ศึกรอบด้าน กองทัพ ‘สีส้ม’ ฝ่าด่านหิน สนามรบท้องถิ่น
ดังนั้นหาก “ก้าวไกล” หวังผลได้รับชัยชนะท้องถิ่น ต้องสลัดภาพลักษณ์พรรคแก้ ม.112 เพื่อมิให้ซ้ำรอยความพ่ายแพ้แบบ “คณะก้าวหน้า” บันไดขั้นแรกจึงต้องรอดพ้นบ่วง“ศาลรัฐธรรมนูญ”ให้ได้เสียก่อน
KEY
POINTS
- สแกนขุมกำลังผู้สมัครนายก อบจ.สีส้ม ชิงชัยสู้ “บ้านใหญ่” ในการเลือกตั้ง อบจ.ปี 2568
- หลังตัดสินใจไม่ส่งผู้สมัครชิง 7 นายก อบจ.ที่ใช้แทคติกชิงลาออกไปแล้ว เนื่องจากคนยังไม่พร้อม
- โจทย์หินต้องพ้นบ่วงคดียุบพรรค สลัดภาพพรรคแก้ ม.112 ให้ได้ ถ้าไม่ต้องการพ่ายแพ้แบบ “คณะก้าวหน้า”
- เปิดตัวทางการไปแล้ว 4 จังหวัด มีหลายแห่งอยู่ระหว่างสรรหา ดีลลับ “บ้านใหญ่” บางจังหวัดส่อล่ม
จบศึกเลือกผู้แทนสภาฯสูงลงไป พร้อมกับความชอกช้ำของ “แฟนคลับสีส้ม” เพราะมี สว.สายนี้ เข้าไปประจำการได้ราว 20 คน ไม่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้คือเข้าไปราว 1 ใน 3 หรือ 67 คน ทั้งที่ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า “ศาสดาสีส้ม” จับมือภาคประชาชนอย่าง “ไอลอว์” เดินหน้าแคมเปญ “เสียงอิสระ” ชวนคนเข้าไปโหวตเลือก สว.ประชาชน แล้วก็ตาม
แน่นอนว่า แรงต่อรองทางการเมือง การผลักดันแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และคัดสรรบุคคลเข้าไปนั่งในองค์กรอิสระ เพื่อหวังรื้อโครงสร้างให้ประชาชนจับต้องได้ กลายเป็นแค่ “ฝันกลางวัน” ต่อไป
แต่ ณ เวลานี้ความเสียใจจำเป็นต้องถูกพับเก็บไว้ชั่วคราว เนื่องจากมี 2 ประเด็นหลักที่ “ก้าวไกล” ต้องประเมิน 2 ฉากทัศน์เพื่อเดินหน้าต่อ นั่นคือ
ฉากทัศน์แรก การต่อสู้คดียุบพรรคก้าวไกล จากกรณีถูกกล่าวหาว่าล้มล้างและปฏิปักษ์การปกครอง จากการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่อยู่ในมือศาลรัฐธรรมนูญ
โดยศาลนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 9 ก.ค. และนัดพิจารณาคดีต่อในวันที่ 17 ก.ค. หลังจากให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งข้อมูลด้านกฎหมายในการเอาผิด “ก้าวไกล” และสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ส่งข้อมูลด้านกฎหมายเรื่องอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญว่า มีอำนาจวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลหรือไม่
ฉากทัศน์ต่อมา คือการส่งบุคคลเพื่อชิงชัยนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) ทั่วประเทศ
เบื้องต้น “ชัยธวัช ตุลาธน” หัวหน้าพรรคนำทีมเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร “นายก อบจ.สีส้ม” ไปแล้วจำนวนหนึ่ง แต่มาเจอ “ตอ” เมื่อ “บ้านใหญ่” หลายจังหวัดรวมหัวกันใช้แท็กติก “ชิงลาออก” จากเก้าอี้ ส่งผลให้มีการเลือกตั้งนายก อบจ.ไปหลายจังหวัดในช่วงที่ผ่านมา
ทั้ง อบจ.อ่างทอง อบจ.นครสวรรค์ อบจ.ปทุมธานี ที่ผ่านพ้นการเลือกตั้งไปแล้ว และผู้ได้รับชัยชนะ คือตัวแทนจาก “บ้านใหญ่” ที่มีพรรคการเมืองใหญ่หนุนหลัง
ส่วนในเดือน ส.ค.จะมีการเลือกตั้งนายก อบจ.อีก 4 แห่ง ในวันที่ 4 ส.ค. เลือกตั้งนายก อบจ.ชัยนาท พะเยา และพระนครศรีอยุธยา ส่วนวันที่ 11 ส.ค. มีการเลือกตั้งนายก อบจ.ชัยภูมิ
โดยในการเลือกตั้ง 7 นายก อบจ.ข้างต้น “พรรคก้าวไกล” มิได้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่อย่างใด
ประเด็นสำคัญคือ“บ้านใหญ่”รับรู้คะแนนเสียงของตัวเองมาโดยตลอดว่า ขณะนี้ค่อนข้างสูสีกับ“ค่ายสีส้ม” ทำให้ต้องอาศัยจังหวะชิงลาออก เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการเมืองให้กลุ่มตัวเอง ในช่วงที่“ก้าวไกล”กำลังตั้งไข่ในการเลือกตั้งนายก อบจ.และหลายจังหวัดยังสรรหาบุคคลไม่แล้วเสร็จ
“ก้าวไกล” ก็รับรู้ถึงแท็กติกดังกล่าวของ “บ้านใหญ่” เป็นอย่างดี จึงตัดสินใจไม่ส่งคนชิงเก้าอี้นายก อบจ.ทั้ง 7 แห่ง
มีแค่พื้นที่ อบจ.ปทุมธานี ที่ตอนแรก “ลังเล” แต่สุดท้ายตัดสินใจไม่ส่งคน และไม่สนับสนุนใครทั้งสิ้น ทั้งที่ สส.ในพื้นที่หลายคนออกตัวหนุนหลัง ร.ต.อ.ตรีลุพธ์ ธูปกระจ่าง นายกเทศมนตรีเมืองรังสิต “ลูกชายบิ๊กแจ๊ส” พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อดีตนายก อบจ.ปทุมธานี
เมื่อเรื่องนี้สร้างความขัดแย้งขึ้นระหว่าง สส.ภายใน จน “เดอะ ต๋อม” ตัดสินใจไม่ส่งใครลง แต่คนในพื้นที่รับรู้กันอยู่ว่ามี สส.สีส้ม ในพื้นที่ยังหนุนหลัง “กลุ่มบิ๊กแจ๊ส” อยู่ เนื่องจากมีสายสัมพันธ์อันดีในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 ที่ผ่านมา
ปัจจุบัน “ค่ายสีส้ม” เปิดตัวว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.ไปแค่ไม่กี่จังหวัด เช่น ภูเก็ต อุดรธานี เชียงใหม่ และตราด
โดย จ.เชียงใหม่ เปิดตัว “พันธุ์อาจ ชัยรัตน์” อดีตผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และกรรมาธิการวิสามัญพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือตอนล่าง 1 และเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ ทั้งที่ตอนแรก ว่ากันว่าจะส่ง “กุ้ง” ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ “บ้านใหญ่เชียงใหม่” ที่ลาออกค่ายสีแดง มาสมัครพรรคก้าวไกล
ทว่า ตอน “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ มาเยี่ยมบ้านเกิด ปรากฏภาพคนตระกูล “บูรณุปกรณ์” ไปต้อนรับ ทำให้ “แกนนำสีส้ม” เกิดความไม่ไว้วางใจ “บ้านใหญ่เชียงใหม่” จนตัดสินใจส่งคนอื่นลงแทน
ส่วนภาคอีสาน เปิดตัวคนชิงดำ “เมืองหลวงคนเสื้อแดง” ได้แก่ “คณิศร ขุริงรัง” ประธานสภาทนายความจังหวัดอุดรธานี และอดีตรองนายก อบจ.อุดรธานี ซึ่งเป็นคนละสายกันกับ” วิเชียร ขาวขำ” นายก อบจ.คนปัจจุบัน เป็นต้น
จ.ภูเก็ต เปิดตัว “นพ.เลอศักดิ์ ลีนะนิธิกุล” รอง ผอ.กลุ่มภารกิจด้านบริการทุติยภูมิและตติยภูมิ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต
ส่วน จ.ลำพูน เปิดตัว “วีระเดช ภู่พิสิฐ” หัวหน้าสำนักงานพรรคก้าวไกลลำพูน จ.ตราด เปิดตัว “ชลธี นุ่มหนู” นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก อดีต ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรี ซึ่งเป็นสายตรง “เสี่ยโอ๋” ศักดินัย นุ่มหนู นักธุรกิจแป้งขนมจีน สส.ตราด 2 สมัย
ส่วนที่ จ.นครราชสีมา ตอนแรกมีกระแสข่าวว่า “ตระกูลรัตนเศรษฐ” จะถอดเสื้อ “บ้านป่าฯ” มาสังกัด “ค่ายสีส้ม” โดยจะส่ง “ลูกชาย” ชิงเก้าอี้ นายก อบจ.โคราช อย่างไรก็ดี มีอีกกระแสว่า สส.ในพื้นที่หนุน “มารุต ชุ่มขุนทด” นักธุรกิจแบรนด์กาแฟท้องถิ่นชื่อดัง “คลาสคาเฟ่” ชิงเก้าอี้ตัวนี้ แต่เบื้องต้น “ก้าวไกล” ยังมิได้เคาะตัวผู้สมัคร
ด้วยภาพลักษณ์ของ“ก้าวไกล”ที่มียี่ห้อ“แก้ ม.112”ติดตัวอยู่ ทำให้การสรรหาบุคคลระดับ“บิ๊กเนม”มาชิงดำนายก อบจ.เป็นไปค่อนข้างลำบาก แม้ว่าก่อนหน้านี้จะพยายามต่อสาย ดีลกับ“สายตรงบ้านใหญ่”มาลงสมัครรับเลือกตั้งก็ตาม แต่ในเมื่อยังไม่สามารถสลัดภาพลักษณ์“ม.112”ออกได้“บ้านใหญ่” จึงเกิดอาการลังเล และตัดสินใจร่วมมือกับ“นักเลือกตั้ง”ค่ายใหญ่ส่งคนลงสมัครเช่นเดิม
นอกจากนี้“ก้าวไกล” ยังมิได้ “ไว้วางใจ” กลุ่มบ้านใหญ่มากนัก หากเทียบกับ “พรรคการเมือง” อื่น ๆ ที่แทบจะกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันกับ “กลุ่มบ้านใหญ่” เพราะมี “วิถีทางการเมือง” แบบเดียวกัน
โดยแผนส่งคนชิงนายก อบจ.ทั่วประเทศ “ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า พรรคเตรียมแผนต่อการเลือกนายก อบจ.ในปี 2568 โดยจะส่งผู้สมัครนายก อบจ.ในจังหวัดที่เราพร้อม ส่งแบบมียุทธศาสตร์ และพรรคจะไม่ส่งแบบดาวกระจาย
“เราไม่นำแท็กติกที่ นายก อบจ.แต่ละแห่ง ใช้วิธีลาออกล่วงหน้ามาเปลี่ยนแปลงการทำงาน ทั้งนี้การส่งผู้สมัคร จะไม่ใช้แค่ว่าอยากจะส่งก็ส่ง หรือคิดว่าพรรคมีกระแส เพราะคิดว่าไม่ควรดูถูกประชาชน” ปกรณ์วุฒิ กล่าว
ดังนั้นในการเลือกนายก อบจ. 7 แห่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว 3 แห่งและในเดือน ส.ค.จะมีเลือกตั้งอีก 4 แห่ง จะไม่มีคนของ “ก้าวไกล” เข้าไปนั่งนายก อบจ.อย่างแน่นอน
ส่วนในพื้นที่อื่นๆ คงต้องรอการเคาะตัวว่าที่ผู้สมัครให้เสร็จสิ้นเสียก่อน แน่นอนว่า“บ้านใหญ่”ในอีกหลายจังหวัดซึ่งมี “บิ๊กการเมือง”หนุนหลัง ย่อมไม่ยอมให้“ค่ายสีส้ม”เจาะได้ และเริ่มเดินเกมแย่งชิงฐานเสียงตาม “วิถีทาง”ของตัวเองเรียบร้อยแล้ว
ดังนั้นหาก “ก้าวไกล” หวังผลได้รับชัยชนะท้องถิ่น ต้องสลัดภาพลักษณ์พรรคแก้ ม.112 เพื่อมิให้ซ้ำรอยความพ่ายแพ้แบบ “คณะก้าวหน้า”
บันไดขั้นแรกจึงต้องรอดพ้นบ่วง“ศาลรัฐธรรมนูญ”ให้ได้เสียก่อน ซึ่งเป็น“โจทย์หิน”ที่แกนนำสีส้มต้องแก้ให้ได้ในช่วงเวลานี้