่ใช่ข้าวหอมมะลิ ทำให้ซึ่งเป็นคดีอยู่ในศาลชั้นต้น
“ตอนรับจำนำระบุในบัญชีข้าวว่าจำนำเป็นข้าวหอมมะลิ แต่เมื่อขาออกพบว่าเป็นข้าวขาว ซึ่งราคาของชนิดข้าวนั้นแตกต่างกัน ซึ่งผมสงสัยว่าจะมีค่าส่วนต่างหรือไม่ ซึ่งโกดังกิตติชัยนั้นเปิดประมูลไป 3 รอบ ซึ่งแต่ละรอบนั้นมีราคาที่ต่างกัน ครั้งแรก กิโลกรัมละ 23 บาท ครั้งที่สองขายราคา กิโลกรัมละ 11 บาทให้กับบริษัทยโสธรอินเตอร์เทรดไรซ์ และครั้งที่สาม ราคากิโลกรัมละ 23 บาท” นายสมชาย กล่าว
นายสมชาย กล่าวด้วยว่าในโกดังบจก.พูนผลเทรดดิ้ง ที่พบว่า บจก.พูนผลเทรดดิ้งเป็นผู้ประมูลข้าวออกจากโกดังของตนเอง แต่พบว่าเมื่อประมูลได้แล้วกลับทิ้งข้าว ซึ่งคดีดังกล่าวอยู่ในชั้นของศาลปกครองกลาง ประเด็นของ บจก.พูนผลเทรดดิ้ง ผมมองว่ามีพิรุธ เพราะปัจจุบัน อคส. ยังต้องจ่ายค่าเช่าโกดังให้กับเจ้าของ ทั้งนี้ในการชี้แจงกมธ.ได้ขอเอกสารและรายละเอียดจาก อคส. ฐานะตัวแทนของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง พร้อมกับเตรียมทำหนังสือไปยังรมว.พาณิชย์ และปลัดกระทรวงพาณิชย์ ให้ชี้แจงในประเด็นข้อสงสัย เช่น จำนวนข้าวที่คงเหลือตามโครงการรับจำนำปี 2556/2557 ว่าคงเหลืออีกจำนวนเท่าใด และอยู่ในโกดังใดบ้าง อย่างไรก็ดี สตง. ได้ชี้แจงต่อบัญชีข้าวที่ลงนามรับรองในปี 2566 ว่าคงเหลือ 693 ล้านบาท แต่ไม่ทราบจำนวนข้าวที่ค้างทั้งหมด
“ก่อนที่ รมว.พาณิชย์ จะเปิดประมูลขายข้าวในโครงการรับจำนำ ควรเคลียร์ประเด็นข้อกฎหมายให้ชัดเจนก่อนประมูล ว่า กรณีที่ 2 โกดังนั้นมีการฟ้องร้องกันในชั้นศาลจะสามารถนำข้าวออกมาประมูลขายได้หรือไม่” นายสมชาย กล่าว
นายสมชาย กล่าวสำหรับคุณภาพของข้าวที่แม้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะตรวจและระบุว่าข้าวรับประทานได้ แต่กมธ. ขอให้กระทรวงพาณิชย์เข้าไปตรวจสอบอีกครั้ง โดยกมธ.จะทำหนังสือเพื่อขอเข้าร่วมในการตรวจสอบครั้งใหม่ด้วย เพราะกรณีที่นำข้าวให้ตรวจสอบรอบแรกนั้นไม่มีรายละเอียด อีกทังจากข้อมูลที่ได้รับหลังจากที่กระทรวงพาณิชย์พานักข่าวไปตรวจสอบ พบสภาพของกระสอบข้าวที่ไม่ตีตรา ซึ่งมีข้อสงสัยว่าได้เปลี่ยนกระสอบ หรือนำข้าวจากที่อื่นมาหรือไม่ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นใจของผู้บริโภคและการขายไปยังต่างประเทศ ที่ขณะนี้พบว่าทางทูตแอฟริกาประท้วงกรณีที่รัฐบาลไทยเตรียมส่งข้าวในโครงการรับจำนำออกขาย ดังนั้นควรสุ่มตรวจอีกครั้ง ไม่ใช่สุ่มข้าวเฉพาะกระสอบใหม่
“จากโกดังที่รมว.พาณิชย์เข้าไปตรวจสอบ พบว่ามีการจัดแสดง จัดเรียงข้าวใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ เมื่อ 6 ต.ค. 2565 มีภาพที่ยืนยันได้ว่ากองข้าวนั้นมีสภาพแตก และกองข้าวล้ม ไม่ได้จัดเรียงให้เป็นระเบียบตามที่มีภาพออกสื่อ อีกทั้ง อคส. ยังระบุว่าก่อนที่ รมว.พาณิชย์จะเข้าไปตรวจสอบ พบการว่าจ้างให้เข้าไปทำความสะอาด วงเงินรวม 1.8 แสนบาท ทั้งที่ควรเป็นความรับผิดชอบของโกดังที่ให้เช่า และจากข้อมูลที่ได้รับคือ ตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน โกดังที่รับจำนำข้าวนั้นไม่มีการปรับปรุง เมื่อมีการประมูลจะประมูลตามสภาพ” นายสมชาย กล่าว.