'สภาฯ' ถกแก้กม.ประชามติ 'ก้าวไกล' ขอวางเข็มมุ่งเพื่อวางกติกาเป็นธรรม
สภาฯ เดินหน้าถกแก้กม.ประชามติ แล้ว "พท." แจงแก้ระบบเสียงข้างมาก2ชั้น หวังดันรธน.ผ่านง่าย ด้าน "ก้าวไกล" ท้วงให้เขียนกติกาเป็นธรรม ไม่วางเป้าเพื่อให้ได้เปรียบเรื่องแก้รธน.
ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญ ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้พิจารณาร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่...) พ.ศ.... ซึ่งมีผู้เสนอสู่สภา รวม 4 ฉบับ คือ ฉบับของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ฉบับของพรรคเพื่อไทย ฉบับของพรรคก้าวไกล และฉบับของพรรคภูมิใจไทย
ทั้งนี้ก่อนการอภิปราย ผู้ที่เสนอร่างกฎหมายได้ชี้แจงต่อสภาฯ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ คือ ในการชี้แจงของฉบับของพรรคเพื่อไทย เสนอโดยนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในการแก้ไขประเด็นการออกเสียงเพื่อนำไปสู่การผ่านประชามติ จากเดิมที่ใช้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้น คือ ผู้มาใช้สิทธิต้องมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ และ เสียงเห็นชอบต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ ถือว่าเป็นประเด็นสำคัญหากเทียบกับการประชามติรัฐธรรรมนูญ 2560 พบว่ามีผู้มีสิทธิ 50 ล้านคน ออกมาใช้สิทธิ 29.7 ล้านคน เห็นชอบ 16.8 ล้านเสียง ไม่เห็นชอบ 10.5 ล้านเสียง หากมีผู้ไม่ออกมาใช้สิทธิ 4 ล้านคน รัฐธรรมนูญ 2560 จะไม่ผ่าน ทั้งนี้การออกเสียงประชามติมีเหตุผลความจำเป็นต้องการสอบถามความเห็นประชาชน ดังนั้นเรื่องนี้อาจเป็นปัญหา โดยเฉพาะประชามติแก้ไขเพิ่มเติมหรือจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนั้นควรแก้ไขเพื่อให้ปฏิบัติได้ ไม่ใช่ใช้เสียงมากเกินไป
ขณะที่ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า การแก้ไขพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ตนมองว่าไม่ควรออกแบบให้โดยยึดติดเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหลักเท่านั้น เพราะ พ.ร.บ.ประชามติไม่ใช่ทุกอย่างที่ส่งผลต่อกระบวนการทำรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีตัวแปรซึ่งกำหนด ว่า จะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้เร็ว หรือมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เป็นประเด็นที่อยู่นอกเหนือกฎหมายประชามติ อย่างไรก็ดีตนเห็นต่างเรื่องจำนวนครั้งของการทำประชามติ และควรมีสภาร่างรัฐธรรมนูญท่ีมาจากการเลือกตั้ง 100% ของประชาชน ทั้งนี้ ครม. ยังไม่รับหลักการดังกล่าว
“ครม. ไม่เดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ จนกว่ามีพ.ร.บ.ประชามติฉบับใหม่ ทั้งที่โฆษกรัฐบาลกำหนดว่าจะทำประชามติคงรั้แรกในระหว่างวันที่ 21 ก.ค.- 21 ส.ค. นั้นไม่เป็นความจริง ทั้งนี้ผมไม่ได้รับคำยืนยันด้วยว่าหาก ครม.ต้องแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติก่อนจัดทำประชามติครั้งแรก ทำไมต้องรอจนถึงวันนี้ ทั้งนี้ร่างของพรรคเพื่อไทย และร่างของพรรคก้าวไกลเสนอสู่สภา ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.67” นายพริษฐ์ กล่าว
นายพริษฐ์ กล่าวว่าเมื่อทุกพรรค และรัฐสภามีธงชัดเจนอยากเห็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากออกแบบกฎหมายประชามติโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อผลลัพธ์ของประชามติเกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญญใหม่ จะถูกตั้งคำถามว่าต้องการแก้กติกาเพื่อให้ฝ่ายที่สนับสนุนได้เปรียบใช่หรือไม่ อย่างไรก็ดีตนขอเรียกร้องให้สส.คำนึงถึงเป้าหมายของการออกแบบกติกาประชามติเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เหมาะสม ประสิทธิภาพ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนไม่ว่าประชามติเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญหรือเราสนับสนุนฝ่ายที่เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับประเทศที่ถูกถามในเรื่องการทำประชามติ.